สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนากว๊านพะเยา
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนากว๊านพะเยาในส่วนงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรแหล่งน้ำ ณ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ วังสระประทุม ในการนี้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากว๊านพะเยาในส่วนงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรแหล่งน้ำเข้าเฝ้า ฯ ถวายรายงาน

เดิมกว๊านพะเยาประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย มีตะกอนดินทับถม และผักตบชวาขยายตัวเกินกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่กว๊าน ทำให้คุณภาพน้ำลดลง เกิดน้ำท่วมหลาก และประสบปัญหาน้ำแล้งต่อเนื่อง น้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค มีน้ำเหลือใช้ทำเกษตรโดยเฉลี่ยได้แค่ปีละ 5 เดือน

ในปี 2553 ภาคประชาชน ท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดพะเยา ได้เข้าพบ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อบอกเล่าปัญหาความเดือดร้อน หลังจากนั้นมูลนิธิชัยพัฒนา ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทรงมีพระราชดำริรับโครงการพัฒนากว๊านพะเยา ในส่วนงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรแหล่งน้ำเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นหน่วยงานหลักประสานจัดทำแผนพัฒนาและเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนากว๊านพะเยา และมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันแก้ปัญหากว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันกว๊านพะเยาได้พัฒนาและปัญหาที่เคยประสบก็บรรเทาลง ทั้งนี้เพราะความร่วมมือ ร่วมใจ และสามัคคี แก้ไขปัญหาทั้งจากต้นน้ำ พื้นที่รอบกว๊านพะเยา และพื้นที่ท้ายน้ำกว๊านพะเยา โดยต้นน้ำแก้ไขด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำของกว๊านพะเยา สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อเติมน้ำให้กว๊านอย่างต่อเนื่อง พื้นที่รอบกว๊านพะเยาและพื้นที่ท้ายกว๊านก็มีระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะการบำบัดน้ำเสียจากการทำปลาส้มโดยใช้แนวทางจากการบำบัดน้ำเสียของแหลมผักเบี้ย และการทำปุ๋ยอินทรีย์จากผักตบชวา รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน
กว๊านพะเยารอดพ้นภัยแล้ง และบรรเทาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม กว๊านพะเยามีน้ำอุปโภค-บริโภค และทำเกษตรได้ตลอดปี ไม่พบปัญหาไฟป่า รวมทั้งมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น รวมทั้งจังหวัด เทศบาล และชุมชน มีข้อมูลน้ำ สามารถติดตามสถานการณ์น้ำ และบริหารจัดการน้ำ ร่วมกันทั้งสภาวะปกติและสภาวะวิกฤต

