โครงการรักน้ำ “สร้างศาลาร่วมรู้ เสริมคันฝาย ปลูกแนวกันไฟ”

เมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ดร. รอยล จิตรดอน
กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับผู้บริหาร มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย นายอำเภอห้างฉัตร รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงตาล จิตอาสาจาก บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด หน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่น เยาวชน ชาวบ้านและชุมชนบ้านแม่ตาลน้อย ร่วมกิจกรรมอาสาสมัครโครงการรักน้ำ “สร้างศาลาร่วมรู้ เสริมคันฝาย ปลูกแนวกันไฟ” โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย เพื่อเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และดูแลรักษาแหล่งน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการสร้างฝายและสร้างแนวป่าเปียกด้วยพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ลดการเกิดไฟป่า และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ตาลน้อย ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

มูลนิธิโคคา – โคลา ประเทศไทย ได้เข้ามาสนับสนุนการจัดการน้ำชุมชนบ้านแม่ตาลน้อยตั้งแต่ปี 2554 และดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนับเป็นปีที่ 8 โดยผลสำเร็จของการดำเนินงาน เริ่มจากการสร้างฝายชะลอน้ำและดักตะกอนในลำห้วยต้นน้ำ เช่น ลำห้วยเหล่าหลวง ลำห้วยบัวแก้ว และลำห้วยสาขาอีกกว่า 17 ลำห้วย ช่วยลดปัญหาตะกอนทรายที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่ตาลน้อย อีกทั้งชุมชนยังสร้างแนวป่าเปียกเพื่อเป็นแนวกันไฟ ลดปัญหาไฟป่าและสร้างความชุ่มชื้น ทำให้มีน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่ตาลน้อยได้ตลอดทั้งปี ช่วยเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำกว่า 1,400 ล้านลิตร นอกจากนี้ ชุมชนยังใช้น้ำอย่างคุ้มค่าในพื้นที่การเกษตรด้วยการส่งน้ำผ่านท่อลดการสูบจากลำห้วย เกิดกลุ่มเยาวชนสานต่อการดำเนินงาน และชุมชนเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกมาเป็นการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ใช้น้ำน้อย

ผลสำเร็จในพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ตาลน้อย เมื่อเทียบกับสถานการณ์น้ำในประเทศไทยพบว่า ช่วงปี 2557-2558 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งที่สุด แต่ฝายในพื้นที่ป่าต้นน้ำ และลำห้วยเหล่าหลวง สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ มีน้ำเก็บกักหน้าฝาย พื้นที่ชุ่มชื้นตลอดทั้งปี และในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ปี 2561 ที่ผ่านมา มีรายงานการก่อตัวของพายุเบบินคาที่ส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งชุมชนแม่ตาลน้อยก็ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าวด้วย คือ มีฝนตกหนักในพื้นที่ ปริมาณฝนสะสมรายวัน 44 มิลลิเมตร (ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2561) เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ต้นน้ำ แต่ด้วยโครงสร้างแนวป้องกันตลิ่ง ฝายชะลอและเก็บกักน้ำ ทำให้พื้นที่นี้ไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว และยังสามารถเก็บน้ำในพื้นที่ป่าและลำห้วยได้อีกด้วย

คะแนนเต็ม 0 / 5. จำนวนผู้โหวต : 0

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้