บ้านหนองตาจอน ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
สภาพปัญหา
ชุมชนบ้านหนองตาจอน ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ประสบปัญหาความแห้งแล้งมานานกว่า 29 ปี (นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2532) และป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมจากการถูกบุกรุก ทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก ขาดการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ลำคลองสาธารณะมีสภาพตื้นเขินและขาดการเชื่อมต่อ ทำให้ไม่สามารถระบายและกักเก็บน้ำไว้ได้
การเปลี่ยนแปลง
ชุมชนนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือ และในปี พ.ศ.2550 ชุมชนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช พระราชทานแนวทางแก้ปัญหาเรื่องน้ำจากภายในชุมชนเองเป็นหลัก โดยมีพระราชดำริให้ขุดลอกลำห้วยคต และปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม ดำเนินการภายใต้โครงการก่อสร้างฝายทดน้ำบ้านห้วยคตและฝายทดน้ำบ้านหนองตาจอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขุดลอกลำห้วยคตระยะทางรวม 8.5 กิโลเมตร พร้อมทั้งสร้างฝายทดน้ำและฝายน้ำล้นรวม 13 ฝาย
ต่อมาชุมชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาบริหารจัดการน้ำชุมชน ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้จัดทำแผนที่ ผังน้ำ วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ เกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นที่นอกเขตชลประทานอย่างเป็นระบบ
พ.ศ.2478 ชุมชนนี้ก่อตั้งโดยนายจอนที่มาบุกเบิกทำกินในชุมชนเป็นครอบครัวแรก เมื่อนายจอนเสียชีวิตลง ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านหนองตาจอน”
พ.ศ.2532 พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกบุกรุกทำลาย แหล่งน้ำตื้นเขินเสื่อมสภาพ น้ำเริ่มไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร
พ.ศ.2537 สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย เข้ามาปรับปรุงฟื้นฟูสระน้ำบ้านห้วยคต ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำของชุมชน
พ.ศ.2537 เกิด “ตลาดศรีเมือง” เป็นศูนย์กลางผลผลิตจากเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการโดยตรงในราคายุติธรรม ชุมชนได้ขยายอาชีพทำการเกษตรและส่งไปขายที่ตลาดศรีเมือง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
พ.ศ.2542 ชุมชนบ้านหนองตาจอนขยายครัวเรือนมากกว่า 300 ครัวเรือน มีประชากรมากกว่า 1,000 คน จึงแบ่งการปกครองเป็น 2 หมู่บ้าน (หมู่ที่ 10 บ้านหนองตาจอน และหมู่ที่ 16 บ้านเนิน) โดยใช้ลำห้วยคตเป็นแนวเขต 2 หมู่บ้าน
พ.ศ.2545 – 2548 เกิดวิกฤตน้ำแล้ง น้ำหลาก ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ทำให้ชุมชนขาดรายได้
พ.ศ.2549 นายจิตร เอี่ยมทอง ผู้แทนชุมชนได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือ
พ.ศ.2550 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
(รัชกาลที่ 9) พระราชทานพระราชดำริให้ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ
พ.ศ.2551 ขุดลอกลำห้วยคต เพิ่มระยะทางอีก 3.5 กิโลเมตร สร้างฝายทดน้ำเพิ่ม 1 ฝาย และฝายน้ำล้นจำนวน 8 ฝาย เพื่อกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ในลำห้วยคตให้ได้มากที่สุด
พ.ศ.2552 ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก.
