มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริสู่ความยั่งยืน สนับสนุนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (17 สิงหาคม 2561) มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริสู่ความยั่งยืน สนับสนุนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ หอประชุมโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก โดยมี พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ด้วยพร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน เข้าร่วมงานประมาณ 400 คนการจัดงาน “แลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริสู่ความยั่งยืน” ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและขยายผลการดำเนินงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ระหว่าง รัฐ ประชาชน และเอกชน ที่จะน้อมนำแนวพระราชดำริไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนผลจากการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสนก. และ 60 ชุมชนแกนนำ ที่สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง และพร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาและขยายผล ทำให้เกิดการถ่ายทอดการประยุกต์ใช้แผนที่ วิเคราะห์แผนที่ ใช้โปรแกรม จัดทำแผนที่น้ำ ผังน้ำระดับตำบล ชุมชน และต่อยอดองค์ความรู้ในการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศขั้นพื้นฐานให้กับหน่วยงานท้องถิ่น และสภาเกษตรกรจังหวัด นำไปสู่ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ แนวทางบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ระหว่างท้องถิ่น ชุมชน ประชาชน และเกษตรกร ในปี 2560 มีเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ รวม 1,478 หมู่บ้าน และเครือข่ายเกษตรกรของสภาเกษตรกรแห่งชาติ รวม 700 คน
ดร.รอยล จิตรดอน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ มุ่งขยายผลไปสู่การสนับสนุนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยแก้ปัญหาความยากจนที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยน้อมนำศาสตร์ของพระราชาอันเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นแนวทางการปฏิรูป รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดดุลยภาพในทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดำเนินการเชื่อมโยงเป็นระบบระหว่างฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมนุษย์ ไปพร้อมกัน ผ่านการบริหารงานรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม ทั้งระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน ภายใต้แนวทางประชารัฐ และระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง โดยกระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย พร้อมที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ เพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนดพื้นที่บูรณาการภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน มีการบูรณาการในแนวราบ ข้ามกรม ข้ามกระทรวง และที่สำคัญคือ ร่วมมือกันขยายผลความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้เห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ครอบคลุมไปสู่พื้นที่อื่นของประเทศไทย นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงวางรากฐานไว้
นอกจากนี้ การจัดงานดังกล่าวยังได้นำผู้เข้าร่วมงานเยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชน ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองฯ จังหวัดปราจีนบุรี ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่น้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ร่วมกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาการจัดการน้ำชุมชนและแก้ไขปัญหาแหล่งกักเก็บและสำรองน้ำในพื้นที่ ด้วยสระน้ำประจำไร่นา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เขื่อนใต้ดิน” ทำให้มีน้ำใช้ในยามฝนทิ้งช่วง สามารถบริหารจัดการปิดเปิดประตูน้ำและเชื่อมต่อคลอง เพื่อกระจายน้ำให้เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ 25,000 ไร่ ช่วยลดภาวะเสี่ยงจากภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำหลาก มีการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงปลาในสระ ปลูกพืชผักผลไม้หลายชนิด เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เกิดความมั่นคงทางอาหาร โดยจุดศึกษาดูงานในพื้นที่ทั้ง 3 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 สระเก็บน้ำเขาชีปิด ชุมชนได้ร่วมกันฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำเขาชีปิด ทำแก้มลิง และเชื่อมเส้นทางน้ำในพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร สามารถสำรองน้ำไว้ในช่วงฤดูฝนทิ้งช่วง เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บเป็น 337,410 ลูกบาศก์เมตร และกระจายน้ำไปยังชุมชนรวม 10 หมู่บ้าน กว่า 300 ครัวเรือน
จุดที่ 2 แปลงเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ชุมชนได้น้อมนำแนวทางการปลูกพืชผสมผสานระหว่าง พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ ได้แก่ ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ต้นโมก ต้นพุด ต้นจำปี ต้นหูกระจง ไผ่ดำ และพืชที่สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ได้แก่ พืชผักสวนครัว และผลไม้ ทำให้ชุมชนมีรายได้ สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ยลงได้ครัวเรือนละ 2,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันยังได้ขยายแนวคิดความมั่นคงด้านอาหารด้วยการพึ่งพาตนเองได้ 2,494 ครัวเรือน ทั้งตำบลดงขี้เหล็ก
จุดที่ 3 สถาบันการเงินชุมชนกลุ่มออมทรัพย์ เป็นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงของชุมชน ด้วยการร่วมกันฝากเงินสัจจะออมทรัพย์ประจำทุกเดือน และเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าเป็นสมาชิกสมทบด้วย เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนและทางเลือกในการออมเงินของชุมชน มีระบบบริหารการหมุนเวียนเงินในชุมชน มีสวัสดิการให้ชุมชนที่เป็นสมาชิก และคืนกำไรให้ชุมชนในรูปของกองทุนสวัสดิการ เกื้อหนุนคุณภาพชีวิต รวมถึงการศึกษาและการส่งเสริมอาชีพ ปัจจุบัน มีกองทุนของสถาบันการเงินชุมชนรวม 12 กองทุน มีสมาชิกกว่า 1 หมื่นคน ใน 14 หมู่บ้านของตำบลดงขี้เหล็ก สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และบริหารเงินให้อยู่ในชุมชนได้ ชาวบ้านมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น
ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองฯ จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า จนสามารถนำพาชุมชนให้รอดพ้นวิกฤต เกิดความมั่นคงทั้งด้านน้ำ ด้านผลผลิต ด้านสังคมและเศรษฐกิจชุมชน และยังเป็นต้นแบบขยายผลไปยังงานปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนสืบไป