บ้านเวียงคุก อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยระบบโครงข่ายน้ำ
วังบัวแดง ที่ตำบลเวียงคุก อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย แต่เดิมเคยเป็น “ป่าบุ่งป่าทาม” พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีป่าไม้หลากหลายชนิด มีสัตว์บกสัตว์น้ำอาศัยอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ มีลำห้วยลำธารหลายสาย มีพันธุ์ปลามากมาย ต่อมาชาวบ้านเข้ามาจับจองพื้นที่ แผ้วถางทำเป็นนาข้าว ทำพื้นที่เพาะปลูก ทำให้พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามถูกทำลาย
ปี พ.ศ. 2501 เริ่มก่อสร้างถนนสายหนองคาย – ท่าบ่อ เส้นทางการไหลของน้ำจึงเปลี่ยนไป ประกอบกับ ลำห้วยสาขาขาดการดูแล ปีใดที่มีน้ำมากจึงเกิดน้ำหลาก และเมื่อน้ำระบายลงสู่แม่น้ำโขงไม่ทัน ก็ท่วมขังในพื้นที่ นานนับเดือน นอกจากนี้ หนองเบ็ญ แหล่งน้ำในพื้นที่ ยังตื้นเขินจากดินตะกอนที่ทับถมและวัชพืชที่หนาแน่น จนกักเก็บน้ำได้น้อยลง เมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำในหนองแห้งขอดลงอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านขาดแคลนน้ำ จึงเริ่มบุกรุกแหล่งน้ำ ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งนี้ เกิดขึ้นซ้ำซากมานานกว่า 40 ปี
เมื่อประสบความเดือดร้อนมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2554 ชุมชนตำบลเวียงคุกจึงเข้าร่วม “โครงการจัดการน้ำชุมชนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยชุมชนอย่างยั่งยืน 84 แห่ง” ดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตำบลเวียงคุก โดยนำแนวพระราชดำริในการจัดการน้ำมาปฏิบัติ เริ่มจากสำรวจข้อมูลและสรุปปัญหาที่แท้จริง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด หรือ GPS จนเกิดแผนงานและแนวคิดที่เชื่อมโยงกับ พื้นที่จริง เพื่อดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำ ด้วยการขุดลอกคลองรอบหนองเบ็ญระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร เชื่อมต่อแหล่งน้ำให้สามารถระบายลงแม่น้ำโขงได้ และเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ ขุดลอกคลองเพื่อเปิดทางน้ำให้เข้าสู่เครื่องสูบน้ำจนสามารถกักเก็บน้ำ และกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชน และยังได้ขยายผลสำเร็จของงานออกไปยังเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน จนในปี พ.ศ. 2556 สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรในช่วงน้ำหลากได้มากกว่า 3,000 ไร่ กักเก็บน้ำและกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรในช่วงน้ำแล้งได้กว่า 12,000 ไร่ ระบบนิเวศเริ่มฟื้นคืน มีดอกบัวแดงเพิ่มขึ้นมากมายในวังบัวแดง ปลาต่างๆ ในแม่น้ำโขง เริ่มเข้ามาวางไข่และพบปลาท้องถิ่น เช่น ปลากราย ปลาตอง ปลาแขยง ปลาช่อน ปลากระดี่ พบนกประจำถิ่นและนกน้ำ เช่น นกเป็ดน้ำ นกปากห่าง นกเป็ดแดง นกไก่นา นกกระสาแดง สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งูเหลือม งูหลาม เป็นต้น มีพื้นที่ทำประมงท้องถิ่นมากขึ้น สร้างอาชีพ รายได้ให้ชุมชน
นายกระสันต์ ปานมีศรี ประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลเวียงคุก กล่าวว่า ชุมชนได้รับการ สนับสนุนและความช่วยเหลือจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ วิธีการ และกรอบคิดในการทำงาน ทำให้เรารู้ว่าน้ำเป็นเรื่องสำคัญเพราะน้ำคือชีวิต การพัฒนาแหล่งน้ำจึงเน้นให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศวังบัวแดงและรักษาระดับน้ำให้เหมาะสม โดยการขุดลอกคลอง เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำเชื่อมต่อแหล่งน้ำช่วยในการระบายน้ำ และพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยววังบัวแดง ชุมชนได้รับประโยชน์มากมาย ทั้งในเรื่องการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังนานวันและยังมีน้ำเพียงพอที่จะขยายพื้นที่ทำการเกษตร ให้มากขึ้น ที่สำคัญคือทำให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิดและร่วมกันดูแลรักษาแหล่งน้ำ เพื่อให้วังบัวแดงมีชื่อเสียง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าภาคภูมิใจของชาวหนองคาย
สภาพปัญหา
วังบัวแดง ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงคุก อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย อยู่ในลุ่มน้ำโขง มีประชากร 6,112 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่ 9,651 ไร่ โดยมีพื้นที่เกษตร 3,533 ไร่ ประกอบด้วย นาข้าว 2,862 ไร่ (ร้อยละ 81.0) พืชไร่ 567 ไร่ (ร้อยละ 16.0) ไม้ผล-ไม้ยืนต้น 91 ไร่ (ร้อยละ 2.6) และพืชผัก 13 ไร่ (ร้อยละ 0.4)
ในอดีตวังบัวแดงอยู่ในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ป่าบุ่งป่าทาม” เป็นแหล่งน้ำของตำบลเวียงคุก มีต้นกำเนิดมาจากภูเก้า-ภูพานคำ ไหลผ่านหนองน้ำเล็กสู่หนองน้ำใหญ่ ก่อนไหลออกสู่แม่น้ำโขง เคยมีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วย ปลา นก และพืชน้ำหลากหลายชนิด
ต่อมาระบบนิเวศของพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามถูกทำลาย พื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำถูกแผ้วถางทำเป็นนาข้าว และ ปี พ.ศ. 2501 เริ่มก่อสร้างถนนสายหนองคาย – ท่าบ่อ บุกรุกทางน้ำตามธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2509 เกิดผักตบชวามากกว่าบัวแดง ประกอบกับ ลำห้วยสาขาขาดการดูแลและขาดระบบระบายน้ำ ส่งผลให้ในปีที่มีน้ำมากจะเกิดน้ำหลากและท่วมขังในพื้นที่นานกว่า 30 วัน ต่อมาเกิดปัญหาตื้นเขินจากตะกอนและวัชพืชหนาแน่น ทำให้ประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำลดลง น้ำในหนองจึงแห้งลงอย่างรวดเร็ว ปลาท้องถิ่น เช่น ปลากราย ปลาตอง ปลาเนื้ออ่อน เริ่มสูญพันธุ์ และมีปลาต่างถิ่นมาแทนที่ เช่น ปลาชะโด ปลานิล ปลายี่สก
จากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกว่า 40 ปี เป็นปัญหาใหญ่ของชุมชน ซึ่งรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว
แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา
ในปี พ.ศ. 2554 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สนับสนุนให้ชุมชนตำบลเวียงคุกดำเนินงานบริหารจัดการน้ำชุมชนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ เริ่มขุดลอกคลองเป็นร่องน้ำลึกกันแนวเขตพื้นที่ในวังบัวแดง ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร และเสริมคันดินเพื่อเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ เกิดระบบเชื่อมต่อทางน้ำเข้า-ออก ช่วยระบายน้ำหลากลงสู่แม่น้ำโขงและกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ลดปัญหาน้ำท่วมขังและมีน้ำใช้ทำการเกษตรพอเพียงตลอดทั้งปี โดยวิธีการขุดลอกหนองน้ำนี้ ไม่ได้ขุดลอกทั้งพื้นที่หนองน้ำ แต่ขุดลอกเป็นคลองในรอบหนองน้ำ ทำเป็นร่องน้ำลึกรอบขอบเขตพื้นที่ภายในหนองน้ำสาธารณะเพื่อคงความสมดุลระบบนิเวศและรักษาระดับน้ำให้เหมาะสมคลองในรอบหนองน้ำ ได้ช่วยกั้นแนวเขตพื้นที่สาธารณะและป้องกันการบุกรุก และเมื่อเชื่อมทางน้ำ เริ่มมีการวางไข่ของปลาแม่น้ำโขง และพบปลาท้องถิ่นกลับคืนมา เช่น ปลากราย ปลาตอง
การเปลี่ยนแปลง
ภายหลังฟื้นฟูระบบกระจายน้ำ ได้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนจากที่เคยท่วมขังกว่า 30 วัน เหลือเพียง 15 วัน ลดปัญหาน้ำท่วมให้ชุมชน ประมาณ 2,000 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรมากกว่า 3,000 ไร่ ใน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลพระธาตุบังพวน ตำบลบ้านถ่อน ตำบลปะโค และตำบลเวียงคุก นอกจากนี้ ชุมชนได้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ในพื้นที่เกษตร กว่า 12,443 ไร่ สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรได้อีก 350 ไร่
เมื่อระบบนิเวศวังบัวแดงได้รับการฟื้นฟู ดอกบัวแดงเริ่มเบ่งบานเป็นจำนวนมาก พบนกประจำถิ่นและนกน้ำ เช่น นกเป็ดน้ำ นกปากห่าง รวมถึงปลากราย ซึ่งอยู่ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List of Threatened Species หรือ IUCN Red List )2 โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีดอกบัวแดงเบ่งบานเต็มท้องน้ำอย่างงดงาม ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม จนเป็นที่มาของ “วังบัวแดง” สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ทั้งยังเป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้านเพื่อยังชีพของชุมชนอีกด้วย ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเฉลี่ยลดลง 6,000 บาทต่อปี และมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 118,000 บาทต่อปี
ชุมชนเวียงคุกได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เกิดต่อเนื่องมานานกว่า 40 ปี ทำให้เพื่อนบ้านชุมชนข้างเคียงเกิดการตื่นตัว มีความสำนึกรักแหล่งน้ำเกิดเป็นเครือข่ายในพื้นที่ข้างเคียงในอำเภอเมืองหนองคายและอำเภอท่าบ่อ ได้ฟื้นฟูระบบนิเวศวังบัวแดง ซึ่งส่งผลถึงระบบนิเวศโดยรวมของลุ่มน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่าง รวมถึงครัวเรือนโดยรอบ กว่า 60 ล้านคน ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ปี พ.ศ. 2554 – 2555 ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มจัดทำข้อมูลแผนที่ ผังน้ำ วางแผนพัฒนาแหล่งงน้ำ เครือข่ายชุมชนได้ขยายไปสู่บ้านนาเหล่าและบ้านเวียงแก้วในตำบลเวียงคุก โดยขุดคลองหนองเบ็ญ ระยะทาง 2,720 เมตร ทำให้ปริมาณกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น
ปี พ.ศ. 2556 ได้ขยายเครือข่ายไปสู่ตำบลพะโค และตำบลพระธาตุบังพวน โดยขุดลอกลำห้วยไผ่บ้าน พร้อมเสริมคันดิน ระยะทาง 620 เมตร และขุดลอกแก้มลิงลำห้วยไผ่บ้าน และในปีเดียวกันที่หนองเบ็ญมีดอกบัวแดงเบ่งบานเป็นจำนวนมากจนเกิดเป็นวังบัวแดงขึ้น และยังได้รับเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ แห่งแรกของประเทศ
ปี พ.ศ. 2557 ขุดลอกคลองรอบหนองเบ็ญ ระยะทาง 6,000 เมตร แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร
ปี พ.ศ. 2558 ขุดลอกฮ่องแข้ ระยะทาง 1,300 เมตร ทำให้ทางน้ำเดินสะดวกและเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตรของชุมชน
ปี พ.ศ. 2559 ขุดลอกหนองไข่นก ระยะทาง 496 เมตร เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรให้กับชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ ช่วยป้องกันการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ
ปี พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน ขุดลอกหนองไข่นกเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและเชื่อมโยงทางเดินน้ำ ระยะทาง 1,012 เมตร พร้อมฟื้นฟูทางเชื่อมน้ำลำห้วยประคูณ 350 เมตร เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น
ปัจจัยความสำเร็จ
เข้าใจแนวทางลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในด้านระบบนิเวศ
