มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงาน “เทิด ด้วย ทำ สัญจร ภาคกลาง” โดยมีเยาวชนจากโรงเรียน 11 แห่ง ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ
วันนี้ (16 สิงหาคม 2561) มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงาน “เทิด ด้วย ทำ สัญจร ภาคกลาง” โดยมีเยาวชนจากโรงเรียน 11 แห่ง ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ 60 ชุมชนแกนนำ เยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชน ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองฯ จังหวัดปราจีนบุรี ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่น้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ร่วมกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาการจัดการน้ำชุมชนและแก้ไขปัญหาแหล่งกักเก็บและสำรองน้ำในพื้นที่ ด้วยสระน้ำประจำไร่นา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เขื่อนใต้ดิน” ทำให้มีน้ำใช้ในยามฝนทิ้งช่วง สามารถบริหารจัดการปิดเปิดประตูน้ำและเชื่อมต่อคลอง เพื่อกระจายน้ำให้เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ 25,000 ไร่ ช่วยลดภาวะเสี่ยงจากภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำหลาก มีการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เกิดความมั่นคงทางอาหาร โดยจุดศึกษาดูงานในพื้นที่ทั้ง 3 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 สระเก็บน้ำเขาชีปิด ชุมชนได้ร่วมกันฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำเขาชีปิด ทำแก้มลิง และเชื่อมเส้นทางน้ำในพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร สามารถสำรองน้ำไว้ในช่วงฤดูฝนทิ้งช่วง เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บเป็น 337,410 ลูกบาศก์เมตร และกระจายน้ำไปยังชุมชนรวม 10 หมู่บ้าน กว่า 300 ครัวเรือน
จุดที่ 2 แปลงเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ชุมชนได้น้อมนำแนวทางการปลูกพืชผสมผสานระหว่าง พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ ได้แก่ ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ต้นโมก ต้นพุด ต้นจำปี ต้นหูกระจง ไผ่ดำ และพืชที่สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ได้แก่ พืชผักสวนครัว และผลไม้ ทำให้ชุมชนมีรายได้ สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ยลงได้ครัวเรือนละ 2,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันยังได้ขยายแนวคิดความมั่นคงด้านอาหารด้วยการพึ่งพาตนเองได้ 2,494 ครัวเรือน ทั้งตำบลดงขี้เหล็ก
จุดที่ 3 สถาบันการเงินชุมชนกลุ่มออมทรัพย์ เป็นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงของชุมชน ด้วยการร่วมกันฝากเงินสัจจะออมทรัพย์ประจำทุกเดือน และเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าเป็นสมาชิกสมทบด้วย เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนและทางเลือกในการออมเงินของชุมชน มีระบบบริหารการหมุนเวียนเงินในชุมชน มีสวัสดิการให้ชุมชนที่เป็นสมาชิก และคืนกำไรให้ชุมชนในรูปของกองทุนสวัสดิการ เกื้อหนุนคุณภาพชีวิต รวมถึงการศึกษาและการส่งเสริมอาชีพ ปัจจุบัน มีกองทุนของสถาบันการเงินชุมชนรวม 12 กองทุน มีสมาชิกกว่า 1 หมื่นคน ใน 14 หมู่บ้านของตำบลดงขี้เหล็ก สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และบริหารเงินให้อยู่ในชุมชนได้ ชาวบ้านมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น
ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองฯ จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า จนสามารถนำพาชุมชนให้รอดพ้นวิกฤต เกิดความมั่นคงทั้งด้านน้ำ ด้านผลผลิต ด้านสังคมและเศรษฐกิจชุมชน และยังเป็นต้นแบบขยายผลไปยังงานปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนสืบไป