ชุมชนปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
สภาพปัญหาของชุมชน
สภาพภูมิประเทศตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นที่ราบลุ่ม ในฤดูฝนจะประสบปัญหาอุทกภัย เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่นาเป็นประจำทุกปี ไม่สามารถทำนาตามฤดูกาลได้ เกษตรกรจึงหันมาทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งแทน แต่ปริมาณน้ำก็ไม่เพียงพอ ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง
ปี พ.ศ. 2517 เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรทำนาปรังตำบลปะกาฮะรัง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยในระยะเริ่มแรกใช้กังหันลมวิดน้ำจากคลองระบายน้ำ ต่อมาได้ขอความช่วยเหลือการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากหน่วยปฏิบัติการสูบน้ำที่ 12 สำนักชลประทานที่ 12 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อสูบน้ำจากคลองระบายน้ำขึ้นมาใช้ทำนาในฤดูแล้ง โดยมีการเก็บค่าจัดการน้ำจากสมาชิกเป็นข้าวเปลือกเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องสูบน้ำ
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2545 กรมชลประทานได้ก่อสร้างระบบส่งน้ำและระบบคันคูน้ำขึ้นในพื้นที่ตำบลปะกาฮะรัง กลุ่มเกษตรกรทำนาปรังจึงได้รับน้ำจากคลองส่งน้ำชลประทานสำหรับใช้ในการเพาะปลูก รวมทั้งอุปโภคและบริโภค ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 กลุ่มเกษตรกรทำนาหลายกลุ่มได้รวมตัวกันจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานปะกาฮะรัง” หรือกลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรัง มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารการใช้น้ำชลประทานให้ทั่วถึง เป็นธรรม และก่อประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกทุกคน โดยมีสมาชิกเริ่มแรกในขณะนั้น 130 คน กลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรัง ได้บริจาคที่ดินเพื่อก่อสร้างระบบคันคูน้ำ และมีส่วนร่วมในการวางแนวคูส่งน้ำ มีการวางแผนการส่งน้ำร่วมกับกรมชลประทาน ทำให้ชุมชนปะกาฮะรังได้รับน้ำจากคลองส่งน้ำเพียงพอ สามารถทำนาครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น และผลผลิตดีขึ้น
การจัดการของชุมชน
ชุมชนปะกาฮะรังประสบปัญหาน้ำหลากเป็นประจำทุกปี ในฤดูฝนน้ำก็หลากเข้าท่วมพื้นที่นา ไม่สามารถทำนาปีได้ ต้องทำนาปรังได้เพียงอย่างเดียว เมื่อยังไม่สามารถป้องกันและแก้ปัญหาน้ำที่หลากมาเป็นประจำทุกปีได้ เกษตรกรจึงต้องปรับแผนการเพาะปลูก เปลี่ยนมาปลูกพันธุ์ข้าวเบาที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและต้องการน้ำในช่วงสั้นๆ โดยใช้น้ำจากระบบชลประทาน ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น ภายใน 4 เดือน เป็นการลดความเสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วม และยังทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันได้ผลผลิตข้าวมากกว่า 800 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนระยะเวลาที่เหลืออีก 8 เดือน ชุมชนบริหารจัดการน้ำจากระบบชลประทาน มาใช้ทำการเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง
บริหารการใช้น้ำชลประทาน
การจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนปะกาฮะรัง เป็นการบริหารจัดการน้ำจากระบบชลประทานโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานปะกาฮะรัง ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารกลุ่มฯ และสมาชิกจำนวน 130 คน จาก 8 หมู่บ้าน ในตำบลปะกาฮะรัง จะร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในการวางแผนการส่งน้ำให้กับสมาชิก ครอบคุลมพื้นที่ชลประทานกว่า 8,000 ไร่ ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่3 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี กรมชลประทาน
กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานปะกาฮะรัง แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มจะมีนายตรวจนาที่ได้รับคัดเลือกจากสมาชิกผู้ใช้น้ำในพื้นที่ของแต่ละคูส่งน้ำเป็นหัวหน้ากลุ่ม ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานราชการ ประชุมพิจารณาแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่ชลประทาน ตลอดจนควบคุม ดูแล และตรวจสอบการใช้น้ำของสมาชิกให้เป็นไปตามกฎระเบียบของกลุ่ม
การบริหารจัดการน้ำชลประทานของกลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรัง จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ก่อนดำเนินการส่งน้ำ ระหว่างดำเนินการส่งน้ำ และหลังการส่งน้ำ
ก่อนดำเนินการส่งน้ำ นายตรวจนาจะจัดประชุมผู้ใช้น้ำเพื่อวางแผนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ แล้วรวบรวมความต้องการใช้น้ำทั้งหมดไปใช้วางแผนการส่งน้ำร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เพื่อจัดรอบเวรการรับน้ำของผู้ใช้น้ำแต่ละราย
ระหว่างดำเนินการส่งน้ำ สมาชิกผู้ใช้น้ำจะต้องปฏิบัติตามระเบียบและกติกาการใช้น้ำที่ตกลงกันไว้ โดยนายตรวจนาจะคอยตรวจสอบและควบคุมให้ผู้ใช้น้ำใช้ตามรอบเวร
หลังการส่งน้ำ นายตรวจนาจะสอบถามความคิดเห็นสมาชิกผู้ใช้น้ำถึงปัญหาการส่งน้ำที่ผ่านมา และตรวจสอบว่าสมาชิกได้รับน้ำทั่วถึงทุกคนหรือไม่ แล้วรวบรวมปัญหาแจ้งให้คณะกรรมการกลุ่มรับทราบ เพื่อหาทางแก้ไขและปรับปรุงแผนการส่งน้ำ ไม่ให้เกิดปัญหาในการส่งน้ำครั้งต่อไป
ควบคุมการใช้น้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ
กลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรังจะมีการควบคุมปริมาณการใช้น้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน โดยนายตรวจนาเป็นผู้ควบคุมน้ำในระดับแปลงนา และคณะกรรมการเป็นผู้ควบคุมน้ำในระดับคลองซอย ในกรณีที่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ ก็จะให้สมาชิกทุกคนรับน้ำเฉลี่ยพร้อมกัน แต่หากมีน้ำต้นทุนไม่เพียงพอก็จะจัดรอบเวรให้รับน้ำตามที่กำหนด
การบำรุงรักษาคูน้ำ
ด้วยความตระหนักดีว่าคูส่งน้ำเป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกของชุมชน เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ใช้น้ำทุกคนที่จะต้องช่วยกันดูแลและบำรุงรักษา ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย กลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรังจึงมีการเก็บค่าบริการจัดการน้ำจากสมาชิก ตามจำนวนพื้นที่ ในอัตรา 530 บาท/ไร่/ปี โดยส่วนหนึ่งนำมาเป็นกองทุนในการบำรุงรักษาคูส่งน้ำ
ทุกปีสมาชิกจะร่วมกันบำรุงรักษาคูส่งน้ำ โดยการขุดลอกคูไส้ไก่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในช่วงก่อนทำนาปรังและก่อนปลูกพืชฤดูแล้ง รวมทั้งซ่อมแซมท่อส่งน้ำในคูน้ำที่ชำรุดให้มีสภาพที่แข็งแรงใช้งานได้ตลอดฤดูส่งน้ำ และซ่อมแซมอุดรูรั่วที่คันคูทันทีที่พบเห็น เพื่อไม่ให้ขยายกว้างออกไปจนเกิดความเสียหาย
นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันไม่ให้คูส่งน้ำได้รับความเสียหาย เช่น ค่อยๆ เปิดอาคารปากคูส่งน้ำเพื่อรับน้ำด้วยปริมาณน้อยๆ ป้องกันไม่ให้กระแสน้ำกัดเซาะคันคูเสียหาย ไม่เปิดหรืออัดน้ำเข้าคูส่งน้ำจนล้นหลังคู ไม่ฟันหรือเจาะคันคูเพื่อรับน้ำ ไม่ทิ้งขยะหรือสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำลงในคูน้ำ ปลูกหญ้าคลุมหลังคันคูเพื่อป้องกันน้ำฝนกัดเซาะดิน ปลูกหญ้าแฝกริมตลิ่งคลองระบายน้ำ เพื่อป้องกันการกัดเซาะบริเวณคลองระบายน้ำ เป็นต้น
กฎระเบียบการใช้น้ำ
หากสามารถจัดการให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎระเบียบการใช้น้ำของกลุ่มได้อย่างเคร่งครัด ย่อมทำให้การจัดการน้ำเป็นไปด้วยความสะดวกและมีประสทธิภาพ ดังนั้นก่อนร่างกฎระเบียบของกลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรัง จึงมีการประชุมสมาชิกผู้ใช้น้ำทุกคน ให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการร่างกฎระเบียบและลงมติร่วมกัน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติตาม และให้นายตรวจนาเป็นผู้ควบคุมดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด หากมีผู้ฝืน นายตรวจนาจะดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน โดยขั้นแรกจะเป็นการแจ้งเตือนและขอให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่หากยังฝ่าฝืนอีกครั้ง นายตรวจนาจะรายงานให้คณะกรรมการทราบและลงโทษสมาชิกผู้ฝ่าฝืนตามกฎระเบียบที่วางไว้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมีผู้ฝ่าฝืนน้อยมาก และนายตรวจนาสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี เพราะสมาชิกผู้ใช้น้ำให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ได้ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัดและเชื่อฟังนายตรวจของตนเอง
การป้องกันภัยน้ำท่วม
จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลปะกาฮะรังเป็นประจำทุกปีโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ชุมชนจึงต้องมีมาตรการในการป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นจากน้ำท่วม โดยประสานงานกับกรมชลประทานเพื่อขอข้อมูลและเตือนภัย มีการฝึกอบรมชาวบ้านและการฝึกซ้อมเพื่อบรรเทาภัยจากอุทกภัย ก่อนฤดูน้ำท่วมจะมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกให้ตระหนักถึงภัยที่มากับอุทกภัย จัดตั้งระบบพื้นที่หลบภัย ฝึกซ้อมการอพยพหนีภัย รวมทั้งมีการติดตามข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน ปริมาณฝน และแจ้งให้สมาชิกรับทราบ ตลอดจนการอบรมสมาชิก อพปร. เพื่อคอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม
ดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้นำชุมชนปะกาฮะรัง ได้ปลูกฝังให้สมาชิกยึดถือแนวทางพระราชดำริในด้านการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการปลูกข้าวโดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ให้พอมีพอกินก่อน แล้วจึงปลูกพืชเสริม รวมทั้งไม่ปลูกพืชตามกระแสนิยม ลดการใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทน โดยมีการทำปุ๋ยชีวภาพจากหอยเชอรี่ เนื่องจากหอยเชอรี่มีมาก ทุกปีชุมชนจะจัดกิจกรรมรับซื้อหอยเชอรี่ไปทำปุ๋ยหมักน้ำชีวภาพแจกให้สมาชิกฟรีไม่คิดค่าบริการ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน โดยใช้ระบบชลประทานทำไร่นาสวนผสม นอกจากปลูกข้าวแล้ว มีการปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด ปลูกผักสวนครัว เช่น พริก ถั่วฝักยาว มะเขือ และเลี้ยงปลาในกระชัง
รู้ รัก สามัคคี
ด้วยวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรังทุกคนดำรงตนบนหลักศาสนา มีความศรัทธา และรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม แม้ในพื้นที่จะมีสถานการณ์รุนแรงต่อเนื่อง แต่สมาชิกกลุ่มก็ยังรวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น เป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้ด้วยความ “รู้ รัก สามัคคี”
ความ “รู้รักสามัคคี” ที่ประกอบไปด้วย “ความรู้” “ความรัก” และ “ความสามัคคี” เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ควรช่วยกันพัฒนาให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่มีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้ง รุนแรงกันมากขึ้น
“รู้” คือ รู้ต้นเหตุ รู้ปลายเหตุ รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา ก่อนที่จะลงมือทำ จึงจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ชุมชนรู้ถึงปัญหาที่เกิดจากอุทกภัย จึงหันมาทำนาปรังแทนนาปี และยังส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต
“รัก” คือ เมื่อรู้แล้วก็ต้องมีความรัก ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการกระทำ และเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ และความรักก็ยังนำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ชุมชนปะกาฮะรังมีทั้งความรักที่จะเข้าไปลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และความรักต่อกันที่มุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาเพื่อส่วนรวม การบริหารจัดการน้ำของชุมชนจึงมีเป้าหมายให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นหลัก
“สามัคคี” คือ การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่า เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี กลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรังเป็นตัวอย่างที่ดีของการร่วมมือระหว่างกรมชลประทานและชุมชนจนประสบผลสำเร็จ ภายในชุมชนด้วยกันเองก็มีความสมัครสมานสามัคคี เมื่อมีการประชุมทุกครั้ง สมาชิกผู้ใช้น้ำจะตระหนักถึงความสำคัญ และเข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียงกัน เช่น ประชุมคัดเลือกนายตรวจนา วางแผนการส่งน้ำ วางแผนการจัดรอบเวรน้ำ วางแผนการปลูกพืช แก้ไขปัญหาขัดแย้งการใช้น้ำ
ด้วยความ รู้ รัก และ สามัคคี ทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรังสามารถผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาต่างๆ มาได้ และสามารถบริหารจัดการน้ำให้แก่สมาชิกทุกคนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ชุมชนจึงเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันที่ดี ประชาชนอยู่ดีมีสุข เป็นแบบอย่างอันดีของความสำเร็จที่มาจากความรู้รักสามัคคีอย่างแท้จริง
ขยายผลสู่ความยั่งยืน
ผลงานของกลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรัง ในการบริหารจัดการน้ำชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรังได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2546 ได้รับรางวัลชนะเลิศกลุ่มบริหารการใช้น้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ปี 2547 ชนะเลิศกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานระดับภาคใต้ ปี 2548 รองชนะเลิศสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ และปี 2549 ชนะเลิศสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ
ผลแห่งความสำเร็จของกลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรังดังกล่าว เป็นตัวอย่างให้กลุ่มผู้ใช้น้ำนอกเขตจังหวัดปัตตานีหลายกลุ่มได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำชลประทาน เพื่อนำไปพัฒนาการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ ส่วนเครือข่ายภายในจังหวัดนั้น กลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรังได้มีความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำอื่นๆ ในเขตฝายส่งน้ำและบำรงรักษาที่ 3 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี กรมชลประทาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้คัดเลือกประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำปะกาฮะรัง เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในภูมิภาคเอเชีย ที่ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคเอเชีย