กลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชน ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและแก้มลิง

          นายรัฐวุฒิชัย ใจกล้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตุ่น และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา รู้สึกดีใจและประทับใจเป็นอย่างมากที่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนน้ำอุปโภคบริโภคของตำบลบ้านตุ่น และได้ส่งเสริมให้ตำบลบ้านตุ่นเป็นชุมชนต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลบ้านตุ่น หลังการดำเนินงานร่วมกับ สสนก. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ชุมชนเกิดแนวคิดในการฟื้นฟูแหล่งน้ำ ซ่อมแซมดูแลรักษาโครงสร้างเดิมในพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ ทำให้การกักเก็บน้ำ การหาน้ำและใช้น้ำ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อชุมชน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ปัจจุบันชาวตำบลบ้านตุ่น มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคตลอดปี ลำห้วยและแหล่งน้ำต่างๆ มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปี โดยนำเอาฝายชะลอน้ำ ฝายหินก่อ การพัฒนาแหล่งน้ำ มาปรับใช้ในชุมชน จนเกิดผลสำเร็จเห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ และยังก่อให้เกิดพลังความสามัคคี ความร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชนเอง และระหว่างชุมชน รวมทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนในพื้นที่ เกิดการขยายเครือข่ายไปยังชุมชนใกล้เคียง เกิดการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง
          ชาวตำบลบ้านตุ่นต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่ช่วยให้ชุมชนตำบลบ้านตุ่นมีน้ำใช้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างพอเพียง
          นายสม หลวงมะโนชัย ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลบ้านตุ่น กล่าวว่า “รู้สึกดีใจและประทับใจเป็นอย่างมากที่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาสนับสนุน และทำงานร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตำบลบ้านตุ่น ทำให้ชุมชนเข้าใจปัญหาดิน น้ำ ป่า โดยมีเครื่องมือ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย จนเกิดผลสำเร็จ มีน้ำใช้เพียงพอ และเกิดการอนุรักษ์ ดูแล ป่าต้นน้ำของเราไว้ให้ลูกให้หลานในวันหน้าต่อไป

สภาพปัญหา

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดเอียงจากอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ทอดยาวสู่กว๊านพะเยา มีน้ำแม่ตุ่นเป็นลำห้วยสายหลักไหลผ่านชุมชนตำบลบ้านตุ่น ที่มีทั้งสิ้น 11 หมู่บ้าน ประชากร 5,462 คน 1,683 ครัวเรือน เมื่อปี พ.ศ. 2515 – 2520 ชาวบ้านบางส่วนบุกรุกป่าต้นน้ำและทำไร่เลื่อนลอย ในพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ลำห้วยและแหล่งน้ำตื้นเขิน ทำให้ไม่สามารถเก็บสำรองน้ำได้เท่าที่ควร ทำให้ตำบลบ้านตุ่นประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลากเป็นประจำทุกปี ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรฝายทดน้ำและเยี่ยมราษฎรบริเวณบ้านต๊ำพระแล ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา นายฟอง ไชยสาร อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 พร้อมชาวบ้าน จึงกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น

แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์       , มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ปี พ.ศ. 2556 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลบ้านตุ่น ดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ ร่วมประชุมวางแผนและสำรวจแหล่งน้ำ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวางแผน แก้ไขปัญหา ต่อมาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาแนะนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่สนับสนุนให้ชุมชนนำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร มาปรับใช้โดยยึดหลักการพึ่งตนเองและการใฝ่หาความรู้ หมั่นพัฒนาตนเอง  ตามหลักความพอเพียง เมื่อชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว ชุมชนพร้อมนำความรู้ความสำเร็จที่ได้รับกลับคืนสู่สังคม โดยชุมชนได้ร่วมกันจัดทำแผนที่น้ำ ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งร่วมกันกำหนดกฎ กติกา ในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ วิเคราะห์สมดุลน้ำ ที่ทำให้เกิดระบบการจัดการป่าต้นน้ำ เริ่มจากสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ฝายชะลอน้ำที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่า ดักตะกอนและกักเก็บน้ำใว้ใช้ทำเกษตรในหน้าแล้ง รวมทั้งรายงานสถานการณ์น้ำทุกสัปดาห์

การเปลี่ยนแปลง

          คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลบ้านตุ่นร่วมกับคนในชุมชน ดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ ร่วมประชุม วางแผน และสำรวจแหล่งน้ำ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวางแผนแก้ไขปัญหา เริ่มจากการฟื้นฟูคลองส่งน้ำและแหล่งน้ำเดิม ให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย และให้รายได้ที่ดีกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมถึง ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเยาวชน ให้มีส่วนร่วมอนุรักษ์และจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ของชุมชน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ปี พ.ศ. 2515 – 2520 ชาวบ้านบางส่วนบุกรุกป่าและทำไร่เลื่อนลอยในพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ลำห้วยและแหล่งน้ำตื้นเขิน ไม่สามารถเก็บสำรองน้ำได้เท่าที่ควร ทำให้ประสบปัญหาน้ำแล้งน้ำหลากเป็นประจำทุกปี
          ปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรฝายทดน้ำแม่ต๊ำ และทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณบ้านต๊ำพระแล ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา นายฟอง ไชยสาร อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 พร้อมชาวบ้านได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น
          ปี พ.ศ. 2527 – 2528    กรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น ความจุ 580,000 ลูกบาศก์เมตร
          ปี พ.ศ. 2529    ชุมชนและกรมป่าไม้ร่วมกันปลูกไม้ทดแทนเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ แต่ยังขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้น้ำในอ่างไม่เพียงพอต่อการเกษตรของชาวบ้าน
          ปี พ.ศ. 2554    ได้รับรางวัลประกวดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ และได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินงานจัดการน้ำชุมชนร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)
          ปี พ.ศ. 2555 – 2556     เริ่มดำเนินงานเรื่องฟื้นฟูระบบโครงสร้างแหล่งน้ำเดิม แหล่งกักเก็บน้ำด้านล่างอ่าง และระบบกระจายน้ำในชุมชน
          ปี พ.ศ. 2557 – 2558     เริ่มดำเนินงานฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ด้วยการสร้างฝายดักตะกอน ก่อนลงอ่างเก็บน้ำเเม่ตุ่น และเสริมฝายชะลอน้ำตามลำห้วยสาขา เพื่อเก็บกักน้ำไว้ด้านบน และเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่พื้นที่ป่าบริเวณโดยรอบ
          ปี พ.ศ. 2559    ได้รับเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ แห่งที่ 11 ของประเทศ เป็นตัวอย่างความสำเร็จการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและแก้มลิง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ปี พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน ดำเนินงานจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ขยายงานพัฒนาไปยังชุมชนบ้านห้วยลึก หมู่ 6 ทำให้การบริหารจัดการน้ำชุมชนมีประสิทธิภาพและมีน้ำเพียงพอต่อการเกษตรตลอดปี และขยายผลความสำเร็จสู่พื้นที่ชุมชนใกล้เคียง

ปัจจัยความสำเร็จ

ฟื้นฟูป่าต้นน้ำจากยอดดอยสู่อ่าง
          ชุมชนและเยาวชน ร่วมกันสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น จำนวน 36 ฝาย ในลำห้วยตองสาด และลำห้วยจำปาสาด หลังจากสร้างฝายในปีแรก ชุมชนพบตะกอนทรายบริเวณหน้าฝายก่อนไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น ความสูงของการทับถมตะกอนประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร หรือประมาณ 90 ลูกบาศก์เมตร จึงได้วางแผนสร้างฝายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยชะลอความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่า พร้อมกับช่วยดักตะกอนก่อนไหลลงอ่างเก็บน้ำ

ปลูกป่าในใจคน
          ชุมชนและเยาวชนร่วมกันสำรวจพันธุ์ไม้ท้องถิ่นพร้อมกับติดป้ายชื่อ ต้นไม้ และเดินเท้าขึ้นดอยหนอก ระยะทางกว่า 4.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง จังหวัดพะเยา เพื่อกำหนดแนวเขตการดำเนินงานอนุรักษ์ โดยมีปราชญ์ชุมชนร่วมสำรวจและให้ความรู้

ความสำเร็จ

  1. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำตำบลบ้านตุ่น
  • สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าต้นน้ำ

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ชุมชน เยาวชน และองค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมกันสร้างฝายชะลอความชุมชื้น ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 54 ฝาย ช่วยลดตะกอน ก่อนไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า

  • เยาวชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำห้วยตุ่น

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำห้วยตุ่น ทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำตำบล บ้านตุ่น ร่วมเก็บข้อมูลสำรวจป่าชุมชน และเพาะพันธุ์ไม้ท้องถิ่น เกิดเป็นพลังสำคัญในการดำเนินงานร่วมกับชุมชน

