ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธานในพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านป่าภูถ้ำ ภูกระแต ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น”
วันที่ 21 ธันวาคม 2560 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านป่าภูถ้ำ ภูกระแต ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น” มีคณะผู้บริหารข้าราชการ และประชาชน มาร่วมงานจำนวนมาก
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านป่าภูถ้ำ ภูกระแต เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การดูแลรักษาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนเอง พร้อมกับพัฒนาศักยภาพคนในชุมชนและเครือข่ายให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าภูถ้ำ ภูกระแต รวม 2,800 ไร่ และขุดคลองที่ลอนคลื่นต่ำหรือลำห้วยที่มีอยู่เดิม น้ำจึงไหลไปรวมที่ต่ำเนื่องจากพื้นที่มีลักษณะสูงต่ำเป็นลอนคลื่นการนำน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูงเพื่อนำมาใช้จึงมีต้นทุนสูง ในปี พ.ศ.2553 ชุมชนได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. จึงได้นำเทคโนโลยีและสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ โดยเริ่มสำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำ ทางน้ำธรรมชาติ และความต้องการใช้น้ำ ทำให้ทราบค่าระดับความสูงต่ำ นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สูงลอนคลื่น สามารถบริหารจัดการน้ำจากที่สูงลงต่ำ ด้วยการขุดคลองดักน้ำหลาก คลองฟ้าประทานชลเชื่อมคลองซอย และสระแก้มลิง เพื่อกักเก็บและสำรองน้ำ รวมทั้งกระจายน้ำ และบริหารเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายน้ำทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความมั่นคงน้ำอุปโภคและการเกษตรทั้งตำบลแวงน้อย และขยายผลสู่การบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำชี 60 ชุมชน ใน 9 จังหวัด นอกจากนี้ ชุมชนยังปรับวิถีการเกษตรจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยได้รับความรู้จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริที่ชุมชนอื่นสามารถมาศึกษาเรียนรู้ จึงได้รับเลือกให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 16 ให้ผู้ที่สนใจ ได้มาเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป