ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

สภาพปัญหาของชุมชน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ชาวบ้านห้วยปลาหลดเป็นชาวเขาเผ่ามูเซอดำ เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ชาวมูเซอดำได้ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากดอยสูงของจังหวัดเชียงราย มาตั้งรกรากที่บ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก หวังใช้เป็นที่อยู่และที่ทำกิน ด้วยคิดว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การอาศัยอยู่ แต่กลับพบว่าชาวกะเหรี่ยงที่เคยอยู่อาศัยมาก่อนได้ทำลายป่าไม้ จนเหลือเป็นเพียงป่าหญ้าคา และด้วยไม่มีใครชี้ให้ชุมชนเห็นถึงปัญหาของการตัดไม้ทำลายป่า ประกอบกับการที่ชุมชนไม่เห็นความสำคัญของป่า เมื่อชาวมูเซอดำเข้ามาอยู่อาศัย จึงได้ประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ยังไม่ได้คิดพัฒนาป่าภายในพื้นที่บ้านห้วยปลาหลดให้ดีขึ้น ทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรมยิ่งขึ้น
, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์    , มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

          ปี พ.ศ. 2527 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ขอพื้นที่คืนจากชุมชนบ้านห้วยปลาหลด เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ชุมชนบ้านห้วยปลาหลดไม่รู้จะย้ายถิ่นฐานไปที่ไหนได้อีก เพราะพื้นที่อื่นล้วนถูกชาวเขาเผ่าอื่นจับจองไปแล้วทั้งสิ้น ชุมชนจึงขอตกลงกับกรมอุทยานฯ หยุดการทำไร่เลื่อนลอย และเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนตัดสินใจหันมาให้ความสนใจกับป่าของตน เริ่มจากปลูกป่าไผ่ และสร้างป่าชุมชนขึ้น เพื่อแสดงให้กรมอุทยานฯ เห็นว่า ชุมชนร่วมกันสร้างและปลูกป่าได้ และที่สำคัญคือ ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ กรมอุทยานฯ จึงอนุญาตให้ชุมชนบ้านห้วยปลาหลดอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์    , มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          การอยู่ร่วมกับป่าของชุมชนบ้านห้วยปลาหลด นับเป็นจุดเริ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวมูเซอดำ บ้านห้วยปลาหลด กับ หน่วยจัดการป่าต้นน้ำดอยมูเซอ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ในปี พ.ศ. 2537 เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ริเริ่ม “โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50” กฟผ. ได้ร่วมกับกรมอุทยานฯ ดำเนินโครงการในพื้นที่ป่าบนดอยมูเซอ กรมอุทยานฯ จึงจ้างแรงงานชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ให้มาช่วยปลูกป่าบริเวณดอยมูเซอ

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
         

เมื่อชุมชนไปรับจ้างปลูกป่า ซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณ ชุมชนได้เห็นความแตกต่างระหว่างพื้นที่ป่าที่ปลูก เห็นความชุ่มชื้นที่เกิดขึ้นจากป่าไม้ มาเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าของตนที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ชุมชนจึงยิ่งเห็นความสำคัญของป่าไม้มากยิ่งขึ้น และเริ่มปลูกป่าภายในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด

ศาสนาพุทธกับการรักษ์ป่า

          สิ่งสำคัญที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชน คือ การได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับป่า และความสำคัญของป่า จากพระอาจารย์เด่น นันทิโย ซึ่งท่านได้นำศาสนาพุทธมาเป็นหลักคำสอนให้ชุมชนรู้จักรักป่าของตน และ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลเสียของการตัดไม้ทำลายป่า ผ่านการเทศนา จนทำให้คนส่วนใหญ่ของชุมชนในเวลานั้น ที่ยังยึดติดกับการตัดไม้ทำลายป่า ได้ปรับทัศนคติในเรื่องการรักษ์ป่า และการทำไร่เลื่อนลอย  แม้จนถึงปัจจุบัน ชุมชนยังคงให้ความเคารพนับถือพระอาจารย์เด่น มาโดยตลอด