  1. บริหารการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
  • บริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          อ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น มีปริมาณกักเก็บน้ำ 580,000 ลูกบาศก์เมตร บริหารจัดการน้ำด้วยระบบ “ต๊างนา” เพื่อกระจายน้ำไปตามร่องเหมือง เข้าสู่พื้นที่เกษตรอย่างทั่วถึง โดยแก่เหมืองแก่ฝายจะเก็บค่าธรรมเนียมหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วเป็นข้าวเปลือกจำนวน 14 กิโลกรัมต่อแปลง สำหรับเป็นค่าบริหาร ซึ่งเป็นการจัดการน้ำจากอ่างและลำห้วยแม่ตุ่น มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 3,700 ไร่

  • ฝายบริหารจัดการน้ำแล้งน้ำหลาก

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          สร้างฝายกึ่งถาวร กั้นลำห้วยแม่ตุ่น จำนวน 28 ฝาย ตลอดระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ช่วยชะลอการไหลของน้ำ ลดการกัดเซาะในช่วงฤดูน้ำหลาก เพิ่มการเก็บกักและสำรองน้ำในช่วงฤดูแล้ง สามารถผันน้ำให้กับพื้นที่เกษตรทั้ง 2 ฝั่งลำห้วยได้ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในลำห้วย รวมประมาณ 20,000 ลูกบาศก์เมตร

  • ระบบแก้มลิงสำรองน้ำเพื่อการเกษตร

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ปรับปรุงฟื้นฟูห้วยผักหละ ความยาว 780 เมตร โดยวางท่อลอดเพื่อผันน้ำหลากเข้าเก็บในสระโปร่งอ้อ ทำให้เกษตรกรบริเวณห้วยผักหละสามารถทำนาได้เร็วขึ้นประมาณ 1 – 2 เดือน มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 60 ไร่ สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม  นาข้าวได้กว่า 20 ไร่
          พัฒนาสระโปร่งอ้อรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น เพื่อเป็นแก้มลิงสำรองน้ำด้านล่าง โดยเสริมคันดินรอบสระ เพิ่มปริมาณน้ำสำรองได้กว่า 38,000 ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 195 ไร่

  • เชื่อมต่อระบบสำรองน้ำ และฟื้นฟูกว๊านพะเยา

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ขุดลอกคลองห้วยตุ่นตลอดแนวในพื้นที่ หมู่ที่ 4 บ้านดอกบัว หมู่ที่ 5 บ้านห้วยหม้อ หมู่ที่ 9 บ้านเหล่า และหมู่ที่ 8 บ้านสันกว๊าน เพื่อเชื่อมต่อและดักตะกอนก่อนไหลลงสู่กว๊านพะเยา รวมทั้งปรับทางน้ำเข้า-ออก เพิ่มการไหลเวียนของน้ำ ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ และเพิ่มปริมาณน้ำสำรองให้กับกว๊านพะเยา
          นอกจากนี้ สามารถลดความเสียหายจากน้ำท่วมน้ำหลากบริเวณบ้านสันกว๊าน พื้นที่กว่า 500 ไร่ และเกิดความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนในการดำเนินการร่วมกับชุมชน ได้แก่  กองทัพบก, ชลประทานจังหวัดพะเยา, เทศบาลเมืองพะเยา, ศูนย์พัฒนาและบริหารการจัดการน้ำกว๊านพะเยา หรือ ศพบก. และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตุ่น

  1. ทฤษฎีใหม่ สุขใจและพอเพียง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ปรับแนวคิดในการทำเกษตรครัวเรือนตามแนวทฤษฎีใหม่ เสริมระบบกระจายน้ำเพื่อลดการใช้น้ำ และเก็บสำรองน้ำในแปลงเพาะปลูก พึ่งพาตนเอง ลดรายจ่ายในครัวเรือนจากบริโภคพืชผักในแปลง ร่วมแบ่งปันและแบ่งขาย จดบันทึกรายรับ – รายจ่าย เปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20,000 – 50,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ขยายพื้นที่การดำเนินงานทฤษฎีใหม่ ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีสมาชิกรวม 17 ราย ขยายผลเองจำนวน 5 ราย และขยายผลไปยังโรงเรียนบ้านดอกบัว (ราษฎ์บำรุง) เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้ควบคู่การศึกษาตามหลักสูตร

คะแนนเต็ม 0 / 5. จำนวนผู้โหวต : 0

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้