ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2561 : คนอยู่กับป่าตามแนวพระราชดำริ”
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2561 : คนอยู่กับป่าตามแนวพระราชดำริ” โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมพิธี ณ บริเวณอ่องแล่ง บ้านห้วยปลาหลด ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
งาน “เทิด ด้วย ทำ” นี้ จัดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายเยาวชน และประชาชน ให้เรียนรู้จากตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนำไปร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น จิตอาสา เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง การดำเนินงาน “เทิด ด้วย ทำ” เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนการดำเนินงานด้านเข้าใจ ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันฟื้นฟู พัฒนา บริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้
ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นชุมชนของชาวมูเซอดำ หรือลาหู่ แต่เดิม ดำรงชีวิตด้วยการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่นขายเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ชุมชนแห่งนี้ และมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนมีรายได้จากการปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่ฝิ่น จึงได้พระราชทานกาแฟสายพันธุ์อาราบีก้าและพระราชทานแนวพระราชดำริการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งการดูแลรักษาป่า
ในปี พ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเขตอุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ (ปัจจุบันคืออุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช) ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อคุ้มครองและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้ที่ดินทำกินของชาวบ้านทับที่ดินอุทยานฯ และป่าไม้ ชาวบ้านต้องการที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ต่อไป จึงช่วยกันปลูกป่าทดแทนป่าที่เสียไป และช่วยกันดูแลรักษาป่าที่มีอยู่ โดยแบ่งความรับผิดชอบป่าในแต่ละพื้นที่ให้แต่ละครัวเรือนอย่างชัดเจน รวมทั้งได้ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ทำแนวกันไฟป่า และปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่าและพื้นดิน
ปี พ.ศ. 2551 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้คัดเลือกให้ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด เป็นหนึ่งในชุมชนแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และต่อมาในปี พ.ศ. 2557 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประกาศให้ชุมชนบ้านห้วยปลาหลดเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ” งาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2561 : คนอยู่กับป่าตามแนวพระราชดำริ” ประกอบก้วยกิจกรรมจิตอาสาในการสร้างฝาย ปรับปรุงฝายเดิม และทำสะพานเชื่อมทางเดินเพื่อข้ามฝาย การนำกลุ่มเอกชนและภาครัฐร่วมศึกษาดูงาน และการเปิดตลาดเพิ่มอีก 1 แห่งที่บริเวณอ่องแล่ง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมผลิตผลของชุมชน
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายสนับสนุน ดำเนินงานสืบสานพระราชปณิธานและแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนและประชาชนเกิดความรัก ความหวงแหน จะได้ช่วยกันดูแลรักษา โดยให้ผู้สนใจได้เรียนรู้เรื่องการดูแลรักษา และการแก้ไขปัญหาจากพื้นที่จริง ก่อนนำไปพัฒนาในพื้นที่ของตน ชุมชนของของตนให้ประสบผลสำเร็จ จากนั้น เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ โดยถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และความสำเร็จของชุมชนต่างๆ ขยายผลออกสู่สาธารณะ เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่เราคนไทยจะได้ร่วมกันลงมือทำตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ประเทศชาติมีความอุดมสมบูรณ์ยั่งยืนสืบไป