เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

สภาพปัญหาของชุมชน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ , มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          เมื่อปี พ.ศ. 2527 ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมากสำหรับชาวบ้านคือ การเข้ามาสัมปทานเหมืองแร่ของนายทุน ทำให้มีการตัดต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างถนนเปิดทางให้เดินทางเข้าออกสะดวกขึ้น ขนเอารถขุดขนาดใหญ่มาขุดเจาะแร่ จนทำให้สายน้ำแม่โถมีลักษณะขุ่นและมีสีแดง ไม่สามารถอุปโภค บริโภคได้ อีกทั้งแรงงานต่างถิ่นจำนวนมากเริ่มแผ้วถางบุกรุกป่า ตัดต้นไม้สร้างบ้านเรือน และเปิดพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นเหตุให้ป่าไม้ถูกทำลายอย่างรุนแรง สัตว์ป่าอพยพหนีจากพื้นที่ สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศเสื่อมสภาพ กระทั่งการสัมปทานเหมืองแร่หมดไป แต่ทิ้งความเสื่อมโทรมเป็นมรดกให้ชาวบ้านคิดแก้ไข ว่าทำอย่างไรจึงฟื้นฟูทรัพยากรให้กลับคืนมา

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

          จากวิกฤติในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ทำให้ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนและปรึกษาหารือกันถึงวิธีการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พยายามเรียนรู้จากผู้อื่นโดยผู้นำชุมชนได้ไปศึกษาดูงานในที่ต่างๆ โดยเกิดเป็นพัฒนาการของเครือข่ายที่เริ่มจากการนำของ
นายอินแหลง ไทยกรณ์ ซึ่งก่อตั้งเป็น “กลุ่มคนรักษ์ป่าแม่โถ” สร้างแนวคิดกับชาวบ้านทั้งในหมู่บ้านแม่โถและหมู่บ้านใกล้เคียง และได้เชื่อมต่อการทำงานไปยังส่วนงานภาครัฐและเอกชน เช่น อุทยานแห่งชาติขุนแจ หน่วยจัดการต้นน้ำขุนลาว หน่วยป้องกันรักษาป่าเชียงราย สภอ.แม่เจดีย์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้ง 4 ศูนย์ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เจดีย์ใหม่ กำนัล ผู้ใหญ่บ้าน และนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เข้ามาร่วมกันในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ เพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความตั้งใจจริงของคนต้นน้ำให้มากยิ่งขึ้น
          จากนั้นจึงได้ประสานความร่วมมือไปยังชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำลาวทั้งหมด และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะสภาพพื้นที่และปัญหาที่มีร่วมกัน ทำให้มีการจัดเวทีระดับหมู่บ้าน เริ่มจากหมู่บ้านแกนนำหลัก คือ บ้านแม่โถ บ้านขุนลาว และบ้านห้วยคุณพระ จัดตั้งเป็นคณะกรรมการการจัดการป่าต้นน้ำขึ้น มีแผนงาน และกิจกรรมต่างๆ โดยมีมติจัดตั้งเป็นคณะกรรมการกลางในนาม เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ลาว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2548 โดยเน้นสร้างการมีส่วนร่วมทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ ในการจัดการทรัพยากรป่าต้นน้ำ

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

การจัดการของชุมชน

          กิจกรรมที่เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ป่าและสายน้ำ ของเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ลาว ซึ่งทำร่วมกันในทุกปี คือ การทำแนวกันไฟ การจัดทำระบบเหมืองฝาย การทำน้ำประปาภูเขา มีการบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำ การเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นการทำพิธีสังเวยผีฟ้า เทวดาอารักษ์ ที่คอยสอดส่องดูแลเพื่อปกป้องรักษาผืนป่าที่เป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำ จนทำให้ป่าที่มีแนวโน้มจะเสื่อมโทรม สมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ที่สำคัญก็คือ ชาวบ้านทุกหมู่บ้านที่เป็นเครือข่าย มีความตระหนักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ ตัว คอยเฝ้าระวังไม่ให้ใครมาทำลาย
          ชาวบ้านในพื้นที่เครือข่ายต้นน้ำลาว มีคติที่ว่า “ข้าวตำ น้ำตัก” คือการกินอยู่โดยอาศัยธรรมชาติ ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันดูแล เกื้อกูลต่อธรรมชาติ มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง เมื่อป่าต้นน้ำดีก็จะมีแหล่งอาหารธรรมชาติขึ้นอยู่เต็มทั่วทั้งผืนป่า เช่น หน่อไม้ หนอนไม้ไผ่ นอกนั้นยังมีเห็ดเกิดขึ้นหลายชนิด ทั้งเห็ดโคน เห็ดผึ้งหรือเห็ดปลวก ฯลฯ ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่าครบวงจรชีวิต เป็น “ป่าสวนครัว” ของทุกคน แม้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มีสมุนไพรช่วยรักษา โดยไม่ต้องพึ่งพาโลกภายนอก
          ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การใช้พลังงานที่ไม่ไปทำลายระบบนิเวศ โดยการติดตั้งเป็นแผงโซล่าเซลล์รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ใช้เป็นพลังงานในครัวเรือน และใช้ระบบไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่า

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์    , มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

นอกจากนี้ เครือข่ายได้จัดทำกระเบียบในการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยการใช้ แนวคิดเรื่องกฏ 3 ด้านมาบังคับใช้จริงอย่างได้ผล คือ

  • กฏทางวัฒนธรรม คือการใช้ความเชื่อ ประเพณี วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ของคนในชุมชน มาช่วยเรื่องการอนุรักษ์ดูแลป่าต้นน้ำ เช่น การเลี้ยงผีขุนน้ำ การบวชป่า สืบชะตาสายน้ำ ชาวบ้านไม่กล้าล่วงละเมิดกฏทางวัฒนธรรม เพราะกลัวผิดผี หรือเป็นการลบหลู่ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเชื่อถืออยู่ ส่งผลทางจิตใจ
  • กฏทางสังคม คือการใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ของชาวบ้านซึ่งอยู่อาศัยด้วยกัน คอยสอดส่องดูแลกันและกัน หากใครบุกรุกทำลายป่า หรือฝ่าฝืนระเบียบต่างๆ ผู้นำหรือคนในชุมชนจะช่วยกันตักเตือนดูแล และส่งผลได้อย่างรวดเร็ว ผู้ทำผิดกฎทางสังคมจะอยู่ในชุมชนด้วยความอึดอัดคับข้องใจเพราะความสัมพันธ์และเครือญาติ และส่งผลทางสังคม

กฏหมาย คือการบังคับใช้กฏหมายท้องถิ่น และกฏหมายรัฐ เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ทั้งจากคนภายในและคนภายนอก ซึ่งถือเป็นเรื่องรุนแรงและส่งผลกระทบอย่างมากกับแหล่งป่าต้นน้ำ การใช้กฏหมายจำเป็นต่อการอนุรักษ์ในบางระดับ และช่วยเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นที่ทำบนความถูกต้องร่วมกัน

ขยายผลสู่ความยั่งยืน

          เครือข่ายเยาวชนรักษ์ป่าต้นน้ำลาว ได้บ่มเพาะเยาวชน เพื่อสานต่อความยั่งยืนโดยมีกลุ่ม “เยาวชนละอ่อนฮักน้ำลาว” โดยเชื่อมกับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนแม่เจดีย์วิทยาคม ในการทำโครงการนักสืบสายน้ำ และจัดวิทยุชุมชนรายการชุมชนคนต้นน้ำ ทุกวันเสาร์ เวลา 9.00 – 11.00 น. ผ่านทางคลื่น F.M.104.75
          ขยายแนวความคิดการรักษาป่าต้นน้ำออกไปสู่ลูกบ้าน รวมตัวกันเป็นเครือข่ายชุมชนคนรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ลาว โดยมีหมู่บ้านแม่โถ หมู่บ้านห้วยคุณพระและหมู่บ้านขุนลาว เป็นหมู่บ้านที่ริเริ่มแนวคิดในเรื่องนี้ ต่อมาก็มีบ้านเมืองน้อย บ้านห้วยน้ำริน บ้านปางมะกาด บ้านห้วยทราย บ้านปางมะแหละ และหมู่บ้านอื่นๆที่ได้เข้ามาเป็นเครือข่ายเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรตลอดลุ่มน้ำ ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายประมาณ 4,500 คน และรับสมาชิกอยู่ตลอด โดยไม่แบ่งเขตพื้นที่การปกครอง เพศ อายุ วรรณะ เข้ามาเป็นข้อจำกัดในการร่วมกันทำงาน เพียงแต่ให้มีใจรักษ์ป่า รักษ์น้ำ และพร้อมที่จะร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ

คะแนนเต็ม 0 / 5. จำนวนผู้โหวต : 0

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้