ชุมชนตำบลเวียงคุก ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม น้ำแล้ง มาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี ชุมชนได้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างโครงข่ายเส้นทางน้ำ ป่าต้นน้ำ และหนองน้ำธรรมชาติ รวมทั้งผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากภัยพิบัติที่ส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ เมื่อชุมชนเข้าใจสภาพปัญหาเหล่านี้ ทำให้ชุมชนได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด หันมาร่วมมือกันฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม น้ำแล้ง และแนวทางนี้ได้พิสูจน์ถึงความสำเร็จที่ได้รับ
ประสานความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายชุมชน รัฐ ท้องถิ่น และ ภาคเอกชน
ชุมชนมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานทุกขั้นตอน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งกองทัพบก ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนด้านบุคลากรและเครื่องจักรในการขุดลอกคลอง
ความสำเร็จ
ฟื้นฟูระบบนิเวศ ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
เมื่อชุมชนเข้าใจและสามารถเชื่อมโยงปัญหาของการขาดการบริหารจัดการน้ำ ระบบนิเวศที่หายไปของวังบัวแดง และปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ชุมชนจึงมีแนวทางดำเนินงานในการฟื้นฟูระบบนิเวศของวังบัวแดงขึ้น ชุมชนได้เรียนรู้การใช้แผนที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และพัฒนาโครงสร้างน้ำ รวมทั้งใช้ข้อมูลด้านน้ำจากสถานีโทรมาตร และเครื่องวัดระบบน้ำด้วยเสียงมาประกอบการตัดสินใจ ซึ่งผลการวิเคราะห์สมดุลน้ำในพื้นที่ (ตามภาพที่ 10) แสดงว่าชุมชนขาดแคลนน้ำเป็นเวลา 4 เดือน คือ เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ปริมาณน้ำรวม 100,000 ลบ.ม. แต่ข้อมูลน้ำรายปีแสดงว่า มีปริมาณน้ำต้นทุนรายปีมากกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำรายปี ถึง 2.8 ล้าน ลบ.ม. จากข้อมูลนี้ ชี้ให้เห็นว่า ชุมชนจำเป็นต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ
ดังนั้น ชุมชนต้องวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ในการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้แก่ ลำห้วย ระบบโครงข่ายน้ำเข้า – ออกวังบัวแดง และเสริมคันดิน คลองในบริเวณหนองน้ำและวังบัวแดง รวมถึงลำห้วย จึงได้ขุดลอก แบ่งการดำเนินงานเป็นระยะ ทำให้แหล่งน้ำเชื่อมถึงกัน รวมทั้งเกิดระบบทางน้ำเข้า-ออก
ชุมชนได้ร่วมกันดำเนินงาน กำหนดขอบเขตพื้นที่แหล่งน้ำอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาฟ้องร้อง ซึ่งการขุดคลองในรอบหนองน้ำ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำภายในหนองน้ำ รวมทั้งเพิ่มปริมาณกักเก็บ สามารถส่งน้ำต่อไปให้สระน้ำและแหล่งน้ำอื่นในชุมชน ดินที่ขุดนี้ได้นำไปถมเป็นคันดิน ช่วยป้องกันน้ำท่วมและเป็นแนวเขตของหนองน้ำ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ กลับคืนมา
เกิดความเป็นเจ้าของ นำไปสู่การขยายผลและความยั่งยืน
เครือข่ายชุมชนที่เกิดขึ้น เป็นแนวทางในการเผยแพร่ข้อมูลและตัวอย่างความสำเร็จ ส่งต่อถึงชุมชนอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2554 เริ่มขุดคลองในหนองเบ็ญ ระยะทาง 2,650 เมตร รวมทั้งขุดลอกคลองบริเวณรอบหนองเบ็ญ เพื่อเปิดทางน้ำให้เข้าสู่เครื่องสูบน้ำ ให้สามารถกักเก็บและกระจายน้ำ ซึ่งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลเวียงคุก ได้ขยายผลรูปแบบงานพัฒนาแหล่งน้ำนี้ไปสู่ตำบลใกล้เคียง