การจัดการของชุมชน

ชาวเขากับการปลูกป่า

          แต่เดิมชาวเขามักจะถูกมองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรม เพราะคำพูดที่ว่า “ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย” หรือ “คนบนดอยเป็นคนตัดไม้ทำลายป่า” แต่การรับจ้างปลูกป่าให้กับหน่วยจัดการต้นน้ำดอยมูเซอ ไม่เพียงได้ประโยชน์เป็นรายได้ยังชีพเท่านั้น แต่ยังทำให้ชาวเขาเผ่ามูเซอดำ แห่งชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ซึ่งแต่เดิมไม่เห็นความสำคัญของป่า ได้เรียนรู้แนวความคิดเกี่ยวกับป่าไม้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ จนเกิดจิตสำนึกรักษ์ป่า จึงได้นำประสบการณ์จากการรับจ้างปลูกป่า มาปรับใช้กับสภาพป่าของชุมชน และเริ่มต้นปลูกป่าในพื้นที่บ้านห้วยปลาหลด โดยหวังพลิกฟื้นผืนป่าจากหญ้าคาให้กลายเป็นไม้เบญจพรรณอันอุดมสมบูรณ์

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ชุมชนได้เรียนรู้ความสำคัญของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่า ที่ต้องทำควบคู่กันไป เมื่อปลูกป่าแล้วก็ต้องรักษาสภาพป่าไปพร้อมกัน และเห็นความสำคัญของการป้องกันไฟป่า เพื่อรักษาต้นกล้าที่กำลังงอกขึ้นอยู่ภายในดงหญ้าคาที่ง่ายต่อการติดไฟ เพราะไฟป่าจะทำลายต้นกล้าที่กำลังงอกขึ้นมาจนเสียหายหมด ชุมชนจึงพยายามรักษาสภาพป่าที่มีอยู่ พร้อมทั้งร่วมกันทำแนวป้องกันไฟป่า
          ป่าต้นน้ำ เป็นป่าที่ชุมชนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงได้ขอความร่วมมือชาวบ้านที่ทำไร่บริเวณป่าต้นน้ำ ให้เปลี่ยนมาปลูกต้นกล้วย หรือไม้ยืนต้นแทน โดยหาพื้นที่ทดแทนให้ใช้ปลูกพืชผัก และหากใครทำลายหรือตัดต้นไม้ มีกฎกติกาปรับแปลงละ 5,000 บาท วิธีนี้ทำให้ชุมชนได้ป่าซับน้ำเพิ่มขึ้น
          ส่วนการกำจัดป่าหญ้าคา ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ไม่ได้ใช้วิธีการสมัยใหม่แต่อย่างใด เพียงแค่นำวัวเข้าไปเลี้ยงบริเวณป่าหญ้าคา จากฤดูฝนที่ทำให้หญ้าคาเจริญงอกงามอย่างดี กลับกลายเป็นอาหารมื้ออร่อยให้วัวนำเข้าท้องและย่อยออกมาเป็นปุ๋ยได้อีก เมื่อหญ้าคาลดลง ต้นกล้าที่ขึ้นจากเมล็ดพืชก็งอกงามขึ้นทดแทนหญ้าคา และกลายเป็นป่าไม้เบญพรรณ
          ชาวเขาแห่งบ้านห้วยปลาหลดในวันนี้ จึงกลายเป็นตัวอย่างของคนปลูกป่าและอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างดี โดยปรับใช้ความรู้เพื่อแบ่งพื้นที่ปลูกป่า มาสู่การจัดสรรและแบ่งพื้นที่ป่าของชุมชน เพื่อให้ทุกคนเป็นเจ้าของพื้นที่ป่า และร่วมกันดูแลและรักษาป่าของตน จนป่ากลับคืนความอุดมสมบูรณ์

การจัดการ จากป่าสู่น้ำ จากน้ำสู่ชุมชน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          หลังจากชุมชนร่วมกันปลูกป่า ทำให้ป่าต้นน้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์ ความชุ่มชื้นกลับคืนมา น้ำในลำห้วยที่เคยแห้งขอดก็มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เมื่อป่ามีน้ำมา ชุมชนบ้านห้วยปลาหลดก็ได้มีการบริหารจัดการน้ำของชุมชนเอง โดยเน้นสร้างประโยชน์ต่อผืนป่า และทำให้พื้นที่ทุกตารางเมตรเกิดประโยชน์

ฝายชะลอความชุ่มชื้น
          ชุมชนได้ร่วมกันสร้าง “ฝายชะลอความชุ่มชื้น” ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งมีทั้งฝายธรรมชาติ และฝายคอนกรีต รวมทั้งสิ้นกว่า 400 ฝาย เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของป่า ทำให้ต้นน้ำไม่แห้งแล้ง มีน้ำให้ชุมชนได้กินได้ใช้ตลอดทั้งปี ฝายเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยให้ระบบนิเวศดีขึ้น ทั้งนกและสัตว์ป่านานาชนิด ได้กลับมาอาศัยที่ป่าอีกครั้ง

