พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านดงผาปูน และชุมชนบ้านร้องแง จ.น่าน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ
ชุมชนบ้านดงผาปูน และชุมชนบ้านร้องแง จังหวัดน่าน” โดยมีนายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำ โดยน้อมนำหลักการทรงงาน ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ควบคู่กับวิถีการใช้ชีวิตของชุมชน เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในการหาทางออกของปัญหาน้ำในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง โดยมีสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาถ่ายทอดเพื่อให้บริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเรียนรู้จากการทำงาน การสำรวจพื้นที่ควบคู่กับการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) และจัดทำข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการบริหารจัดการทรัพยากร ร่วมกันดูแลรักษาและบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับภูมิสังคม ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้จากพื้นที่จริง และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม
มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้คัดเลือกชุมชนที่ได้ดำเนินงานบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีตัวอย่างความสำเร็จ พร้อมเป็นต้นแบบถ่ายทอดให้แก่ชุมชนอื่นๆ ได้ไปขยายผล เปิดเป็น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่ใช้พื้นที่ดำเนินงานจริงของชุมชนมาถ่ายทอดขยายผล
ในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้คัดเลือกชุมชนจังหวัดน่าน 2 แห่ง เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่ ชุมชนบ้านดงผาปูน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ และชุมชนบ้านร้องแง ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน
ชุมชนดงผาปูน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เป็นต้นแบบฟื้นฟูเขาหัวโล้น “ฟื้นน้ำ ฟื้นป่า ฟื้นชีวิต”
ชุมชนบ้านดงผาปูน มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขา และป่าต้นน้ำ เดิมประสบปัญหาน้ำหลาก และดินโคลนถล่ม ชุมชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของน้ำและป่าในพื้นที่ ทำให้ชุมชนได้ดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น แบ่งการใช้ประโยชน์ของป่า มีกฎกติกาในการดูแลรักษาป่าร่วมกัน หลังจากที่ป่ากลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง ส่งผลให้ลำห้วยที่เคยแห้งเหือดกลับมีน้ำไหลตลอดปี ระบบนิเวศของป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ รวมทั้ง ชุมชนได้เป็นต้นแบบของการฟื้นฟูเขาหัวโล้น ที่เปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยว ทำไร่เลื่อนลอย มาปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และทำวนเกษตร เกิดความมั่นคงน้ำ มั่นคงอาหาร มั่นคงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ มีผลผลิตจากป่าเป็นอาชีพและรายได้ จนเป็นตัวอย่างความสำเร็จและขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียง “ฟื้นน้ำ ฟื้นป่า ฟื้นชีวิต”
ชุมชนบ้านร้องแง บริหารจัดการน้ำตาม “กฎมังรายศาสตร์” ในพื้นที่ราบเชิงเขา อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ชุมชนบ้านร้องแง เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ประสบปัญหาน้ำหลาก และน้ำแล้ง สามารถทำนาเฉพาะในฤดูฝน และมักเกิดปัญหาน้ำหลากท่วม แต่ในฤดูแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอ ชุมชนจึงร่วมกันสร้างฝายกักเก็บน้ำในลำห้วยสำคัญ และดาดลำเหมือง เพิ่มความแข็งแรงเวลาน้ำหลาก รวมทั้ง ชุมชนยังคงรักษารูปแบบการบริหารจัดการน้ำตาม “กฎมังรายศาสตร์” ที่เป็นกฎที่บัญญัติขึ้นโดย พญามังราย ซึ่งชุมชนได้ดำเนินการบริหารน้ำและกระจายน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมมานับตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้าน จวบจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ ชุมชนได้ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiWater เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับพายุ/ฝน และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้ง ได้แจ้งให้เครือข่ายชุมชนอื่นที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง จังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดเชียงราย ได้ทราบข้อมูลและเฝ้าระวังได้ก่อนเหตุการณ์ เมื่อชุมชน มีความมั่นคงน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำทำเกษตรแล้ว ชุมชนได้มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจผ้าทอ กลุ่มผ้าทอไทลื้อลายโบราณบ้านร้องแง กองทุนเงินล้าน และกลุ่มเงินออมขึ้นมา ทำให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนอยู่ดี มีสุข
สำหรับ “ชุมชนบ้านดงผาปูน และชุมชนบ้านร้องแง” นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ที่ชุมชนอื่นสามารถศึกษาเรียนรู้ จากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 27 และ ลำดับที่ 28 ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป