ชุมชนบ้านผาชัน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี

สภาพปัญหาของชุมชน

          ปี พ.ศ. 2530 ชุมชนเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาและหิน และพื้นที่ลาดเอียงลงสู่แม่น้ำโขง เวลาหน้าฝน น้ำหลากจากแม่น้ำโขงท่วมสูงประมาณ 10 เมตร น้ำหลากอยู่ประมาณ 2 เดือน สภาพดินไม่สามารถดูดซับและกักเก็บน้ำไว้ได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ต้องซื้อน้ำจากที่อื่นมาใช้ ถึงแม้หน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาช่วยขุดบ่อบาดาลหาน้ำหลายครั้ง แต่ก็ไม่พบน้ำใต้ดิน มีเพียงบ่อน้ำตื้นที่พอใช้ได้แต่ไม่เพียงพอทั้งกับชุมชน ทำให้ชุมชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน–เมษายน ชุมชนต้องแย่งน้ำกันใช้ เด็กขาดเรียนเพราะตอนเช้าต้องรีบไปตักน้ำเพื่อเก็บไว้ใช้

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

          ในปี พ.ศ. 2548  ชุมชนจึงเริ่มทำการศึกษาวิจัยร่วมกับ มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต (ภายใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย – สกว.) เพื่อค้นหารูปแบบการใช้น้ำที่มีอย่างจำกัดในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มจากการจัดประชาคมหมู่บ้าน เพื่อสร้างความเข้าใจ ค้นหานักวิจัยชุมชน อบรมทีมวิจัยเรื่องการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และดำเนินการเก็บข้อมูลจากการสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ ศักยภาพพื้นที่แหล่งน้ำในชุมชน ปริมาณน้ำที่มีในแต่ละฤดูกาล ปริมาณการใช้น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในอดีต ความเชื่อ ภูมิปัญญาในการบริหารจัดการน้ำของชุมชน และนำข้อมูลที่ได้มาร่วมกันหาแนวทางดำเนินงาน เป็นการทำงานจากโรงเรียนร่วมกับชุมชน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

การจัดการของชุมชน

          เมื่อชุมชนรับรู้ถึงสภาพการใช้น้ำและข้อมูลแหล่งน้ำภายในพื้นที่ของชุมชนจากผลการวิจัย ชุมชนจึงได้เริ่มดำเนินงานจัดการทรัพยากรน้ำ ดังนี้

1)  การทำฝายกักเก็บน้ำ

          ชุมชนร่วมกันกั้นฝายวังอีแร้ง เดิมทำเป็นทำนบกั้นน้ำจากดินทราย แต่พอน้ำหลาก ทำนบพัง ชุมชนจึงร่วมกันทำฝายคอนกรีตบนหิน โดยออกเงินและแรงงานกันเอง เพื่อทดสอบว่าน้ำจากวังอีแร้งมีพอใช้ภายในชุมชน โดยเก็บครัวเรือนละ 100 บาท เป็นค่าวัสดุ ส่วนแรงงาน ชาวบ้านทุกคนร่วมมือกันทำโดยไม่ต้องจ่ายค่าแรง รวมทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนบางส่วนจากองค์การบริหารส่วนตำบล

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

2)  การกระจายน้ำ

          ชุมชนนำน้ำจากบุ่งพระละคอน (อ่างน้ำธรรมชาติขนาดเล็กริมแม่น้ำโขง) ใช้เป็นระบบประปาหมู่บ้าน นำน้ำไปใช้ภายในชุมชน แต่เนื่องจากพื้นที่ลาดชัน ทำให้ต้องใช้แรงเครื่องสูบน้ำมาก เครื่องสูบน้ำเสียบ่อยครั้ง จนไม่มีงบประมาณซ่อมแซม

          ชุมชนจึงระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหา มีการทดลองนำแนวคิดจากการสังเกตการทำงานของกระบอกสูบลมของเครื่องตีเหล็กมาผสมกับการพับของสายยาง นำแรงลมมาช่วยสูบน้ำ จึงมีการผลิตท่อส่งแรงดันน้ำขึ้น โดยชุมชนได้ทดลองระยะห่างของท่อลม จนได้ระดับพอดีที่จะสูบน้ำได้แรงสูงสุด และเรียกชื่อว่า “แอร์แว” (มาจากคำว่า “แอร์” (Air) คือ อากาศ และคำว่า “แว” ที่หมายถึง “แวะ” คือ “อากาศมาแวะ” ในท่อ ทำให้เกิดแรงดันน้ำ) นวัตกรรม “แอร์แว” นำมาช่วยสูบน้ำจากฝายวังอีแร้ง และบุ่งพระละคอน ต่อท่อนำน้ำไปใช้ในชุมชน ทำให้ประหยัดพลังงาน และไม่ทำให้เครื่องสูบน้ำเสียอีก
          “แอร์แว” ยังนำไปใช้บริเวณฝายวังอีแร้งอีกจุดหนึ่ง จัดทำเป็นประปาภูเขา เพื่อให้การใช้น้ำอย่างทั่วถึง สำหรับ 21 ครัวเรือนที่อยู่บริเวณต้นน้ำที่เป็นที่สูงน้ำจาประปาหมู่บ้านกบุ่งพระละคอนไปไม่ถึง นอกจากนี้ชุมชนมีการทำประชาคมหมู่บ้านร่วมกันทุกสัปดาห์ เพื่อร่วมหาแนวทาง ปรับแก้ไขการดำเนินงานร่วมกัน

ผลสำเร็จ

หาน้ำได้

          ชุมชนนำน้ำจากบุ่งพระละคอน นำมาใช้เป็นระบบประปา หมู่บ้าน สำหรับ 113 ครัวเรือน และนำน้ำจากฝายวังอีแร้ง ใช้เป็นระบบประปาภูเขา แบบกาลักน้ำ ใช้สำหรับ 21 ครัวเรือนที่อยู่บนที่สูง และ ใช้สำหรับตกกล้าก่อนทำนา โดยใช้เฉพาะหน้าแล้ง (เดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม) อีกทั้ง ใช้บึงริมถนน เป็นน้ำสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ หรือ กิจกรรมอื่นๆ ภายในชุมชน เช่น ก่อสร้าง เป็นต้น

ใช้น้ำเป็น

ชุมชนจัดสรรน้ำตามฤดูกาล และพื้นที่ ดังนี้

  • พื้นที่ต้นน้ำ
    • ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น
    • สร้างฝายวังอีแร้ง
  • ช่วงน้ำหลาก (เดือนกันยายน – เดือนตุลาคมของทุกปี)
    • บริหารน้ำจากฝายวังอีแร้ง
  • พื้นที่น้ำแล้ง
    • นำน้ำจากบุ่งพระละคอน มาใช้เป็นประปาหมู่บ้านใช้งานได้โดยชุมชน
    • นำน้ำจากฝายวังอีแร้ง มาใช้ทำประปาภูเขา
  • น้ำเสียในครัวเรือน ชุมชนใช้น้ำอย่างประหยัด เช่น นำน้ำที่ใช้แล้ว มาใช้รดผักสวนครัว ชุมชนมีการประกวดการประหยัดน้ำ หากบ้านใดใช้น้ำประหยัดที่สุดจะมีรางวัลให้ และให้ผู้ได้รับรางวัลมานำเสนอวิธีการใช้น้ำอย่างประหยัดกับคนในชุมชน ทำให้ชุมชนมีการตื่นตัวในการประหยัดน้ำ

มีน้ำสำรอง

          ชุมชนจัดทำฝายบริเวณต้นน้ำก่อนฝายวังอีแร้ง  เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังมีถังเก็บน้ำสำรองประจำชุมชนก่อนปล่อยน้ำแจกจ่ายให้ครัวเรือน

ระบบนิเวศ

          ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบริเวณต้นน้ำ เป็นป่าชุมชน พื้นที่ ไร่ ชุมชนได้อาศัยผลผลิตของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ และความชุ่มชื้น ทำให้ปัญหาไฟป่าหมดไป และน้ำมีเพียงพอตลอดปี หลังจากที่ชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เริ่มทำนา ปลูกข้าวโพด ถั่วลิสง มันสำปะหลัง เพิ่มมากขึ้น

ขยายผลสู่ความยั่งยืน

ศักยภาพสู่ความยั่งยืน

          ชุมชนมีความร่วมมือ ระหว่างชุมชน อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และ องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง รวมทั้งมีแผนงานต่อเนื่อง  นอกจากนี้ ชุมชนยังจัดทำแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม ผ่านกระบวนการวิจัยชุมชน เกิดการร่วมคิด ร่วมทำ ก่อนขอรับความช่วยเหลือจากภายนอก และสร้างความมีส่วนร่วมในระดับเยาวชนอีกด้วย

การขยายเครือข่าย

          ภายในชุมชน โดยทุกครัวเรือนร่วมมือกันดำเนินงาน และแก้ไขปัญหา

          ภายนอกชุมชน ชุมชนได้ร่วมมือกับชุมชนอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านน้ำคล้ายๆ กัน เช่น บ้านนาห้าง บ้านนาเจริญ บ้านดงนาทาน รวมทั้งยังได้ทำงานร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง และ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ในพื้นที่

          เยาวชน ซึ่งโรงเรียนให้ความสำคัญเรื่องการจัดการน้ำ และถ่ายทอดสู่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง

นวัตกรรม ชุมชนถ่ายทอดนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้น และขยายสู่ชุมชนอื่น ในเรื่อง

  • แอร์แว
  • ฝายคอนกรีตบนหิน

คะแนนเต็ม 5 / 5. จำนวนผู้โหวต : 1

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้