พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชมทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยมี นายปรีชา ชนะกิจกำจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนด้วยฝายกักเก็บน้ำ สำรองน้ำด้วยสระแก้มลิง ปรับรูปที่ดินมาทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เกิดเครือข่ายบริหารจัดการน้ำครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตาม “กรอบคิด” เรื่องการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า รู้จักตนเอง ปรับตัวตามการเปลี่ยนให้เหมาะสมกับภูมิสังคมในวิถีพอเพียง และ “กรอบงาน” ที่เกิดจากการร่วมกันสำรวจและเก็บข้อมูล โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ควบคู่กับการเรียนรู้ใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) และค่าระดับมาปรับใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างน้ำ แผนผังน้ำ ทิศทางน้ำ เพื่อเชื่อมโยงระบบกักเก็บน้ำเข้ากับสระแก้มลิง สระประจำไร่นา และถังสำรองน้ำอย่างเป็นระบบ บรรเทาความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ก่อให้เกิดความมั่นคงอาหาร มั่นคงน้ำ บนวิถีพอเพียง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

นับได้ว่าชุมชนทุ่งสงเป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการเรียนรู้ สู่การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 24 และเป็นต้นแบบให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป

คะแนนเต็ม 3 / 5. จำนวนผู้โหวต : 1

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้