ชุมชนบ้านม่วงชุม อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และระบบกระจายน้ำ

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ชุมชนบ้านม่วงชุม หมู่ 7 ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีประชากรอาศัยอยู่ 175 ครัวเรือน 518 คน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอนสลับที่ราบลุ่มเชิงเขา คือทิศตะวันออกติดภูเขาดอยยาว ทิศตะวันตกติดแม่น้ำอิงบ้านเรือนตั้งเรียงเป็นแนวยาวไปตามถนนทั้งสองฝั่ง มีลำห้วยม่วงชุมที่มีความยาว 6,000 เมตร เป็นลำห้วยหลัก มีลำห้วยร่องขี้ม้า ยาว 2,000 เมตร และลำห้วยซาง ยาว 2,000 เมตร เป็นลำห้วยรอง ทั้ง 3 ลำห้วยไหลจากป่าต้นน้ำด้านทิศตะวันออกผ่านหมู่บ้านก่อนลงสู่แม่น้ำอิงทางด้านทิศใต้ ชุมชนมีแหล่งสำรองน้ำสำคัญ 1 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำม่วงชุมอยู่ในเขตป่าต้นน้ำ สำรองน้ำได้ 300,000 ลบม.พื้นที่รับประโยชน์ 1,700 ไร่ แยกเป็นที่อยู่อาศัยและที่สาธารณะประโยชน์ 586 ไร่ ที่ทำการเกษตร 1,114 ไร่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ชุมชนนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาใช้ในการอุปโภค บริโภค การเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ชุมชนเริ่มประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก เมื่อปี 2542 ชาวบ้านขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภคและการเกษตร เนื่องจากอ่างเก็บน้ำมีสภาพตื้นเขินเพราะมีตะกอนดินทรายไหลมาทับถมต่อเนื่อง สาเหตุจากป่าต้นน้ำถูกทำลายโดยชาวบ้านเอง จนต้องประกาศปิดป่าต้นน้ำลำห้วยม่วงชุมทั้งหมดเมื่อปี 2543 มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านม่วงชุม จำนวน 15 คน เป็นแกนนำร่วมกับชาวบ้าน ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำปลูกป่าเสริม ทำแนวกันไฟป่า มีกฎระเบียบป่าชุมชน เพื่อดูแลรักษาแหล่งน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำม่วงชุม ต่อมาชุมชนได้เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูประถัมภ์และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในพื้นที่ ได้เรียนรู้บริบทชุมชนของตนเอง สามารถนำตัวอย่างการจัดการน้ำจากหลายๆ พื้นที่ที่เป็นต้นแบบมาประยุกต์ใช้ เช่น การทำฝายรูปแบบต่างๆ การสร้างระบบกระจายน้ำ และแหล่งสำรองน้ำฯ จนทำให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลากได้ ชาวเกิดความร่วมมือในการจัดการน้ำทุกคน ชุมชนมีการขยายผลสำเร็จไปยังชุมชนข้างเคียงอย่างต่อเนื่อง

สภาพปัญหา

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ชุมชนบ้านม่วงชุม หมู่ที่ 7 ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอนสลับที่ราบลุ่ม ทิศตะวันออกติดภูเขาดอยยาว ทิศตะวันตกติดแม่น้ำอิง บ้านเรือนตั้งเรียงเป็นแนวยาวทั้ง 2 ฝั่งถนน มีลำห้วยม่วงชุมเป็นลำห้วยหลัก ความยาว 3,000 เมตร มีลำห้วยซางและลำห้วยร่องขี้ม้า เป็นลำห้วยรอง ไหลผ่านหมู่บ้านลงสู่แม่น้ำอิง ชุมชนมีอ่างเก็บน้ำห้วยม่วงชุม ปริมาณน้ำกักเก็บ 300,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 1,700 ไร่ สามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภค บริโภค การเกษตรและเลี้ยงสัตว์ แยกเป็นที่อยู่อาศัยและที่สาธารณะประโยชน์ 586 ไร่ ที่ทำการเกษตร 1,114 ไร่ มีประชากร 175 ครัวเรือน 518 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร

การเปลี่ยนแปลง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          แต่เดิมชุมชนมีแนวคิดที่จะสูบน้ำจากแม่น้ำอิงมาใช้ แต่การสูบน้ำในฤดูแล้งนอกจากจะมีปริมาณน้ำ ไม่เพียงพอแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ชุมชน จึงหาทางแก้ไขโดยพัฒนาอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม ให้เป็นระบบ รวมทั้งฟื้นฟูป่าต้นน้ำและลำห้วยสาขา สร้างฝาย ดักตะกอน และเชื่อมต่ออ่างเก็บน้ำ สู่พื้นที่เกษตรและแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค

          ปี พ.ศ. 2440 เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเป็นการชั่วคราว จำนวน 5 ครัวเรือน เพื่อเลี้ยงวัวควาย โดยกระจายกันอยู่บริเวณลำห้วยม่วงชุมทางทิศใต้และลำห้วยม่วงชุมทางทิศเหนือ
          ปี พ.ศ. 2441 – 2504 เป็นช่วงอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน จากหลายถิ่น จำนวน 30 ครัวเรือน ไปตั้งรวมกันที่บ้านร่องห้า หมู่ 6 ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย (บริเวณท่าแสนสาวติดกับแม่น้ำอิง)
          ปี พ.ศ. 2509 ฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่ เกิดความเสียหายกับที่ทำการเกษตร 600 ไร่ ที่อยู่อาศัย 30 ครัวเรือน เป็นเวลากว่า 14 วัน ทำให้ชาวบ้านบางครัวเรือนอพยพหนีน้ำท่วม จากบริเวณท่าแสนสาว บ้านร่องห้า มาอยู่ที่ตั้ง บ้านม่วงชุม หมู่ 7 ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นผืนป่าและเป็นบ้านตอง หมู่ 6 ต.ครึ่ง อ.ชียงของ จ.เชียงราย
          ปี พ.ศ. 2512 ประชากรเพิ่มขึ้นกว่า 50 ครัวเรือน ชาวบ้านจึงร้องขอแยกพื้นที่การปกครองชุมชนออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านตอง หมู่ 6 ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และ บ้านม่วงชุม หมู่ 7 ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีนายเสรี ประเสริฐบุญมี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
          ปี พ.ศ. 2524 ชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านม่วงชุม และ บ้านตอง ร่วมร่างรายชื่อ เพื่อเสนอโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กต่อกรมชลประทาน
          ปี พ.ศ. 2525 กลมชลประทาน เข้ามาดำเนินงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ความจุ 300,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้เวลาก่อสร้าง 5 เดือน มีระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตร ผ่านวาล์วบังคับขนาด 8 นิ้ว ลงตามลำห้วยท้ายอ่างสู่พื้นที่ทำนาของชาวบ้านด้วยระบบเหมืองฝาย พื้นที่การเกษตร 635 ไร่
          ปี พ.ศ. 2525 – 2540 ชุมชนใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ แต่ขาดการอนุรักษ์ดูแลรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีการตัดไม้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย มีการเผาถ่านขาย หาของป่า และแปรรูปไม้ให้กับนายทุน
          ปี พ.ศ. 2540 พื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 1,000 ไร่ เสื่อมสภาพลง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ลำห้วยม่วงชุม และ อ่างเก็บน้ำม่วงชุม
          ปี พ.ศ. 2542 ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคและการเกษตร อ่างเก็บน้ำม่วงชุมมีสภาพตื้นเขินและแห้ง เนื่องจากมีตะกอนดินไหลลงมาทับถมในอ่างเก็บน้ำ สาเหตุจากป่าต้นน้ำถูกทำลายโดยชาวบ้าน
          ปี พ.ศ. 2543 – 2550 ประกาศปิดป่าต้นน้ำลำห้วยม่วงชุม จัดตั้ง “คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านม่วงชุม” จำนวน 15 คน เป็นแกนนำร่วมกับชาวบ้าน ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปลูกป่าเสริม ทำแนวกันไฟ มีกฎระเบียบป่าชุมชน เพื่อดูแลรักษาแหล่งน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำม่วงชุม
          ปี พ.ศ. 2554 มีการขุดลอกอ่างเก็บน้ำม่วงชุม โดยสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงราย สามารถกักเก็บน้ำได้ 300,000 ลูกบาศก์เมตร อย่างเต็มประสิทธิภาพ จัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านม่วงชุม” บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำม่วงชุมอย่างเป็นระบบ พัฒนาลำห้วยม่วงชุม ก่อสร้างฝายกักเก็บน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำสำรองและดักตะกอนก่อนลงอ่างเก็บน้ำ
          ปี พ.ศ. 2555 ก่อสร้างฝายกักเก็บน้ำในลำห้วยม่วงชุม สำรองน้ำได้ 500 ลูกบาศก์เมตร ขยายเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนไปยังบ้านตองเก้า ให้มีแหล่งกักเก็บสำรองน้ำเพิ่มขึ้น 13,680 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 600 ไร่
          ปี พ.ศ. 2556 ชุมชนได้รับรับคัดเลือก เป็นชุมชนแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันดำเนินงานจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และการเกษตรของชุมชน
          ปี พ.ศ. 2557 – 2559 จัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยตัวชุมชน วางแผนบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ฟื้นสภาพป่าต้นน้ำ 3,720 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำสำรองในระบบ 76,710 ลูกบาศก์เมตร มีระบบกระจายน้ำเพื่อการอุปโภค และการเกษตร ระบบท่อส่งน้ำและลำเหมือง ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากพืชเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่
          ปี พ.ศ. 2560 ได้รับเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ แห่งที่ 14 ของประเทศ เป็นตัวอย่างความสำเร็จการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และระบบกระจายน้ำ

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ปี พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน ดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง บริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านม่วงชุมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ป่าต้นน้ำ อ่างเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำ จนถึงแก้มลิงสำรองน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงทั้งชุมชน

แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์      , มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ชุมชนบ้านม่วงชุม ได้ร่วมเรียนรู้กับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้รับการถ่ายทอดแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ชาวบ้านได้ร่วมเรียนรู้การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจัดทำแผนที่น้ำ วิเคราะห์และวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ฝายชะลอน้ำ และระบบสำรองน้ำ ต่อมามูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สนับสนุนการดำเนินงานจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ชุมชนได้ร่วมกันวางแผนการใช้น้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ชุมชนได้ประยุกต์แนวคิดจากการทำฝายชะลอความชุ่มชื้น และกักเก็บน้ำ ปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ใช้หลักเศรฐกิจพอเพียง ดำเนินงานเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ และขยายเครือข่ายการทำงานและความร่วมมือไปยังชุมชนใกล้เคียง

ปัจจัยความสำเร็จ

          ชุมชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเทคโนโลยี แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด และการติดตามสถานการณ์น้ำ จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมถ่ายทอดความรู้และแนวพระราขดำริ ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า  ส่งผลสำเร็จให้ชุมชนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์สมดุลน้ำ และร่วมกันบริหารจัดการน้ำในอ่าง วางแผนพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ และระบบกระจายน้ำสู่พื้นที่ชุมชน มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และเกษตร

ผลสำเร็จ

ด้านที่ 1 ป่าดี มีน้ำ เติมสู่อ่าง
1.1 อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
ชุมชนบ้านม่วงชุมร่วมกันรักษาแหล่งน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำ ด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ดังนี้

  • ประกาศปิดป่า (พ.ศ.2543) จัดตั้ง “คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านม่วงชุม” จำนวน 15 คน เป็นแกนนำร่วมกับชาวบ้าน ร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำห้วยม่วงชุม วางแผนกำกับดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ปลูกไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า สร้างฝายชะลอน้ำแบบภูมิปัญญา สร้างฝายกักเก็บน้ำ ทำแนวป้องกันไฟป่า ทำให้ระบบนิเวศพันธุ์พืชกลับคืนมาสมบูรณ์ เช่น ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัง ไม้เต่งรัง ไม้ยางป่า และมีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น เช่น หมูป่า เก้ง ไก่ป่า นก นกยูง งู เต่าปูลู ผึ้ง
  • ปลูกกล้าไม้เสริมป่า ชุมชนร่วมใจกันปลูกต้นไม้เสริมพื้นที่ป่าต้นน้ำปีละ 1,000 ต้น เกิด “กลุ่มเยาวชนรักษ์ม่วงชุม” ในปี 2556 เป็นจุดเริ่มต้นการสานต่องานบริหารจัดการน้ำชุมชน เสริมสร้างให้เยาวชนมีส่วนร่วมและเรียนรู้ไปพร้อมกับการดำเนินงานของชุมชน เริ่มจากการเพาะพันธุ์กล้าไม้ ปรับปรุงสภาพโรงเรือนเพาะชำให้มีประสิทธิภาพ และนำกล้าไม้ไปปลูกในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ปีละ 1,500 ต้น ตลอด 5 ปี
  • แนวป้องกันไฟป่า ชุมชนร่วมกับหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ เชียงรายที่ 8 หาดไคร้ ขอสนับสนุนกำลังคนให้ความรู้และร่วมเป็นอาสาป้องกันไฟป่า จำนวน 15 คน ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557 (เดือนมีนาคม – เมษายน) ระยะทาง 5,000 เมตร ครอบคลุมพื้นที่รอบป่าต้นน้ำเหนืออ่างประมาณ 1,500 ไร่

1.2 บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำม่วงชุม

  • คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านม่วงชุม ร่วมกันจัดการและกำกับดูแลการใช้น้ำให้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้านอย่างเท่าเทียมกันและเป็นระบบ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งด้านอุปโภค บริโภค การเกษตร และเลี้ยงสัตว์
  • ฝายชะลอความชุ่มชื้นและฝายกักเก็บน้ำ ร่วมสำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ และวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำกว่า 500 ไร่ ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ 100 ฝาย ช่วยฟื้นฟูป่าและดักตะกอนในลำห้วย และสร้างฝายกักเก็บน้ำจำนวน 18 ฝาย สำรองน้ำได้ 5,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำม่วงชุม
  • บ่อดักตะกอน บ่อขุดที่อยู่เหนืออ่างเก็บน้ำ กว้าง 30 เมตร ยาว 50 เมตร ลึก 5 เมตร ทำหน้าที่รับตะกอนดินทรายที่ไหลจากลำห้วยม่วงชุมก่อนลงอ่างเก็บน้ำ ลดตะกอนได้เฉลี่ยปีละ 1,400 ลูกบาศก์เมตร โดยชุมชนสามารถขุดลอกและดูแลรักษาระบบดักตะกอนได้ด้วยตนเอง
  • พัฒนาอ่างเก็บน้ำม่วงชุม ขุดลอกตะกอนในอ่าง เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ 38,000 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บน้ำได้รวม 300,000 ลูกบาศก์เมตร มีการปลูกกล้าไม้บริเวณรอบอ่าง ปลูกหญ้าแฝกบริเวณสันอ่าง มีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านม่วงชุมกำกับดูแลบำรุงรักษา
  • ผลผลิต รายได้ จากป่าต้นน้ำ/อ่างเก็บน้ำ เกิดผลผลิตจากป่าต้นน้ำที่ฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ เช่น หน่อไม้ เห็ด น้ำผึ้ง สร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 80,000 – 100,000 บาท เกิดกองทุนปลาเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน โดยซื้อปลาปล่อยครั้งละ 100,000 ตัว เลี้ยงครบ 2 ปี แล้วเปิดให้ชาวบ้านจับปลาโดยจ่ายค่าธรรมเนียมตามอุปกรณ์ที่ใช้ นำรายได้เข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้านครั้งละ 60,000 บาท

ด้านที่ 2 ระบบส่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
          ชุมชนบ้านม่วงชุมมีรูปแบบการส่งน้ำที่มีประสิทธิภาพ สามารถกระจายน้ำได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ครอบคลุมทั้งชุมชน โดยแบ่งเป็น 3 ระบบ คือ

ระบบที่ 1

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ระบบท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำม่วงชุม ใช้สำหรับน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค 175 ครัวเรือน 518 คน และน้ำเพื่อการเกษตร 1,114 ไร่ ระยะทางรวมประมาณ 12 กม. มีวาล์วควบคุมการเปิด – ปิดน้ำ โดยไม่ใช้พลังงานไฟฟ้า และระบบ การใช้น้ำซ้ำ นำน้ำจากการผลิตน้ำบริโภคและอุปโภค กลับเข้าระบบผลิตน้ำบริโภคและอุปโภคอีกครั้ง คือ เป็นการใช้น้ำ 2 รอบ ในระบบการผลิตน้ำที่มีประสิทธิภาพ ให้ประโยชน์สูงสุดกับชาวบ้านม่วงชุม ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำอิงต่อไป

ระบบที่ 2 ระบบส่งน้ำลำห้วยธรรมชาติ

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

  • ลำห้วยม่วงชุม ส่งน้ำ จากอ่างเก็บน้ำ ระยะทาง 3,300 เมตร ลอดผ่านถนนด้วยบล็อกคอนเวิร์ส แล้ว แบ่งออกเป็น 2 เส้น มีฝายกักเก็บน้ำ 6 ฝาย กักเก็บน้ำได้ 1,800 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่การเกษตร 599 ไร่ ปลูก ข้าว ข้าวโพด กล้วย ลำไย ส้มโอ เงาะ ขิง กระเทียม ก่อนเชื่อมต่อลำเหมืองม่วงชุม อีก 3 เส้น
  • ลำห้วยซาง ส่งน้ำจากต้นน้ำจดลำห้วยม่วงชุมระยะทาง 2,000 เมตร มีฝายกักเก็บน้ำ จำนวน 5 ฝาย ส่งน้ำตามธรรมชาติลงสระสำรองน้ำขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 75 เมตร ลึก 4 เมตร สำรองน้ำได้ประมาณ 6,300 ลูกบาศก์เมตร เข้าลำเหมืองห้วยซางระยะทาง 1,000 เมตร ส่งน้ำเข้าพื้นที่นา 180 ไร่ ก่อนเชื่อมต่อลำเหมืองห้วยซาง – ลำเหมืองห้วยโป่ง และเก็บเข้าแก้มลิงสำรองน้ำ 6 สระ
  • ลำห้วยร่องขี้ม้า ส่งน้ำจากต้นน้ำถึงน้ำอิงระยะทาง 3,000 เมตร มีฝายกักเก็บน้ำ จำนวน 2 ฝาย สำรองน้ำได้ 600 ลูกบาศก์เมตร เข้าพื้นที่การเกษตร 35 ไร่ ก่อนเชื่อมต่อลำเหมืองร่องข้าวหลาม

ระบบที่ 3

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ระบบลำเหมืองส่งน้ำ ระยะทางรวม 4,550 เมตร เชื่อมน้ำสำรองเก็บเข้าแก้มลิง 6 สระ เก็บได้ 42,425 ลูกบาศก์เมตร และสระเก็บน้ำประจำไร่นา 47 สระ เก็บได้ 42,300 ลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น 3 เส้นหลัก ได้แก่ ลำเหมืองม่วงชุม ลำเหมืองห้วยซาง – ห้วยโป่ง และลำเหมืองร่องข้าวหลาม มีโครงสร้างคอนกรีตยกระดับน้ำ มีวาล์วเหล็กหล่อตั้งบนดิน ขนาด 6 นิ้ว และวาล์ว PVC 3 นิ้ว ส่งเข้าพื้นที่การเกษตร 871 ปลูก ข้าว กระเทียม ลำไย เงาะ ผักกาด กล้วย ถั่ว แตงกวา ฯลฯ

ระเบียบกติกาดูแลบำรุงรักษาลำห้วย ลำเหมือง ชุมชนบ้านม่วงชุม

1.ประชุมประจำปี วางแผนเตรียมงานพัฒนาลำห้วย ลำเหมือง 2 ครั้ง/ปี

2.ค่าบำรุงรักษาดูแลลำห้วย ลำเหมือง 50 บาท/ครัวเรือน/ปี

3.หากสมาชิกไม่เข้าร่วมพัฒนา เสียค่าปรับ 200 บาท/ครั้ง

4.มีแก่เหมืองคอยกำกับดูแลการกระจายน้ำเข้าพื้นทีการเกษตร อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

ด้านที่ 3 ป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม แก้มลิงธรรมชาติหนองขอนแก่น

  • ธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ชุมชนบ้านม่วงชุมมีพื้นที่ป่าท้ายน้ำอยู่ 1 แห่ง เนื้อที่ 500 ไร่ ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม” มีลักษณะพิเศษ คือ แม่น้ำอิงล้อมรอบเกือบทุกด้าน ในฤดูฝนน้ำอิงล้นตลิ่งเข้าท่วมเกือบทุกปี หนองขอนแก่นนี้จึงมีลักษณะเป็นแก้มลิงธรรมชาติ ในป่านี้จะมีหนองน้ำธรรมชาติอยู่ 3 หนอง คือ หนองขอนแก่น หนองต้นผึ้ง และหนองไก่ไห้ ซึ่งหนองขอนแก่นมีลักษณะเป็นแก้มลิงธรรมชาติ เพราะในฤดูฝน เมื่อน้ำอิงล้นตลิ่ง หนองขอนแก่นจะเป็นพื้นที่รับน้ำหลากก่อนที่น้ำจะเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร
          ชาวบ้านม่วงชุมจัดตั้ง “คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านม่วงชุม” เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม พร้อมทั้ง น้อมนำหลักการทรงงานเรื่อง “ธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ” และการใช้ชีวิตของชุมชนอย่างมีสติ ไม่เบียบดเบียนทรัพยากรเหมือนก่อนโดยร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟ๔พื้นที่ป่า ทำพิธีบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำอิงในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน และปลูกกล้าไม้เสริมพื้นที่ป่าหนองขอแก่นเป็นประจำทุกปี

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ปัจจุบัน ป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม แก้มลิงหนองขอนแก่น มีความสำคัญกับชุมชนบ้านม่วงชุมอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์พืชและสัตว์ เป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับคนในชุมชน และเกิดความมั่นคงทรัพยากรธรรมชาติ

  • ดักน้ำหลากเข้าเก็บเพิ่มในแก้มลิง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          พื้นที่ป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม แก้มลิงธรรมชาติหนองขอนแก่น มีลักษณะเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำก่อนไหลลงสู่น้ำอิง และรับน้ำหลากล้นตลิ่งจากแม่น้ำอิงเข้าเก็บในพื้นที่ได้ 80,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง พื้นที่เกษตร 2 ฝั่งแม่น้ำอิง รวม 1,000 ไร่ 3 หมู่บ้าน บ้านม่วงชุม บ้านตองเก้า (ตำบลครึ่ง) บ้านร่องห้า (ตำบลศรีดอนชัย)

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ปัจจุบัน ป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม แก้มลิงหนองขอนแก่น มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งอนุบาลทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ เป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งมีคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านม่วงชุม เป็นแกนนำในการดูแลรักษา มีกฎระเบียบข้อบังคับควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูแก้มลิงหนองขอนแก่นให้เป็นมรดกทางระบบนิเวศน์ป่าชุ่มน้ำ และมีความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติ

ด้านที่ 4 เกษตรทฤษฎีใหม่ ชุมชนอยู่ดีมีสุข ชีวิตพอเพียง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          เดิมชุมชนบ้านม่วงชุมมีการทำเกษตรตามฤดูกาลเป็นอาชีพหลัก ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกข้าว ปลูกมัน ทำสวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ ได้ผลผลิตไม่คงที่ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย บางคนก็ต้องกู้เงิน ขายที่ดิน ย้ายทำงานต่างถิ่น ปี 2556 ชาวบ้านม่วงชุมเกิดแนวคิดที่จะทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงรวมกลุ่มดำเนินการ 10 ครัวเรือน และขยายผลเพิ่มขึ้นทุกปี โดยการจัดสรรแปลเกษตรอย่างเป็นรูปแบบ ใช้พื้นที่เพาะปลูกเกิดประโยชน์สูงสุด มีการทำปฏิทินการผลิต วางผังการผลิตรายแปลง วางระบบสำรองน้ำและระบบกระจายน้ำ ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ทำเกษตรแบบพอเพียงไม่ทำเกินกำลัง มีผลผลิตที่หลากหลาย เน้นบริโภคเอง แบ่งปันเพื่อนบ้าน และขายบ้าง ชุมชนอยู่ดีมีสุข ชีวิตพอเพียง น้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ ในการวางแผนพัฒนา บริหารจัดการน้ำชุมชนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าต้นน้ำอย่างชัดเจน เกิดความหลากหลายทางชีวิภาพ ลำห้วยมีน้ำเติมอ่างตลอดปี

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ชาวบ้านม่วงชุมปรับเปลี่ยนแนวคิดมาทำทฤษฎีใหม่และขยายผลทำเกษตรภายในรั้วบ้าน ร้อยละ 70 (122 ครัวเรือน จาก 175 ครัวเรือน) มีรายได้สุทธิเฉลี่ย 4,400,000 บาท/ปี และลดรายจ่ายในครัวเรือน 2,700,000 บาท/ปี เกิดกลุ่มผลิตปุ๋ยหมักใช้เองในชุมชน ลดรายจ่ายได้ปีละ 45,000 บาท  ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น หนี้สินลดลง ลดจำนวนการย้ายไปทำงานต่างถิ่นทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการ ดูแลบำรุงรักษา เพื่อสร้างความยั่งยืนทางทรัพยากร รวมทั้งใช้ประโยชน์ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม

คะแนนเต็ม 5 / 5. จำนวนผู้โหวต : 1

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้