บ้านทับคริสต์ อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และสระพวง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ชุมชนทับคริสต์ อพยพย้ายถิ่นฐานจากภาคกลาง มาตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัด สุราษฎร์ธานี เพื่อประกอบอาชีพทำการเกษตรเชิงเดี่ยว แต่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงได้ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานแหล่งน้ำ
          ปี พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ ให้กรมชลประทานดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำบางทรายนวล ตามพระราชดำริ ขึ้นที่ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นี้

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          นายปกิต ทนุผล ประธานกลุ่มบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำบางทรายนวล ชุมชนทับคริสต์ เล่าว่า ในการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำบางทรายนวลขึ้น เพื่อจัดสรรน้ำอย่างเป็นธรรมและเป็นระบบ โดยจัดรอบเวรการเปิด-ปิดน้ำ จนสามารถกระจายน้ำไปเก็บสำรองไว้ในสระน้ำประจำสวน ในลักษณะเป็นสระพวง เพื่อใช้ในแปลงเกษตรได้ กว่า 3,600 ไร่ นอกจากนั้น ยังให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต โดยยึดแนวทางทฤษฎีใหม่ จนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และรายจ่ายลดลง เกิดการรวมกลุ่มการผลิตเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำให้ชาวบ้านทับคริสต์ต่างมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
          นายปกิต กล่าวว่า “เมื่อได้มาทำงานร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความประทับใจ ในวิธีการหาน้ำ ใช้น้ำ เก็บน้ำ บริหารจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืนตามภูมิสังคม โดยไม่ต้องก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ก็สามารถบรรเทาปัญหาน้ำในพื้นที่ได้” และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ชุมชนทับคริสต์ก็พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบสระพวงนี้ ให้แก่ชุมชนอื่นๆ โดยจะรักษารูปแบบ วิธีการและพัฒนาการจัดการน้ำชุมชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

สภาพปัญหา

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ชุมชนบ้านทับคริสต์ได้อพยพย้ายถิ่นมาจากภาคกลางของประเทศไทย มาตั้งถิ่นฐานอยู่บนลุ่มน้ำตาปี ในพื้นที่ตำบล คลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีประชากร 1,050 คน อาศัยอยู่บนพื้นที่ 9,444 ไร่ (15.11 ตารางกิโลเมตร) โดยแบ่งพื้นที่ 5,848 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ทำกิน ประกอบด้วย ไม้ผล – ไม้ยืนต้น 5,734 ไร่ (ร้อยละ 98.0) พื้นที่ สระน้ำ, ไม้ประดับ (ร้อยละ 2.0)

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ชุมชนทำเกษตรเชิงเดี่ยว ประสบความเสี่ยงทั้งน้ำท่วม – น้ำแล้ง และผลผลิต ขาดรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี ต่อมาปี 2527 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้กรมชลประทาน ดำเนินการสร้าง อ่างเก็บน้ำบางทรายนวล แต่เนื่องจากขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดี ชุมชนบ้านทับคริสต์ที่อาศัยอยู่ปลายน้ำยังคงได้รับผลกระทบจาก การขาดแคลนน้ำในฤดูน้ำแล้ง ต้องซื้อน้ำดื่มเนื่องจากคุณภาพน้ำไม่ดี แต่เมื่อถึงฤดูฝนเกิดน้ำท่วมหลาก สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตร

แนวพระราชดำริในการแก้ปัญหา

          ชุมชนบ้านทับคริสต์ ได้จัดตั้ง “กลุ่มบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำบางทรายนวล” ดำเนินงานจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เพื่อบริหารจัดการและจัดสรรน้ำชุมชน และต่อมามูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ งานฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ช่วยกันสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเพื่อช่วยดักตะกอนทรายและกักเก็บความชุ่มชื้น สมาชิกผู้ใช้น้ำจัดทำระบบจัดสรรน้ำในรูปแบบของสระพวง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง รวมทั้งได้กำหนดกฎ กติกา การจัดสรรน้ำไปยังครัวเรือนผ่านระบบท่อส่งน้ำ และอาคารบังคับน้ำล้นของกรมชลประทาน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          เมื่อบริหารจัดการน้ำแล้ว เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีใหม่ เกิดความร่วมมือใหม่ๆ เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ (อพ.สธ.) จัดหาการเพาะพันธุ์พืชท้องถิ่น อนุรักษ์ผืนป่า ประมาณ 2000 ไร่ ให้เป็นแหล่งสะสมน้ำและความชุ่มชื้น จัดตั้งป่าชุมชนร่วมกับกรมป่าไม้ และหน่วยงานท้องถิ่น (เทศบาลตำบลคลองชะอุ่ม) ทั้งนี้ สมาชิกชุมชนยังช่วยกันจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชน” เพื่อสนับสนุนสินค้าทางการเกษตรและการขายสินค้า ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่ม สามารถลดหนี้สินและลดรายจ่ายในการซื้อน้ำดื่มได้อีกด้วย

