พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านโนนแต้ ต.หนองขาม อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ
, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านโนนแต้ ตำบลหนองขาม อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ” โดยมี นายประทีป ศิลปะเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิพร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านโนนแต้ ตำบลหนองขาม อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดย มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้ามาถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำ ตาม “กรอบคิด” เรื่องการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า รู้จักตนเองและพัฒนาในสิ่งที่มีตามภูมิสังคม มองใหญ่ ทำเล็ก เกิดการเรียนรู้สู่การแก้ไขปัญหา ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงในวิถีพอเพียง และ “กรอบงาน” ที่เกิดจากการร่วมกันสำรวจและเก็บข้อมูล โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ควบคู่กับการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) และค่าระดับมาปรับใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างน้ำ แผนผังน้ำ ทิศทางน้ำ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำเข้ากับแก้มลิงอย่างเป็นระบบ บรรเทาความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ก่อให้เกิดความมั่นคงอาหาร มั่นคงน้ำ บนวิถีพอเพียง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

นับได้ว่าชุมชนโนนแต้เป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 23 และเป็นต้นแบบให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป

คะแนนเต็ม 2 / 5. จำนวนผู้โหวต : 2

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้