พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม พบปะเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จของการน้อมนำศาสตร์พระราชา มาใช้แก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม พบปะเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จของการน้อมนำศาสตร์พระราชา มาใช้แก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนที่ดินพระราชทาน บ้านศาลาดิน หมู่ที่ 3 ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พร้อมรับฟังการดำเนินงานของชุมชนที่รวมกลุ่มกันจัดการแก้ไขปัญหา น้อมนำศาสตร์พระราชามาพัฒนาจนเกิดความยั่งยืน หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปชมตลาดน้ำบ้านศาลาดิน ตัวอย่างการจัดการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตรที่เชื่อมโยงตลาดประชารัฐ

นายวันชัย สวัสดิ์แดง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรบ้านศาลาดิน เล่าว่า แต่เดิม ชุมชนบ้านศาลาดินไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ในปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ จำนวน 1,009 ไร่ ให้แก่เกษตรกรบ้านศาลาดินใช้เป็นพื้นที่ทำกิน ครอบครัวละ 20 ไร่ เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทย ในอดีตชาวบ้านศาลาดินปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว และต้องประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย และน้ำกร่อย ซึ่งเกิดจากชาวบ้านขาดความใส่ใจดูแลแหล่งน้ำ ทิ้งเศษอาหารและขยะลงคลอง จนคลองซอยอุดตัน และยังมีผักตบชวาขึ้นเต็มลำคลอง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ เมื่อมีถนนตัดผ่านชุมชน ชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้ถนนสัญจรแทนคลอง ความสำคัญของคลองจึงยิ่งลดลง ขาดการดูแลรักษา จนคลองเสื่อมโทรม ในปี พ.ศ. 2540 องค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์และชาวบ้าน ได้ร่วมกันเก็บผักตบชวาในลำคลองและทำความสะอาดคลองหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากผักตบชวาเติบโตได้รวดเร็ว ประกอบกับชาวบ้านขาดความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และขาดผู้นำที่จะแก้ไขปัญหาหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในปี พ.ศ.2554 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้าน ถ่ายทอดความรู้ให้ พร้อมทั้งนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องการพึ่งพาตนเอง สร้างความเป็นเจ้าของในการจัดการแหล่งน้ำในท้องถิ่น รวมทั้งใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาวางแผนและพัฒนาการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมีกองทัพบกเข้ามาช่วยดำเนินงานร่วมกับท้องถิ่น ขุดลอกคลอง ขุดคลอง และวางท่อลอดถนนเพื่อให้คลองเชื่อมต่อกัน ช่วยให้การระบายน้ำดีขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้ และชุมชนยังร่วมกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร เกิดความร่วมมือร่วมใจระหว่างเกษตรกรในการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง

เกษตรกรบ้านศาลาดินยังได้น้อมนำแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่มาใช้ทำการเกษตรผสมผสาน บนที่ดินที่ได้รับพระราชทาน มีผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ แปลงนาบัวของลุงแจ่ม สวัสดิ์โต พื้นที่ 20 ไร่ สามารถสร้างรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี โดยมีรายได้จากการตัดดอกบัวขายทุกวัน เฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 บาท และยังมีรายได้จากปลาที่เลี้ยงในแปลงบัว ปีละไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท รอบๆแปลงบัวยังปลูกพืชล้มลุก พืชผักสวนครัว เช่น ตะไคร้ กะเพรา โหระพา เตยหอม นำไปขายเป็นรายได้รายวันอีกไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท นอกจากนี้ ชุมชนยังนำผักตบชวามาเพิ่มมูลค่า โดยนำมาเป็นส่วนผสมทำเป็นดินพร้อมปลูก ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยลดปัญหาผักตบชวาในลำคลองและลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดผักตบชวา แต่ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ผักตบชวาที่แต่เดิมเป็นแค่ขยะ กลับสร้างรายได้ จนเกิดเป็นกองทุนรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนผลสำเร็จจากการบริหารจัดการน้ำของชุมชนบ้านศาลาดิน ทำให้สภาพคลองดีขึ้น ปริมาณสัตว์น้ำในคลองก็เพิ่มขึ้น ชาวบ้านเริ่มใช้คลองเป็นเส้นทางสัญจรอีกครั้ง เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงเกษตร จนปัจจุบันได้ขยายผลต่อยอดไปสู่การเปิดตลาดน้ำบริการนักท่องเที่ยว เป็นการพัฒนาชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้าเกษตร ทำให้เกิดการกระจายรายได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น มีรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

คะแนนเต็ม 0 / 5. จำนวนผู้โหวต : 0

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้