นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธานในพิธีเปิด“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านหนองตาจอน ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี”

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2561 นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิด“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านหนองตาจอน ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี” โดยมีนายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีให้การต้อนรับ มีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ร่วมงานจำนวนมาก เดิมชุมชนบ้านหนองตาจอนเคยประสบปัญหาความแห้งแล้งมายาวนานกว่า 29 ปี (นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2532) เนื่องจาก ป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมจากการถูกบุกรุก ทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง ลำคลองสาธารณะมีสภาพตื้นเขินและขาดการเชื่อมต่อ ทำให้ไม่สามารถระบายและกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ ประกอบกับการขยายตัวของครัวเรือนในชุมชนที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ในปี พ.ศ. 2545-2548 เกิดวิกฤตน้ำแล้ง – น้ำหลากในพื้นที่ ส่งผลความเสียหายให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก ชุมชนจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอรับแนวทางในการแก้ไขปัญหา ต่อมา ในปี พ.ศ. 2550 ชุมชน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุยเดช พระราชทาน “แนวทางแก้ปัญหาเรื่องน้ำจากภายในชุมชนเองเป็นหลัก” โดยมีพระราชดำริให้ขุดลอกลำห้วยคต ระยะทางรวม 8.5 กิโลเมตรและสร้างฝายกักเก็บน้ำ ตามลำดับความชัน รวม 13 ฝ่าย ดำเนินการภายใต้โครงการก่อสร้างฝ่ายทำน้ำบ้านห้วยคตและฝายทดน้ำบ้านหนองตาจอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้สมดุลกับการเพาะปลูก และสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ชุมชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาบริหารจัดการน้ำชุมชน ร่วมกันอนุรักษ์ป่าและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้จัดทำแผนที่ ผังน้ำ วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำเกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนนอกเขตชลประทานอย่างเป็นระบบ


มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าไปให้ความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำ โดยน้อมนำหลักการทรงงาน ควบคู่กับวิถีการใช้ชีวิตของชุมชุม โดยร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลำห้วย สร้างระบบฝายขั้นบันได กักเก็บ กระจายน้ำ และฝายวางระดับ แบ่งน้ำหลาก ปันน้ำเกินฝายดักตะกอน ฝายชะลอความชุ่มชื้น ระบบส่งน้ำ ระบบเชื่อมน้ำ การสำรองเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ก่อให้เกิดความมั่นคงน้ำใน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองตาจอน หมู่ที่ 10 และบ้านเนิน หมู่ที่ 16 มั่นคงทางอาหาร ดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปรับเปลี่ยนแนวคิดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรตามแนวทฤษฏีใหม่ เพิ่มความหลากหลายด้านอาหาร ปัจจุบันเกษตรกร 315 ครัวเรือน มีรายได้ครัวเรือนรวม 64.26 ล้านบาทต่อปี มั่นคงทางเศรษฐกิจ เกิดกลุ่มออมทรัพย์ ที่มีเงินทุนรวมทั้งกลุ่ม 2.5 ล้านบาท ทำให้ชุมชนอยู่ดีมีสุข ชีวิตพอเพียง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสนก. นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เครื่องระบุพิกัด (GPS) ผนวกกับภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่นจัดทำแผนที่ด้วยชุมชนเอง ใช้การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ บ้านหนองตาจอนถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จให้ชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ จึงตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” แห่งที่ 17 ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป

คะแนนเต็ม 0 / 5. จำนวนผู้โหวต : 0

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้