การเปลี่ยนแปลง

          ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวล พื้นที่ 2,000 ไร่ ร่วมกันกำจัดเถาวัลย์ ขนาดใหญ่ที่เกาะอยู่กับต้นไม้ใหญ่ เพื่อลดความเสียหายต่อต้นไม้ใหญ่ในป่าต้นน้ำ รวมทั้ง จัดทำระบบสำรองน้ำ มีปริมาณน้ำ สำรอง รวม 2.43 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำจากสระพวงกว่า 160 สระ ที่ขุดขึ้นเพื่อเก็บสำรองน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวล มีปริมาณกักเก็บ รวม 230,000 ลบ.ม. และบรรเทาความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วง จำนวน 1,000 ไร่ ลดความเสียหายได้ 13.83 ล้านบาท

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          กฎระเบียบและกติกาที่ “กลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำบางทรายนวล” ตั้งขึ้นมาสามารถกระจายน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และทำการเกษตรให้กับ 160 ครัวเรือน ในพื้นที่ 3,600 ไร่ นอกจากนี้ กลุ่มฯ ได้จัดตั้งกองทุนดูแลรักษาท่อส่งน้ำ โดยปรับเพิ่มค่าบำรุง จากเดิมจ่ายแปลงละ 100 บาท ในปี 2559 ปรับเป็นไร่ละ 50 บาท เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำด้วยตนเอง
          ชุมชนได้ติดตั้งระบบกรองน้ำดื่มชุมชน บริเวณศาลาประชาคมหมู่บ้าน โดยนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำผ่านระบบประปา มาผ่านระบบกรองน้ำดื่มพร้อมระบบควบคุม ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด ปีละ 972,000 บาท นอกจากนี้ ชุมชนได้ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน จากการปลูกไม้ผลเพียงอย่างเดียว เปลี่ยนมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ต้นยางพารา และต้นปาล์มน้ำมันเพิ่มเติม สร้างรายได้ขั้นต่ำ 591,000 บาท/ครัวเรือน/ปี เกิดวิสาหกิจชุมชนไม้ดอกไม้ประดับ มีกองทุนเพื่อการ พัฒนากลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 1.2 ล้านบาทให้กับชุมชน

          ปี พ.ศ. 2512 อพยพย้ายถิ่นจากภาคกลาง แถบจังหวัดราชบุรีและสมุทรสงคราม มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานีภายใต้การนำของผู้นำทางศาสนา (มิชชันนารี) โดยขอใช้ที่ดินจากทางราชการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี (นายคล้าย จิตพิทักษ์) และได้รับจัดสรรพื้นที่ป่าดงดิบจำนวน 5,000 ไร่ สำหรับทำกิน ตามนโยบายขยายพื้นที่ทำกินรองรับการเติบโตของประชากรของรัฐบาลในสมัยนั้น
          ปี พ.ศ. 2519 ทางราชการมีการให้สัมปทานป่าไม้ จึงเกิดการเปิดป่าอย่างรวดเร็วเป็นเหตุให้มีผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาจับจองที่ทำกินเป็นจำนวนมาก
          ปี พ.ศ. 2522 ประสบปัญหาภัยแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายอย่างรุนแรง และเกิดโครงการสระเก็บน้ำกลางหมู่บ้านขนาด 10 ไร่ (85,000 ลบ.ม.) ขึ้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำได้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน ราษฎรยังคงประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง
          ปี พ.ศ. 2527 ถวายฎีกา ขอพระราชทานแหล่งน้ำ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ ให้กรมชลประทาน ดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวล ตามพระราชดำริ
          ปี พ.ศ. 2529 – 2531 กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวล ตามพระราชดำริ พร้อมระบบท่อส่งน้ำความยาว 15.77 เมตร  ขนาดความจุ 2.2 ล้านลบ.ม. (สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร ยาว 164 เมตร ความลึก 32 เมตร) เพื่อเก็บน้ำไว้อุปโภค – บริโภค และเพื่อการเกษตรของราษฎร โดยรองรับน้ำฝนที่ตกรอบอ่างฯ ในพื้นที่ 2.75 ตร.กม. ใช้วิธีส่งน้ำผ่านระบบท่อโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก
          ปี พ.ศ. 2531 – 2534  เก็บสำรองน้ำต้นทุนจนเต็มความจุ เริ่มกระจายน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูก 3,000 ไร่ แต่ขาดคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการน้ำ ไม่มีระเบียบ กติกา หรือข้อตกลงร่วมกัน ทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวลฯ ลดระดับต่ำลง จนก่อให้เกิดสภาวะขาดแคลนน้ำใช้ทำเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง
          ปี พ.ศ. 2536 ชุมชนบ้านทับคริสต์รวมกลุ่มบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวล ดำเนินงานระบบกระจายน้ำแบบสระพวง เพื่อให้มีน้ำใช้ทำเกษตรได้ต่อเนื่องตลอดปี
          ปี พ.ศ. 2543 ชุมชนบ้านทับคริสต์ จัดตั้ง “กลุ่มบริหารการใช้น้ำบางทรายนวล” รับรองโดยโครงการชลประทาน สุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวล ตามพระราชดำริ
          ปี พ.ศ. 2551 เข้าร่วมประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และ ได้รับรางวัลชมเชย
          ปี พ.ศ. 2552 รับคัดเลือกจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ให้เป็นชุมชนแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นจุดเริ่มต้นการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
          ปี พ.ศ. 2553 – 2557 ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินงานต่อเนื่องด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ
          ปี พ.ศ. 2558 ได้รับเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ แห่งที่ 8 ของประเทศ เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการดำเนินงานบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และสระพวง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ปี พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน ดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ติดตั้งระบบกรองน้ำดื่มชุมชน และบริหารกองทุนดูแลรักษาท่อส่งน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำด้วยตนเอง