ประปาภูเขา

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ระบบประปาภูเขาบ้านห้วยปลาหลด เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532  โดยนำน้ำที่ได้จากบนเขา ต่อท่อประปา นำน้ำลงมาถึงชุมชน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้น้ำมากขึ้น ชาวบ้านคนใดต้องการใช้น้ำในบ้านของตน ต้องจ่ายเงินค่าต่อท่อด้วยตนเอง ปัจจุบันด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ ทำให้มีระบบประปาภูเขามีน้ำไหลให้ชุมชนได้ใช้อย่างเพียงพอตลอดปี แต่ชุมชนก็ยังใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่มีใครเปิดน้ำทิ้งไว้ให้สูญเปล่า

น้ำเพื่อการเพาะปลูก
          การปลูกพืช ชุมชนได้นำแนวคิดของธรรมชาติมาปรับใช้ เช่น การปลูกฟักแม้ว หรือ มะระหวาน ที่เป็นพืชทำรายได้หลักของชุมชน เพราะปลูกได้ผลตลอดปี และเป็นพืชประหยัดน้ำ จะปลูกบริเวณฝายชะลอความชุ่มชื้น ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างบริเวณร่องเขา ฟักแม้วได้อาศัยความชุ่มชื้นของฝายในการให้น้ำแก่ต้น รวมทั้งอากาศและความชื้นก็ช่วยให้พืชเจริญงอกงามได้อย่างดี

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          การปลูกกาแฟ ผสมกับต้นไม้ใหญ่ในป่า โดยไม่ต้องรดน้ำ เพียงใช้ร่มเงาจากไม้ต้นใหญ่ เช่น ต้นไทร ก็ช่วยเป็นร่มเงาอย่างดีให้กับต้นกาแฟ
          การปลูกพืชบริเวณเชิงดอย ชุมชนนำประโยชน์จากการทำประปาภูเขา มาทำเป็นสปริงเกิลสำหรับรดน้ำ วิธีนี้ จึงเป็นวิธีที่ประหยัดน้ำแล้ว ยังประหยัดแรงงานในการรดน้ำอีกด้วย

ป้องกันน้ำเสีย
          ชุมชนห้วยปลาหลด ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ มีป่า และ มีน้ำ ชุมชนมีแนวคิดในการดูแลรักษาน้ำที่มีอยู่ ด้วยการป้องกันน้ำเสีย งดใช้สารเคมี เริ่มต้นจากการไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า และปุ๋ยเคมี ใช้ขี้เถ้าในการซักผ้า เพื่อลดน้ำเสียไหลลงสู่ปลายน้ำ รวมทั้งมีกฎกติกา ห้ามทิ้งขยะลงในลำห้วย เพื่อไม่ให้น้ำเสียไหลลงไปสู่พื้นที่ด้านล่าง
          ต้นไม้ที่ขึ้นตามลำห้วยและเป็นพืชท้องถิ่น คือ ต้นสะระแหน่น้ำ ลักษณะมีรากใส คล้ายผักบุ้ง ชาวบ้านเชื่อกันว่าสามารถกรองน้ำเสียบริเวณลำห้วยได้ ชุมชนจึงมีกฏห้ามไม่ให้ปล่อยสัตว์ต่างๆ ที่ชุมชนเลี้ยงเช่น หมู และ ม้า ไปหากินบริเวณลำห้วย เพราะเกรงว่าสัตว์จะไปกินพืชเหล่านั้นเสียหมด

ความร่วมมือของชุมชน
          ชุมชนต่างตระหนักถึงการรักษาป่า เมื่อป่าและน้ำกลับคืน ทำอย่างไร จะให้ป่าและน้ำคงอยู่กับชุมชนตลอดไป ชุมชนบ้านห้วยปลาหลดทุกคนจึงร่วมกันดูแลรักษาป่าอย่างดี เมื่อเกิดไฟป่า ทุกคนในชุมชนจะร่วมมือร่วมแรงกัน เพราะถือว่าทั้งผืนป่าเป็นของทุกคนในชุมชน หากป่าเสียหาย ก็หมายถึงผลประโยชน์ของชาวบ้านเสียหายไปด้วยเช่นกัน ชุมชนจึงกำหนดกติกาเพื่อดูแลรักษาป่า โดยมีเวรยามลาดตระเวณป้องกันไฟป่าภายในรัศมี 3 กิโลเมตร กำหนดเดือนในการเก็บของป่า เช่น หน่อไม้ ให้เก็บได้เฉพาะเดือนกรกฎาคม – เดือนสิงหาคม เป็นต้น ด้วยความร่วมมือของทุกคน ก็จะทำให้ป่าและชุมชนอยู่ร่วมกันได้ตลอดไป

ป่าคือชีวิต

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ป่าของบ้านห้วยปลาหลด ไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งต้นน้ำลำธาร แต่ยังเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน ป่าที่เห็นบนดอย เป็นป่าที่อุดมไปทั้งพืชยืนต้น ที่ให้ความร่มรื่น ชุ่มชื้น และพืชเศรษฐกิจ จากต้นกาแฟ ที่ขึ้นแน่นดอย  นอกจากนี้บริเวณตีนดอย ชุมชนยังได้กันพื้นที่ไว้ปลูกพืชล้มลุก อาทิ ฟักแม้ว ถั่ว พริก สำหรับทั้งไว้กิน และขาย

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ชุมชนไม่ต้องไปซื้อเครื่องปรับอากาศมาใช้ เพราะอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ชุมชนไม่ต้องซื้ออาหาร เพราะเนื้อสัตว์และพืชผัก ก็หาได้จากป่า เหมือนคำพูดที่ผู้ใหญ่บ้าน จักรพงษ์ มงคลคีรี ผู้นำชุมชนบ้านห้วยปลาหลด กล่าวว่า

          ป่าให้ทั้ง น้ำ อากาศดี ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีทั้งเนื้อสัตว์ และ พืชผัก รวมทั้งรายได้ ให้แก่ชุมชน

          ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากป่าของบ้านห้วยปลาหลด มีตลาดมูเซอ เป็นแหล่งรองรับ ชาวบ้านสามารถนำผลผลิตที่ตนผลิตได้มาขายในตลาด โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งเมล็ดกาแฟ นำมาคั่วบด และชงขาย เปิดเป็นร้านกาแฟของชาวบ้านในตลาดนั้นเช่นกัน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ขยายผลสู่ความยั่งยืน

          ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ไม่ว่าจะทำอะไร จะกินอะไร หรือทำการเกษตร เราอาศัยป่าตลอด เด็กตัวน้อยก็เห็นพ่อแม่ตัวเองทำกินอย่างนี้ ก็เป็นการปลูกฝังให้เด็กไปในตัว
          เด็กๆ ในหมู่บ้านห้วยปลาหลดจะเป็นกำลังสำคัญของชุมชนต่อไปในอนาคต ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยคนรุ่นต่อไปที่สานเจตนารมณ์ต่อจากคนในรุ่นนี้ และเพียงชุมชนบ้านห้วยปลาหลดชุมชนเดียว ก็ไม่สามารถดูแลป่าทั้งป่าได้ แต่ชุมชนใกล้เคียงก็ต้องช่วยกันดูแลด้วยเช่นกัน

ภายในชุมชน

 “ทำไมต้องกั้นไม้ตรงนี้

ทำไมต้องเอาไม้มาตอกตรงนี้

ทำไมต้องกวาดใบไม้แห้งในป่าออก

ทำไมต้องกวาดใบไม้แห้งให้ห่างกันขนาดนี้

          เหล่านี้คือคำถามของเด็กๆ ในโรงเรียนของชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ที่ต่างกระตือรือร้นช่วยเหลือพ่อแม่ในเรื่องเกี่ยวกับการักษาป่าและน้ำ เมื่อพ่อแม่เข้าป่าไปสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ทำแนวกันไฟ ลูกหลานก็
          จะติดตามไปดู และช่วยลงมือทำด้วย รวมทั้งคอยซักถามเพื่อเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้นับเป็นการปลูกฝังทัศนคติให้กับเยาวชนรุ่นหลัง ได้สานต่อการทำงานของผู้ใหญ่ได้ในอนาคต
          นอกจากนี้ ชุมชนยังร่วมกับหน่วยจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานฯ จัดค่ายเยาวชน ที่มีนักเรียนทั้งในชุมชน และชุมชนใกล้เคียงเข้าร่วม เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการดูแลและรักษาป่า รวมทั้งระบบนิเวศต้นน้ำ ปีละ 3 รุ่น

ภายนอกชุมชน

จากผลงานที่ชุมชนร่วมกันดูแล รักษาป่าต้นน้ำ จนได้น้ำกลับคืน ชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เริ่มเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อเรียนรู้ และนำไปพัฒนาป่าของตน ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการป่าที่ทำให้ชุมชนอื่นสนใจเข้ามาศึกษาดูงาน คือ การรักษาป่า การอยู่ร่วมกับป่า และ กติกาการดูแลป่า

คะแนนเต็ม 4.7 / 5. จำนวนผู้โหวต : 3

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้