ชุมชนบ้านลิ่มทอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
สภาพปัญหาของชุมชน
ชุมชนบ้านลิ่มทอง มีสภาพพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ จนมีคำกล่าวติดปากว่า “บุรีรัมย์ตำน้ำกิน” เพราะน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร อ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานที่สร้างขึ้น กั้นน้ำจากลำมาศ ได้ไม่มากพอที่จะผลักน้ำไหลผ่านหมู่บ้าน ลำห้วยเดิมที่เคยส่งน้ำถึงชุมชนก็หมดสภาพใช้การไม่ได้ พื้นที่การเกษตร 3,800 ไร่ ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีคลองส่งน้ำ ใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านซึ่งมีอาชีพทำนาเป็นหลัก ต้องเจอกับปัญหาฝนทิ้งช่วงและขาดแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งเป็นประจำทุกปี ผลกระทบที่ตามมาคือ ผลผลิตทางการเกษตรและไร่นาเสียหายขาดทุน วนเวียนอยู่กับการเป็นหนี้สิน ทำนาไม่ได้ข้าว ทำไร่ไม่ได้กิน ชาวบ้านต้องกู้เงินเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น เพราะผลผลิตได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จากแรงมาเป็นรวง ได้ข้าวไม่ถึง 10 ถังต่อ 1 ไร่ สั่งสมเป็นปัญหาเรื้อรังของชุมชน คนจนนับวันมีแต่เพิ่มมากขึ้น ถึงจะมีที่ดินแต่กลับแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะมีน้ำไม่เพียงพอ ประกอบกับเป็นพื้นที่ดอนอยู่ที่สูง และไม่มีโครงการขุดเหมืองส่งน้ำไหลผ่าน มีแต่ผืนดินเหลืองแล้งว่างเปล่า
จุดเริ่นต้นการเปลี่ยนแปลง
ก้าวแรกที่ทำให้ชุมชนบ้านลิ่มทอง เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงภายใน เกิดจากการเรียนรู้ของ นางสนิท ทิพย์นางรอง หรือ น้าน้อย แกนนำชุมชนเล็กๆ คนหนึ่ง ที่พยายามแก้ปัญหาชีวิตและหนี้สินครัวเรือน โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ด้วยการลงมือทำบัญชีครัวเรือน การวางแผนอาชีพ การวางแผนปลดหนี้ รวมถึงการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในชุมชน ซึ่งทำให้น้าน้อย ชาวบ้านบางส่วน รวมถึงกลุ่มเยาวชน ที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ เกิดการพัฒนาศักยภาพตนเอง และเริ่มมีบทบาทเป็นผู้นำชุมชนในการคิดแก้ปัญหาต่างๆ ในระดับหนึ่ง
เมื่อดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ กิจกรรมเยาวชน และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ มาเป็นเวลานานเกือบ 6 ปี (พ.ศ. 2542-2548) ปัญหาสำคัญที่พบคือ แม้กระบวนการคิดและเรียนรู้เป็นไปด้วยดี ปัญหามากมายสามารถแก้กันไปได้ในระยะสั้น แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมปัญหาเรื่องอาชีพ หนี้สิน รายได้ และคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ไม่สามารถแก้ไขได้สักที น้าน้อยพยายามขบคิดและเกิดคำถามกับตัวเองว่า ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องอาชีพต้องทำยังไง คิดเองว่าต้องมีน้ำก่อน ดังพระราชดำรัสที่ว่า “น้ำคือชีวิต” ถามว่าหาน้ำมาจากไหน จะไปเอามายังไง เพราะตั้งแต่เกิดมารุ่นปู่ย่า หมู่บ้านที่อยู่ก็ไม่เคยจะมีน้ำ เวลาเข้าประชุมชาวบ้านคุยกันเรื่องถนน การพัฒนาในชุมชน น้าน้อยคิดว่าถ้าเราเปลี่ยนมาคุยกันเรื่องการประกอบอาชีพ จะช่วยชาวบ้านได้ไหม ถ้าเราขุดคลองจะทำได้ไหม น้าน้อยเริ่มต้นจากการคิด แล้วเลือกที่จะลงมือทำ โดยได้นำปัญหาเรื่องน้ำไปขยายสู่เวทีประชาคม เมื่อมองเห็นปัญหาร่วมกันชัดเจนขึ้น แกนนำชุมชนจึงเริ่มวางแผนเพื่อจัดการปัญหาด้วยตนเอง เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่านั่งคิดกันอย่างเดียวไม่พอ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราต้องลงมือทำกัน ออกสำรวจ วางแผน จัดการ เท่าที่กำลังความสามารถชาวบ้านจะทำได้ ไม่ต้องรอให้ใครมาช่วย ต้องเริ่มจากพึ่งตนเองให้ได้ก่อน ชาวบ้านเริ่มต้นทำกันเองได้ เรียนรู้โดยลงมือทำ นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เกิดการจัดการปัญหาเรื่องน้ำระดับชุมชน อย่างมีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเอง
การจัดการของชุมชน
น้ำเพื่อการอุปโภค
ปัญหาแรก คือ เรื่องน้ำเพื่อการอุปโภค สภาพปัญหาคือ ระบบประปาแบบหอสูงเดิมเสื่อมสภาพ และต้องแบ่งใช้น้ำออกเป็นสองส่วน คือ บ้านหนองทองลิ่มจำนวน 80 ครัวเรือน ใช้น้ำรอบเช้าตั้งแต่ 06.00 – 18.00 น. ส่วนบ้านลิ่มทองจำนวน 60 ครัวเรือน ใช้น้ำรอบค่ำช่วง 18.00 – 06.00 น. ปั๊มน้ำต้องทำงานหนักตลอดเวลา อายุการใช้งานสั้น ขาดการบำรุงรักษา ทำให้ระบบประปาแบบหอสูงนี้ไม่สามารถตอบสนองการใช้งานได้เต็มกำลัง ชุมชนเกิดความพยายามในการพึ่งพาตนเอง โดยออกสำรวจข้อมูลความต้องการใช้น้ำครัวเรือน ของ 2 หมู่บ้าน รวม 230 ครัวเรือน จำนวน 1,030 คน
ชาวบ้านช่วยกันสรุปปัญหาออกมาแล้วหาวิธีจัดการ โดยได้เรียนรู้ตัวอย่างเรื่องระบบประปาบำบัดน้ำใส เห็นว่าเป็นประโยชน์และสามารถทำได้จริง จึงร่วมกันวางแผนและออกแบบเป็นระบบประปาบำบัดน้ำใส (Tank Farm) ความสูง 3 เมตร จำนวน 9 ถัง แบ่งเป็น ระบบกรองบำบัด 3 ถัง และที่เก็บพักน้ำใส 6 ถัง ผ่านกระบวนการกลั่นกรองสารส้มและคลอรีน ต่อท่อเชื่อมเข้ากับระบบประปาหมู่บ้านเดิม เพื่อช่วยเพิ่มกำลังในการส่งจ่ายน้ำให้ได้ทุกครัวเรือน และลงมือก่อสร้างในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 โดยชาวบ้านจาก 2 หมู่บ้าน นับร้อยคน รวมทั้งพระจากวัดหนองทองลิ่ม เจ้าของพื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงแรงก่อสร้างตัวถัง และขุดแนววางท่อที่ต่อเชื่อมไปยังระบบประปาในวัด ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในระบบประปาบำบัดน้ำใสนี้ เพราะทุกคนยังจำภาพความร่วมมือในการจับจอบออกแรง รวมหยาดเหงื่อ ช่วยกันสร้างช่วยกันทำ ในวันนั้นได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน ระบบประปาบำบัดน้ำใส สามารถกระจายน้ำได้ตลอดวัน ทั้ง 2 หมู่บ้าน รวม 180 ครัวเรือน สามารถเปิดใช้น้ำพร้อมกันได้ดี มีการจัดทำระบบบัญชีผู้ใช้น้ำ เก็บค่าน้ำหน่วยละ 6 บาท เพื่อใช้ในการบำรุงรักษาระบบ มีผู้ดูแลเปิดปิดตะกอนจากถังกรอง มีคณะกรรมการคอยดูแลจัดการให้ทุกครัวเรือนมีน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอ และสามารถนำรายได้ที่เหลือไปช่วยกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ ภายในชุมชนได้อีกด้วย
ระบบประปาบำบัดน้ำใส ไม่เพียงทำให้ชาวบ้านมีน้ำสำหรับใช้กันทั่วทุกครัวเรือนเท่านั้น บทเรียนสำคัญที่ชาวบ้านลิ่มทองได้คือ เกิดกระบวนการคิดและมีส่วนร่วมของชุมชน
น้ำเพื่อการเกษตร
จากบทเรียนในการพึ่งพาตนเอง ชุมชนจึงวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร ในรูปแบบของตนเอง โดยตั้งต้นจากการมองสภาพปัญหาพื้นที่ ออกสำรวจเพื่อดูว่าจะใช้แหล่งน้ำจากไหนได้บ้าง มีพื้นที่กักเก็บน้ำไว้จุดใดบ้าง เพื่อให้มีข้อมูลมากขึ้น ประกอบกับทางชุมชนได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่นแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมและเครื่องอ่านค่าพิกัดดาวเทียม (GPS) นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีค่ามากสำหรับชุมชน ชาวบ้านตั้งคำถามว่าจะเอาน้ำมาจากไหน ออกสำรวจแหล่งน้ำโดยรอบ ประสบการณ์สอนให้คิดตั้งคำถามต่อว่า ถ้าเอาน้ำมาจากจุดนี้จะเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไร จัดการอย่างไร เชื่อมต่อกับจุดไหนได้บ้าง ได้ปริมาณน้ำเท่าไหร่ เก็บไว้ใช้ได้นานแค่ไหน ใครจะได้ประโยชน์บ้าง กระทบถึงคนอื่นไหม สรุปเป็นคำถามสำคัญว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อทำให้ “หาน้ำได้ เก็บน้ำได้ ใช้น้ำเป็น” และจัดการให้ยั่งยืน การตั้งคำถามที่ดี นำไปสู่การแสวงหาคำตอบที่ตรงจุด และลงมือทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชุมชนบ้านลิ่มทองและเครือข่ายหมู่บ้านข้างเคียง ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชน และทีมนักวิจัยท้องถิ่น โดยช่วยกันจัดทำรายงานวิเคราะห์หาแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพขาดแคลนน้ำของชุมชน ขึ้นมา 1 ฉบับ เนื้อหาประกอบด้วยข้อมูลสภาพพื้นที่ ข้อมูลความต้องการใช้น้ำ แนวทางแก้ปัญหา ตามวิธีคิดของชาวบ้าน ข้อสรุปคือ 1.หาแหล่งกักเก็บน้ำสำรองเพิ่มเติม ในลักษณะแก้มลิง ตามแนวทางพระราชดำริ 2.โครงการขุดคลองส่งน้ำจากลำปลายมาศ ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร 3.ปรับปรุงประสิทธิภาพคลองส่งน้ำ ท่อลอดถนนและฝายต่างๆ และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ 4.สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมและเข้มแข็ง
จากนั้นตัวแทนชาวบ้าน ได้นำโครงการยื่นเสนอต่อสำนักชลประทานที่ 8 จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2549 กระทั่งนายช่างโยธาจากกรมชลประทาน ได้ออกมาสำรวจเส้นทางเหมืองน้ำร่วมกับคณะกรรมการน้ำชุมชน พร้อมกับที่ชาวบ้านได้ส่งเอกสารใบยินยอมมอบที่ดิน ซึ่งเส้นทางคลองส่งน้ำต้องตัดผ่าน ให้ด้วยความเต็มใจ เพราะคิดว่าถึงมีที่ดิน แต่หากไม่มีน้ำ ก็ปลูกอะไรทำกินไม่ได้ ชาวบ้านดีใจมากที่จะได้น้ำมาผ่านหน้าที่นา การเสียสละเล็กน้อยเพื่อส่วนรวมจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนยินดี นับเป็นโชคดีของชาวบ้านที่ทางหน่วยงานรัฐและเครือข่าย ได้ลงมือขุดคลองส่งน้ำและแก้มลิงตามแผน ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม 2550
ชาวบ้านรู้สึกดีใจ ชื่นใจ และภูมิใจมาก ที่โครงการอันเกิดมาจากน้ำพักน้ำแรง การมีส่วนร่วม และการวางแผนของชาวบ้านเอง ได้เกิดเป็นจริงขึ้นมา โดยเส้นทางคลองส่งน้ำนี้ มีระยะทาง 3.637 กิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 3 เมตร งบประมาณ 1.96 ล้านบาท ชาวบ้านลิ่มทองและหมู่บ้านใกล้เคียงสามารถรับประโยชน์จากโครงการขุดคลองส่งน้ำถึง 3,800 ไร่ รวม 1,038 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลชุมแสง (บ้านเสลา และบ้านชุมแสง) ตำบลหนองโบสถ์ (บ้านโคกพลวง บ้านลิ่มทอง บ้านหนองทองลิ่ม บ้านโนนศรีสุข บ้านไททอง บ้านสระขาม) และตำบลทุ่งแสงทอง (บ้านหนองมะมา บ้านหนองกง บ้านหนองบัว)
เมื่อคลองส่งน้ำดำเนินการแล้วเสร็จ ตรงพอดีกับฤดูฝนและมีน้ำหลากผืนนาเขียวขจี ทุกปีชาวบ้านเฝ้าดูน้ำผ่านหายไปต่อหน้าต่อตา แต่ปัจจุบันนี้ คลองส่งน้ำสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เต็มกำลัง คิดเป็นขนาดพื้นที่ 25 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำ 121,000 ลบ.ม. แนวคลองส่งน้ำจึงเป็นเหมือนอ่างเก็บน้ำสำรองในหน้าแล้ง ให้ชาวบ้านเพาะปลูกพืชได้ และยังเป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูน้ำหลาก เป็นพื้นที่หน่วงน้ำจากบ้านโคกพลวงทางทิศตะวันตก ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อีกแรงหนึ่งด้วย ชุมชนจึงต้องบริหารจัดการน้ำต้นทุนนี้ให้มีประสิทธิภาพ วางแผนจัดสรรการใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่า เพื่อที่จะสามารถมองภาพชีวิตในอนาคตข้างหน้าได้ ข้าวในนาจะดีขึ้น มีอาชีพเสริมนอกฤดู ปากท้องไม่เดือดร้อน หนี้สินลดลง เงินออมเพิ่มขึ้น คิดวางแผนเพาะปลูกได้ในระยะยาว
ขยายผลสู่ความยั่งยืน
สิ่งที่คณะกรรมการน้ำชุมชนได้ร่วมกันคิดและเตรียมวางแผนล่วงหน้า เพื่อจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และต่อยอดการใช้ประโยชน์จากแนวคลองส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น คือแนวคิดเรื่องเครือข่ายสระเก็บน้ำประจำไร่นา ในรูปแบบแม่ลิงและลูกลิง ด้วยการขุดสระเก็บน้ำแก้มลิงขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มแหล่งเก็บสำรองน้ำเชื่อมต่อกับตัวคลองส่งน้ำ เรียกตามประสาชาวบ้านว่าเป็น “แม่ลิง” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก มูลนิธิ โคคา-โคลาประเทศไทย และชาวบ้านเจ้าของที่ดินร่วมบริจาคที่ดินเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ ขุดแม่ลิงจำนวน 7 สระ พื้นที่รวม 14 ไร่ ปริมาณกักเก็บน้ำรวม 65,7000 ลบ.ม. แบ่งปันทั้งน้ำและจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรรอบสระ และจัดเตรียมแปลงเพาะหญ้าแฝกและไม้ให้ร่ม สำหรับใช้ในการปลูกรอบแนวคลองส่งน้ำ และสระเก็บน้ำแก้มลิง เพื่อยึดดินขอบตลิ่งไม่ให้พังทลาย ลดการระเหยของน้ำ และเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นดิน
นอกจากนี้ แม่ลิงยังสามารถดึงน้ำส่วนเกินจากคลองส่งน้ำ ส่งจ่ายน้ำไปยังหัวไร่ปลายนาห่างไกล โดยมีคลองไส้ไก่เป็นตัวเชื่อมต่อน้ำ ไปเก็บพักไว้ยังสระเก็บน้ำประจำไร่นา ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ลูกลิง” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการขุดสระเก็บน้ำ “ลูกลิง” จากมูลนิธิวิเทศพัฒนา และมีคลองซอยย่อยจากลูกลิง ส่งผ่านน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรให้ได้ไกลที่สุด
น้ำที่กระจายไป ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ได้ในวงกว้าง เป็นความพยายามเพื่อจัดสรรน้ำให้ชาวบ้านทุกคนได้มีสิทธิในการใช้น้ำอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีหัวหน้าแต่ละสระ และเกษตรกรสมาชิก เข้ามาทำการเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการคิด วางแผนการเพาะปลูก รวมกลุ่มเพื่อการขาย และเรียนรู้การเป็นนักวิจัยท้องถิ่น โดยสมาชิกแต่ละสระลงมือทำตามแผน เก็บข้อมูลผลผลิต เรียนรู้กันภายในกลุ่ม และนำไปแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายแม่ลิง ก่อนสรุปเป็นข้อมูลเพื่อขยายแนวคิดไปสู่คนในชุมชน ให้สามารถพัฒนาเป็นชุมชนเข้มแข็งตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
สมาชิกเกษตรกรจำนวน 18 ราย เป็นกลุ่มนำร่อง เข้าร่วมเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเตรียมวางแผนการเพาะปลูกด้วยโปรแกรมเอ็กเซล (Excel) โดยจัดให้เป็นแปลงเกษตรสาธิต เพื่อพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในฤดูกาลเพาะปลูก ปี พ.ศ. 2550 – 2551 ทุกคนจะต้องวางแผนเรื่องการเพาะปลูกใส่ในตารางเอ็กเซล กรอกรายละเอียดเงินลงทุน การตลาด ราคาขาย รายได้จากการขายเมื่อหักต้นทุน และจัดทำบัญชีครัวเรือนประกอบกัน เพื่อให้สอดรับกับแผนการจัดการน้ำ ก่อนขยายผลสู่ครัวเรือนอื่นๆ ให้เกิดกระบวนการคิด วางแผน และลงมือทำร่วมกัน เมื่อก่อนชุมชนไม่มีน้ำ จึงไม่เคยคิดถึงอนาคต ทำให้ไม่คิดวางแผนล่วงหน้า แต่ตอนนี้แผนการผลิตกลายเป็นเครื่องมือช่วยให้รายได้และเงินออมของครัวเรือนมีมากขึ้น
จากการเรียนรู้สู่การจัดการทรัพยากรน้ำ ชุมชนบ้านลิ่มทองเริ่มต้นจากการพึ่งพาตนเอง ด้วยความอดทนพยายาม ลงมือทำจนเกิดเป็นประสบการณ์ สร้างคนในท้องถิ่นให้เปลี่ยนแปลง เกิดกระบวนการเรียนรู้ คิดเป็น ทำเป็น เกิดเครือข่าย มีส่วนร่วม และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง คลองส่งน้ำและสระแก้มลิง สอนให้ชาวบ้านรู้คุณค่าของคำว่า “น้ำคือชีวิต” ที่สำคัญชาวบ้านทุกคนต่างรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ทุกคนมีหน้าที่ช่วยกันดูแล จัดการ และใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนี้ให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน ภายใต้หัวใจที่ว่า มีน้ำ มีความคิด ชีวิตพอเพียง