ปัจจัยความสำเร็จ

เพิ่มศักยภาพในการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะ
          ชุมชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด และสถานี โทรมาตร จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิกในชุมชน ส่งผลสำเร็จให้ชุมชนบ้านทับคริสต์สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูลวิเคราะห์สมดุลน้ำ และร่วมกันพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำ เกิดทักษะการเรียนรู้การวางแผนเพาะปลูกและบัญชีครัวเรือน เกิดวิสาหกิจชุมชนและกองทุนดอกไม้หมุนเวียน แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการสร้างขีดความสามารถเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของเกษตรกร สามารถกำจัด ความยากจน และสร้างคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน

เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชน สถาบันทางวิชาการ และหน่วยงานของรัฐ
          ชุมชนบ้านทับคริสต์ ได้มีส่วนร่วมดำเนินงานกับรัฐ ท้องถิ่น และกรมชลประทาน ในด้านการจัดการน้ำและกระจายน้ำ ควบคู่ไปกับการจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำฯ ร่วมกัน เช่นเดียวกับที่ได้รับการสนับสนุนให้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน และกองทุนดอกไม้หมุนเวียน ทำให้สมาชิกในชุมชนได้รับคำแนะนำ การสนับสนุนทางเทคนิคเพื่อการจัดการกองทุนและการเชื่อมโยงตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำเร็จ

เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ด้วยวิธีบูรณาการ การลดความเสี่ยงด้านน้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
          ชุมชนบ้านทับคริสต์ได้บูรณาการด้านการจัดการป่าต้นน้ำและปลายน้ำจนประสบผลสำเร็จ ช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

การฟื้นป่าต้นน้ำและน้ำต้นทุน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ชุมชนบ้านทับคริสต์ร่วมกันสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเพื่อช่วยดักตะกอนทรายและกักเก็บความชุ่มชื้นของป่าต้นน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวลที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญ มีการกำจัดเถาวัลย์ขนาดใหญ่ ที่เกาะอยู่กับต้นไม้ใหญ่ เพื่อลดความเสียหายต่อต้นไม้ ใหญ่ในป่าต้นน้ำ

ระบบกระจายน้ำสู่ปลายน้ำและระบบสระพวง ช่วยเพิ่มน้ำสำรอง และลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม น้ำแล้ง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          จากการวิเคราะห์สมดุลน้ำพบว่า ต้นทุนน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ประมาณ 0.3 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงฤดูแล้ง (เดือนเมษายน ถึง เดือนพฤษภาคม) ดังนั้น จึงควรบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ และกระจายไปยังพื้นที่การเกษตรอย่างเหมาะสม
          ระบบการกระจายน้ำ สามารถกระจายน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวลไปถึงชุมชน มีผู้ได้รับประโยชน์ 160 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 3,600 ไร่ ผ่านระบบท่อส่งน้ำ และอาคารบังคับน้ำ จัดทำระบบสระพวงเชื่อมกับแหล่งน้ำและกระจายน้ำผ่านคลองซอย นำน้ำไปเก็บไว้ในสระน้ำประจำไร่นา รวม 160 สระ ช่วยลดปัญหาน้ำหลากและมีน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง โดยมีปริมาณกักเก็บน้ำรวม 230,000 ลบ.ม. สามารถสำรองน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร ประมาณ 3 ถึง 7 วัน ในช่วงหน้าแล้ง บรรเทาความเสียหายจากฝนทิ้งช่วงในพื้นที่การเกษตร 1,000 ไร่

ปรับปรุงคุณภาพน้ำ

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
          ภายหลังการที่ชุมชนแก้ปัญหาน้ำและปรับปรุงคุณภาพน้ำได้แล้ว ชุมชนได้ติดตั้งระบบกรองน้ำดื่มและขายให้กับคนภายในชุมชนด้วยราคาที่เหมาะสม ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด นอกจากนี้ ชุมชนยังได้กำหนดกฎกติกาการใช้น้ำโดยยึดหลักของความเป็นจริงและความยุติธรรมเพื่อความเท่าเทียมกันและยั่งยืน
          การจัดสรรน้ำโดยระบบท่อส่งน้ำที่ได้กำหนดเวลาเปิด-ปิดการกระจายน้ำ นับเป็นต้นแบบ “การบริหารจัดการน้ำด้วยระบบท่อส่งน้ำและระบบสำรองน้ำในรูปแบบสระพวง” ในประเทศไทย

คะแนนเต็ม 3.3 / 5. จำนวนผู้โหวต : 3

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้