ชุมชนตำบลสายนาวัง ต.นาคู อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

สภาพปัญหา

   , มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ชุมชนตำบลสายนาวัง มีลำห้วย 2 สาย คือลำห้วยสายนา และลำห้วยมะโน โอบล้อมรอบเมือง เสมือนคูน้ำ-คันดินสมัยทวารวดี ถึงแม้มีน้ำล้อมรอบและมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี 1,155 มิลลิเมตร แต่ชุมชนกลับประสบปัญหาน้ำหลากและขาดแคลนน้ำมานานกว่า 38 ปี (พ.ศ. 2511) ขาดแหล่งกักเก็บสำรองน้ำ แหล่งน้ำไม่เชื่อมต่อกัน วิถีการทำเกษตร เปลี่ยนจากพอเพียงทำอยู่ทำกิน มาทำเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการค้า เกิดปัญหาหนี้สินของเกษตรกร มีหนี้สินพอกพูน สูญเสียที่ดิน ย้ายถิ่นฐานทำกิน ขาดน้ำ ขาดชีวิต สิ้นไร้แรงใจ

การเปลี่ยนแปลง

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดำริเมื่อ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2535 ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน และขุดสระน้ำประจำไร่นา และทรงพระราชทานแนวทางการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่บ้านแดนสามัคคี ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรได้เรียนรู้หลักในการบริหารจัดการน้ำ และปรับรูปที่ดินทำกิน ซึ่งได้ขยายแนวคิดมายังชุมชนตำบลสายนาวัง เป็นเครือข่ายทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ พึ่งตนเอง พออยู่พอกิน บริหารจัดการน้ำให้สมดุล เพาะปลูกผสมผสาน วิถีชีวิตพอเพียง หลุดพ้นความยากจนได้อย่างยั่งยืน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ก่อน พ.ศ.1861 เดิมพื้นที่ชุมชนตำบลสายนาวัง พบว่าได้ตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยทวารวดี มีร่องรอยของแนวคูน้ำและคันดินล้อมรอบแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยต่อมานานนับ 700 ปี
          สมัยรัชกาลที่ 2 มีหลายเรื่องราวที่บอกเล่าว่าบรรพบุรุษชาวภูไท และบ้างว่ามาจากเมืองพิน แขวงสุวรรณเขต ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ตำบลสายนาวัง เพราะมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์
          พ.ศ.2503 ชุมชนได้รับการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความทันสมัย ด้วยวาทกรรม “น้ำไหล ไฟสว่าง หนทางดี มีการศึกษา อนามัยสมบูรณ์”
          พ.ศ. 2511 – 2514 ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยมะโนเพื่อตอบสนองนโยบาย “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ส่งเสริมให้ชุมชนทำเกษตรเชิงเดี่ยวและเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำ เกษตรกรเริ่มมีหนี้สิน สูญเสียที่ดินทำกิน
          พ.ศ. 2522 นายบำรุง คะโยธา ผันชีวิตย้ายกลับถิ่นฐาน เปลี่ยนแนวคิดมาทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ของตัวเอง ที่ชุมชนบ้านกุดตาใกล้ ชักชวนพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สิน และขาดแคลนข้าวร่วมกันจัดตั้ง ธนาคารข้าวเพื่อแก้ไขปัญหา
          พ.ศ. 2525 ชุมชนตำบลสายนาวัง แยกการปกครองออกจากตำบลนาคู อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์  และกลุ่มธนาคารข้าว ได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็น กลุ่มเกษตรกรทำนาสายนาวัง ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งแก่สมาชิก
          พ.ศ.2530 – 2531 ผู้นำกลุ่มฯ (นายบำรุง คะโยธา) ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร การพัฒนาผู้นำชนบทและเกษตรอินทรีย์ ที่สถาบันชนบทเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น (Asian Rural Institute – Japan) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของกลุ่มเกษตรกรทำนาสายนาวัง ในการทำเกษตรอินทรีย์
          พ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดำริ ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน ทรงพระราชทานแนวทางการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่  และขุดสระน้ำประจำไร่นาเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ที่บ้านแดนสามัคคี ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยขยายแนวคิดมายังชุมชนตำบลสายนาวัง  เป็นเครือข่ายการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่
          พ.ศ.2538 ทรงมีพระราชดำริ ให้เชื่อมโยงแหล่งน้ำต้นทุน ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ มาเติมให้อ่างเก็บน้ำลำพะยัง เพื่อขยายพื้นที่รับน้ำชลประทานได้มากขึ้น
          พ.ศ.2549 – 2556 ผู้นำชุมชน (นายบำรุง คะโยธา) ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง วางนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน เสริมสร้างธรรมาภิบาล เน้นฟื้นฟูและพัฒนาน้ำและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นบ้าน
          พ.ศ.2550 ชุมชนเปลี่ยนมาทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ด้วยตัวเอง ขยายผลการทำเกษตรอินทรีย์ และดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
          พ.ศ.2552 จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการตำบลสายนาวัง ใช้แผนที่ และผังน้ำ วางแผนบริหารจัดการน้ำ ฟื้นฟูแหล่งน้ำสาธารณะและลำห้วย สร้างฝายกักเก็บน้ำตลอดลำห้วยมะโนและลำห้วยสายนา

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          พ.ศ.2553 – ปัจจุบัน พัฒนาและเชื่อมโยงแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ ขยายสระน้ำแก้มลิงสำรองน้ำ ให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน มีน้ำมั่นคงใช้ทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ อนุรักษ์วัฒนธรรมชาวภูไท วิถีชีวิตพอเพียง

แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา

          ชุมชนตำบลสายนาวัง น้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เรื่องการอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า เกิดการเรียนรู้ สู่การแก้ไขปัญหา ปรับเปลี่ยนวิธีการควบคู่กับการพัฒนาคน และร่วมกันบริหารจัดการแหล่งน้ำ โครงสร้างน้ำ ด้วยการสร้างฝายเพื่อเก็บกักน้ำหลาก ผันสู่สระประจำไร่นา ลดความขาดแคลนช่วงฤดูแล้ง ชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น เกิดผลผลิต มีรายได้ พึ่งพาตนเอง พร้อมสร้างเครือข่ายการทำงาน และมีค่านิยมในขนบทำเนียมประเพณีดั่งเดิม ตามวิถีชาวภูไท

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ร่วมกันสำรวจเก็บข้อมูล โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง  สร้างการเรียนรู้จากการทำงาน สำรวจพื้นที่ควบคู่กับการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) และจัดทำข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) สร้างกลุ่มทำงานที่มีศักยภาพในแต่ละด้าน ร่วมกันดูแล รักษา และบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับภูมิสังคม อยู่ร่วมกับธรรมชาติ สร้างฝายเก็บน้ำในลำห้วยผันเข้าสู่สระประจำไร่นา น้อมนำแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ประยุกต์จนเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เกษตรปรับเปลี่ยนพื้นที่ เพิ่มแหล่งเก็บน้ำ ทำให้สามารถปลูกพืชมีผลผลิต ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ตลอดทั้งปี

งานอนุรักษ์และพัฒนา

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

  • คูน้ำคันดิน ห้วยมะโน ห้วยสายนา สายน้ำหลักที่ล้อมรอบชุมชน คือ ลำห้วยสายนา และลำห้วยมะโน เสมือนคูน้ำ-คันดินล้อมรอบเมือง เป็นลักษณะตั้งแต่สมัยทวารวดี ที่ชุมชนยังคงรักษาและฟื้นฟู ระยะทางรวมกว่า 10 กิโลเมตร เพิ่มปริมาณน้ำได้ 300,000 ลบ.ม. สามารถกระจายน้ำให้ทั้งตำบลสายนาวังพื้นที่ 28 ตร.ก.ม.

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

  • ระบบฝายสัมพันธ์ เก็บน้ำหลาก ตลอดลำห้วยสายนาและลำห้วยมะโน ได้บริหารจัดการฝายที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบ มีฝายกักเก็บน้ำ รวม 15 ฝาย เพื่อกักเก็บน้ำหลากในลำห้วย ใช้ทำเกษตรในฤดูแล้ง มีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำตำบลสายนาวังบริหารจัดการฝายอย่างสัมพันธ์ต่อเนื่อง (stop lock) เพื่อไล่ระดับกักเก็บน้ำให้สัมพันธ์และสอดคล้อง เป็นธรรม กันทั้งระบบ

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

  • อ่างพวงตำบลสายนาวัง ประยุกต์หลักคิดตามแนวพระราชดำริเรื่องระบบอ่างพวง เชื่อมต่อแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างเป็นระบบ เชื่อมอ่างเก็บน้ำ ลำห้วย กักเก็บน้ำเข้าสู่สระน้ำประจำไร่นา กว่า 300 สระ เพิ่มปริมาณน้ำทั้งระบบได้ 6.3 ล้าน ลบ.ม.

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

  • เกษตรสำมะปิ คือ การทำเกษตร ตามวิถีชีวิตพื้นบ้านเชื้อสายภูไท ปลูกพืชผสมผสานในแปลงเดียวกันเต็มแปลงเกษตร ขยันทำขยันปลูก ใช้ความเพียร มีผลผลิตต่อเนื่อง เกิดความมั่นคงทางอาหาร พอเพียงตามวิถีชาวภูไท ปัจจุบัน มีเกษตรกรเปลี่ยนทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จัดรูปแปลงเกษตร วางระบบน้ำ วางแผนเพาะปลูกร่วมกัน จำนวน 28 ราย และขยายผลเอง 30 ราย มีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 84,000 บาท/ครัวเรือน ลดรายจ่ายปีละ 36,000 บาท/ครัวเรือน
  • ถักทอภูมิปัญญาภูไท มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจร่วมกัน เกิดความผูกพันและหวงแหน เกิดการอนุรักษ์ป่าชุมชน “ดอนปู่ตา” ชั่วลูกชั่วหลาน อีกทั้งฟื้นฟูวิถีชีวิตเดิม “ผ้าแซ่ว” เรียนรู้นำแม่ลายมาขิตประยุกต์ใช้กับข้าวของเครื่องใช้ในปัจจุบัน และอนุรักษ์การทอผ้าและย้อมคราม วิธีการผลิตจากธรรมชาติ ปัจจุบัน มีกลุ่มแม่บ้าน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผ้าครามภูไท และ กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมคราม เกิดรายได้ปีละ 168,000 บาท และชุมชนยังร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ข้าวท้องถิ่นได้กว่า 28 สายพันธุ์

ความสำเร็จ

ความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ

1.การบริหารจัดการน้ำ

  • มีข้อมูลและแผนที่เส้นทางน้ำ ลำห้วย แหล่งกักเก็บสำรองน้ำ เส้นทางท่อส่งน้ำ
  • ใช้ประโยชน์จากแผนที่ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุน และส่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่
  • มีโครงสร้างน้ำช่วยในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ คือ ฝายเก็บกักน้ำตลอดลำห้วยจำนวน 15 ฝาย ที่มีการบริหารที่สัมพันธ์กัน สมาชิก เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างเท่าเทียบและเป็นธรรม
  • ฝายจำนวน 15 ฝาย สามารถเพิ่มปริมาณกักเก็บสำรองน้ำ 176,750 ลบ.ม. ต่อ ปี ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบลสายนาวัง 8 หมู่บ้าน พื้นที่รับประโยชน์ 2,100 ไร่ สมาชิกผู้ใช้น้ำ 300 ครัวเรือน 900 คน
  • มีการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำหลักในพื้นที่ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยมะโน และอ่างเก็บน้ำป่งเสาที่รับน้ำจากเทือกเขาภูพาน แล้วส่งน้ำหล่อเลี้ยง ห้วย กุด และสระประจำไร่นาเป็นลักษณะ อ่างพวง เพิ่มปริมาณน้ำทั้งระบบได้ 6.3 ล้าน ลบ.ม.พื้นที่รับประโยชน์ในพื้นที่ เทศบาลตำบลนาคู ตำบลนาคู และตำบลสายนาวัง รวม 24 หมู่บ้าน ประชากร 1,337 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 2,075 ไร่

2.ประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในการทำเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่

  • มีเกษตรกรเปลี่ยนทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จัดรูปแปลงเกษตร วางระบบกระจายน้ำ วางแผนเพาะปลูกร่วมกัน จำนวน 28 ราย และขยายผลเอง 30 ราย มีรายได้ครัวเรือน เฉลี่ยเดือนละ 7,000 บาท หรือรายได้ครัวเรือนปีละ 4,872,000 บาท ลดรายจ่ายครัวเรือน ปีละกว่า 2,000,000 บาท

3.ผ้าย้อมคราม

  • เกษตรกรมีน้ำในพื้นที่ทำให้วิถีเดิมฟื้นกลับคืน พืชหลัก คือ ต้นคราม มีน้ำหล่อเลี้ยง นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าฝ้ายย้อมคราม
  • ประชาชนหันมาใช้เสื้อผ้าจากผ้าท้องถิ่น ลดการใช้สารเคมี สุขภาพกายและใจสมบูรณ์
  • ฟื้นวิถีการผลิตจากธรรมชาติ ปัจจุบัน มีกลุ่มแม่บ้าน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผ้าครามภูไท และ กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมคราม เกิดรายได้ปีละ 168,000 บาท

4.อนุรักษ์พันธุ์ข้าวท้องถิ่น

  • เกิดกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวท้องถิ่นสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้กว่า 28 สายพันธุ์

คะแนนเต็ม 3 / 5. จำนวนผู้โหวต : 2

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้