ชุมชนบ้านโนนรัง อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา

สภาพปัญหา

          ชุมชนบ้านโนนรัง มีพื้นที่แหล่งน้ำอยู่ห่างไกลจากชุมชน ยากแก่การนำมาอุปโภค อีกทั้งปริมาณน้ำฝนน้อย และชุมชนขาดแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง จึงเกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตร ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ชาวบ้านต้องกู้หนี้ยืมสิน

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

          พ่อจันทร์ที ประทุมภา ปราชญ์ชาวบ้านแห่งชุมชนบ้านโนนรัง เริ่มเรียนรู้จากการเป็นหนี้ ในปี พ.ศ. 2525 ทรัพย์สินที่ดิน โรงสีข้าว และหมูแม่พันธุ์ 80 ตัว ต้องจำใจขายทิ้งชดใช้หนี้ที่เกิดจากความอยากรวย เชื่อคนชักชวนให้เป็นนายหน้าหาคนทำงานเมืองนอก สุดท้ายกลับถูกโกงจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว แต่พ่อจันทร์ทีก็ต่อสู้โชคชะตาด้วยความเพียรและซื่อสัตย์สุจริต ไปทำงานก่อสร้างที่มาเลเซีย เก็บหอมรอมริบในที่สุดสามารถใช้หนี้ ไถ่ที่นาคืน แต่ยังไม่มีทุนหมุนเวียนทำเกษตร ได้แต่ทำนาเกี่ยวข้าวเข้ายุ้งฉางกินไปวันๆ สุดท้ายค้นพบทางออก ด้วยการเริ่มต้นขุดสระน้ำประจำไร่นา เปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสานและเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ

 

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

                       พ่อจันทร์ที ประทุมภา

การจัดการของชุมชน

ขุดสระน้ำ-ทำเกษตรผสมผสาน

          ในปี พ.ศ. 2534 พ่อจันทร์ที ได้เริ่มต้นขุดสระน้ำในครัวเรือน กว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร ลึก 3 เมตร และทำการเกษตรผสมผสานในพื้นที่ 2 งาน สามารถออมน้ำไว้ปลูกมะละกอ ฝรั่ง กล้วย ข่า และพืชผักต่างๆ จนเต็มพื้นที่ มีธัญญาหารไว้เก็บกินอิ่มท้อง มีรอยยิ้มกลับคืนมา

          สระน้ำที่ขุดแรกๆ ยังมีปัญหาเก็บน้ำไม่อยู่ จึงเปลี่ยนวิธีการขุด ให้เป็นบ่อขนาดเล็กลง แต่กระจายออกเป็นหลายๆ สระ ด้วยคิวดินที่เท่ากัน เพื่อเรียนรู้ว่ารูปแบบสระใดจะเหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากกว่ากัน สระน้ำที่ได้ ทำการแยกใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น กักพันธุ์ปลา เลี้ยงปลา อนุบาลปลา กักเก็บน้ำอย่างเดียว ขุดเป็นสระลึกเพื่อดักปลา ขุดเป็นคลองเชื่อมเข้าไร่นา โดยรอบสระทำการปลูกแฝก ไม้ให้ร่มหลากหลาย เพื่อให้ผืนดินร่มรื่น เก็บรักษาน้ำไว้ใช้ได้ยาวนาน

          ความเพียรเกิดผล ปัญญาจึงเกิดตาม การมีแหล่งน้ำเป็นของตนเองทำให้ไม่ต้องออกไปหาเงินนอกบ้าน แต่เงินกลับมาหาเราเองถึงใต้ถุน น้ำมีคุณค่า ทำให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ปลดหนี้สิน พื้นที่เกษตรผสมผสานจึงถูกขยายเป็น 6 ไร่ ในปี พ.ศ. 2536 เพาะปลูกได้กำไร 29,550 บาท ขยายเป็น 12 ไร่ ในปี พ.ศ. 2537 เพาะปลูกได้กำไร 39,180 บาท และ เป็น 22 ไร่ ในปี พ.ศ. 2538 เพาะปลูกได้กำไร 62,670 บาท มีสระน้ำรวม 10 สระ พร้อมกับจัดการที่ดินและแหล่งน้ำตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อทำการเกษตรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยแบ่งพื้นที่เป็น นาข้าว 30 ส่วน พืชสวน/พืชไร่ 30 ส่วน สระน้ำ 30 ส่วน และ ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ 10 ส่วน

วางแผนการเพาะปลูก

          การจดบันทึกบัญชีครัวเรือน เพื่อดูรายรับ-รายจ่าย ทำให้ได้รู้ตนเองอย่างมีสติ นำไปสู่การวางแผนการเพาะปลูก ปลูกทุกอย่างที่ต้องซื้อกิน เหลือกินได้แจก เหลือแจกได้ขาย สั่งสมประสบการณ์ พัฒนาการเพาะปลูกเป็นการทำเกษตรปราณีต วางแผนในการปลูกเป็นรายวัน สัปดาห์ เดือน ปี เพื่อได้รู้ว่าเราจะมีอะไรออกมาในช่วงเวลาใดบ้าง ต้องใช้น้ำให้เป็นประโยชน์ที่สุด โดยวิธีการปลูก จะปลูกพืชหลายชนิดหมุนเวียนกันไป ไม่ปลูกพร้อมกัน เพื่อให้มีผลผลิตออกขายได้ทุกวัน ไม่ซ้ำกัน วางแผนให้ตรงกับช่วงที่ราคาดี ซึ่งต่างกับเกษตรกรรายอื่นที่ปลูกพืชชนิดเดียว แล้วเทขายพร้อมๆ กัน ผลผลิตจึงล้นตลาด ได้ราคาไม่ดี ชาวบ้านกำหนดราคาไม่ได้ เพราะแย่งกันขาย

          การวางแผนตารางการเพาะปลูกอย่างละเอียดนี้ ทำให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร หมุนเวียนออกมาสร้างรายได้ต่อเนื่อง และเกิดจุดต่างจากเกษตรกรทั่วไป ซึ่งอาจฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่กว่าจะเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติ จนสามารถคัดสรรพืชที่ปลูกให้ตรงกับจังหวะเวลาได้ ต้องสั่งสมจากประสบการณ์ กลายเป็นองค์ความรู้ แล้วจึงงอกงามเติบโตเป็นภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้านนั้นไม่ใช่นักวิชาการ แต่เป็นนักปฏิบัติ ที่เรียนรู้จากวิถีชีวิตและประสบการณ์จริง

การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

          ภูมิปัญญาทำให้ น้ำทุกหยดถูกใช้อย่างรู้คุณค่ามากที่สุด ข้าวนาปี ต้องดำนาโดยปักกล้าอิงกับตะวัน ปลูกตามแนวทิศเหนือใต้ วางแนวแบบสับหว่าง เพื่อให้ข้าวรับแสงแดดได้ทั้งยามเช้าและบ่าย ไม่ขวางทางลม ข้าวไม่ล้ม ออกรวงทองได้งอกงาม รอบคันสระปลูกไม้ผล ไม้ใช้สอย ไม้ให้ร่มเงาที่ใช้น้ำน้อย แซมด้วยพืชผักรอบต้นไม้หลัก ได้ทั้งร่มเงาและเวลารดจะประหยัดน้ำมากกว่า เศษวัชพืชและหญ้าไม่ต้องตัดบ่อย ปล่อยให้ขึ้นบ้างเพราะช่วยคลุมดินช่วยลดการระเหย ปลูกกล้วยกินจนหมดวัย ตอนฟันทิ้งอย่าตัดถึงโคน ให้เหลือลำต้นไว้ น้ำจากต้นจะคายลงคืนดิน และทำเกษตรอินทรีย์ปรับสุขภาพดินจนกลับสู่ความสมบูรณ์ เพราะธรรมชาติสร้างคืนไม่ทัน เราต้องช่วยธรรมชาติฟื้น

ขยายผลสู่ความยั่งยืน

          เมื่อภูมิปัญญาที่ผ่านการลงมือทำได้ผล เครือข่ายความคิดได้ขยายออกไป โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา ระยะแรกเริ่มต้นมีสมาชิกจำนวน 12 คน ลงขันเป็นเงิน 5 ปีๆ ละ 100 บาท เพื่อตั้งเป็นกองทุนกลุ่ม ทุกคนขุดสระด้วยกำลังของตน จนมีแหล่งน้ำและเพาะปลูกได้ สมาชิกในหมู่บ้านเกิดความเชื่อมั่นในแนวทางจึงขยายการมีส่วนร่วมเป็น 120 ครัวเรือน โดยมีวิทยากรจำนวน 11 คน คอยถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องเกษตรผสมผสาน ให้กับเครือข่ายการเรียนรู้ชุมชน และขยายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีการอบรมหลักสูตรการเรียนรู้กระบวนการเพื่อเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง หรือ วปอ.ภาคประชาชน

          จากใต้ถุนบ้านเล็กๆ ที่แทบถูกยึดเพราะหนี้สิน กลายเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ และได้พัฒนาเป็นมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาไทอีสานคืนถิ่น โดยมีชาวชุมชนบ้านโนนรัง และเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน ร่วมกันเป็นเครือข่ายการทำงาน ซึ่งเน้นสร้างองค์ความรู้เพื่อจัดการปัญหาของตน มีความพอเพียง พึ่งตนเอง พึ่งพากันเอง ทดแทนการพึ่งเงิน พึ่งตลาด พึ่งวัตถุ และพึ่งคนอื่นอยู่ตลอดเวลา

          บทเรียนในการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เครือข่ายการเรียนรู้ชุมชนบ้านโนนรัง สรุปออกมาเป็นทฤษฏีความสุข มีด้วยกัน 8 หมวด คือ 1.มีหลักประกันชีวิตที่ดี (ปลูกต้นไม้) 2.ครอบครัวอบอุ่น 3.สุขภาพดี 4.สิ่งแวดล้อมดี 5.มีอิสรภาพ 6.มีความภาคภูมิใจ (ในสิ่งที่ตนเองมี) 7.ชุมชนเข้มแข็ง 8.เข้าถึงธรรม (ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ)

          การขยายความคิดเรื่องทฤษฏีความสุขนี้ พ่อจันทร์ทีตั้งเป้าหมายว่า ใน 3 ปีข้างหน้า ร้อยละ 80 ของคนในชุมชนบ้านโนนรัง จะเข้ามาร่วมเรียนรู้ หันมาพึ่งตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว และทำการเกษตรภูมิปัญญา โดยนำเยาวชนรุ่นต่อไปมาเรียนรู้พร้อมๆ กับผู้ใหญ่ ถ่ายทอดกันจากภายในครอบครัว เพื่อสืบทอดให้ชุมชนบ้านโนนรังมีทรัพย์ในดิน มีภูมิปัญญาในตัวคน และมีมรดกทางวัฒนธรรม สมดังบทผญาอีสานโบราณที่ด้นไว้ว่า “อีสานนี้ ดินดำน้ำชุ่ม ปลากลุ่มบ้อน คือแข้แก่งหาง ปลานางบ้อน คือขางฟ้าลั่น จักจั่นฮ้อง คือฆ้องเพิ่นลั่นยาม คนมีศีล ดินมีน้ำบ่ได้ขาดเขินบก สกุณาแนวนกชื่นชมอยู่ปลายไม้”

 

 

คะแนนเต็ม 4.5 / 5. จำนวนผู้โหวต : 2

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้