พ.ศ.2553 จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านหนองตาจอน
พ.ศ.2554 – ปัจจุบัน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ร่วมกับพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน ทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร มีรายได้มั่นคง ครอบครัวดำเนินชีวิตอย่างอบอุ่น ชุมชนอยู่ดีมีสุข
แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา
ชุมชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ป่าและเป็นแหล่งต้นทุนน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมกับการพัฒนาคนในชุมชนและชุมชนเครือข่าย ให้สามารถดำเนินงานบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง
ชุมชนเรียนรู้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้จัดทำแผนที่และผังน้ำ จัดทำข้อมูลสมดุลน้ำเพื่อใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ สามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำ รวมทั้งปรับเปลี่ยนแนวคิดในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ร่วมขาย
ร่วมออม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน
บริหารจัดการน้ำแล้งน้ำหลากบนพื้นที่ลาดชัน
- อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น กำหนดขอบเขตอนุรักษ์ป่าต้นน้ำหุบมะหาด จัดทำแผนที่ขอบเขตป่าชุมชน พื้นที่ 3,000 ไร่ ครอบคลุม 2 หมู่บ้าน กำหนดข้อตกลง กฎกติกา และระเบียบ ในการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำ
- ระบบฝายขั้นบันได กักเก็บและกระจายน้ำ สร้างฝายกักเก็บน้ำ กำหนดค่าระดับให้ฝายแต่ละฝาย สามารถกักเก็บน้ำตามความลาดชันของพื้นที่เป็นช่วงๆ เรียงต่อกันเป็นขั้นบันไดได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งลำห้วยคต รวม 17 ฝาย
- ฝายวางระดับ แบ่งน้ำหลาก ปันน้ำเกิน วางค่าระดับของฝาย 2 ฝาย ให้สัมพันธ์กัน เพื่อแบ่งน้ำในลำห้วยโป่งเก้ง ออกเป็น 2 ทิศทาง สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งน้ำแล้งและน้ำหลากในระบบเดียวกัน โดยกำหนดระดับความสูงสันฝายต่างกันที่ 20 เซนติเมตร เพื่อแบ่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร
เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่
ชุมชนเปลี่ยนวิถีจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชผสมผสาน ทำให้มีผลผลิตและมีรายได้ตลอดทั้งปี ปัจจุบันเกษตรกร 315 ครัวเรือน มีรายได้ครัวเรือนรวม 64.26 ล้านบาทต่อปี
- รวมพลัง ร่วมขาย เกษตรกรรวมกลุ่มร่วมกันขายผลผลิต และกำหนดส่วนแบ่งรายได้ เกิดการหมุนเวียนขายผลผลิตของชุมชน ปัจจุบันมีตัวแทนขายผักของชุมชน 24 ราย สามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันส่งขายได้ทุกวัน มีรายได้รวม 4.90 ล้านบาทต่อปี
- รายได้ ร่วมออม เกิดกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ชุมชนนำรายได้จากการขายผลผลิตมาฝากที่กลุ่ม เริ่มจากคนละ 50 บาท แต่ไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน สมาชิกจะได้รับเงินปันผลร้อยละ 7 – 10 บาทต่อปี กำไรจากการบริหารกลุ่มจะถูกจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิก 300 คน ในการรักษาพยาบาลและฌาปนกิจ มีเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม 700,000 บาทต่อเดือน ยอดเงินรวมทั้งกลุ่ม 5 ล้านบาท
ความสำเร็จ
ความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ
1.การบริหารจัดการน้ำ
- สำรวจ จัดทำข้อมูลแหล่งน้ำและเส้นทางน้ำ ลำห้วย แหล่งกักเก็บสำรองน้ำ มาจัดทำแผนที่น้ำ ผังน้ำ
- ใช้ข้อมูล สำหรับวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุน โดยใช้ข้อมูลสมดุลน้ำมาวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
- หา คือ สำรวจพื้นที่เพื่อนำมาเป็นแนวทางหาพื้นที่กักเก็บน้ำ
- เก็บ คือ สร้างแหล่งสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อกักเก็บน้ำ
- ใช้ คือ ใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า ลดพื้นที่ทำนามาทำการเกษตรผสมผสาน และใช้น้ำน้อย
- จัดการ คือ บริหารจัดการน้ำหลากมาเก็บไว้ใช้อุปโภค – บริโภค และทำการเกษตรอย่างเป็นระบบ
2.อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
- จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเครือข่ายชุมชนบ้านหนองตาจอนเป็นแกนหลัก จัดทำขอบเขตป่าอนุรักษ์ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ไร่
- มีข้อตกลง กฏ กติกา และระเบียบ ในการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำร่วมกัน เกิดเครือข่ายการดูแลป่าต้นน้ำ
- ขยายผลแนวทางการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำตามแนวพระราชดำริ ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นร่วมกันระหว่างชุมชน เยาวชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จำนวน 30 ฝาย
- ขยายแนวคิด และการมีส่วนร่วมด้านการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในพื้นที่ชุมชน
3.การสร้างภูมิคุ้มกัน
- เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ร่วมขาย ร่วมออม ชุมชนได้เปลี่ยนวิถีจากการปลูกพืชชนิดเดียวหรือพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชผสมผสาน ทำให้มีผลผลิต และมีรายได้ตลอดทั้งปี เกิดการรวมกลุ่ม ร่วมปลูก ร่วมขาย ร่วมออม ปัจจุบันเกษตรกร 315 ครัวเรือน มีรายได้ครัวเรือนรวม 64.26 ล้านบาทต่อปี