เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

สภาพปัญหาของชุมชน

          ลุ่มน้ำแม่ละอุป นับเป็นต้นน้ำของ อ.แม่แจ่ม ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปิง ได้ประสบปัญหาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ถูกต้อง ประชากรเพิ่ม และมีการรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้เป็นที่ทำกิน ทำให้ป่าเริ่มเสื่อมโทรม ปริมาณน้ำลดลง การทำนาได้ผลผลิตไม่พอกิน ปริมาณสัตว์น้ำลดลง

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์    , มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ปี พ.ศ. 2526 เริ่มมีการตัดถนนเข้าหมู่บ้าน นายทุนเข้ามาตัดไม้ ชาวบ้านเริ่มตั้งหมู่บ้านบริเวณต้นน้ำ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2528 เกิดวิกฤต น้ำแห้ง ป่าหมด เกิดไฟป่า ชาวบ้านเกิดความขัดแย้งกันเพราะมีการแย่งน้ำมาทำเกษตร ชาวบ้านเกิดการแบ่งฝ่ายเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เริ่มเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ และ กลุ่มที่เข้าไปรับจ้างนายทุนตัดไม้ จนในที่สุดปัญหาการขาดแคลนน้ำก็เข้าสู่ภาวะวิกฤต

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

          ปี พ.ศ. 2538 ชาวบ้านรวมตัวทำประชาคมหมู่บ้าน ร่วมกันขับไล่คนของนายทุนที่มาตัดไม้ออกจากชุมชน และเริ่มจัดทำระเบียบของแต่ละหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ทหารได้เข้ามาช่วยทำแผนที่ แบ่งเขตพื้นที่อย่างชัดเจน

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์    , มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          จนปี 2544 เริ่มมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุปอย่างชัดเจน โดยการสนับสนุนของมูลนิธิรักษ์ไทย เข้ามาช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหาและหาแหล่งงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชน

การจัดการของชุมชน

          ในปี พ.ศ. 2546 เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป เริ่มดำเนินงานจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ฝายดักตะกอน ฟื้นฟูป่า สร้างแนวกันไฟ บวชป่า เป็นต้น หลังจากดำเนินการได้ 1 ปี น้ำกลับมา จนสามารถสร้างโรงสีข้าวพลังน้ำได้ (ใช้งบประมาณก่อสร้างจาก UNDP)

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

          นอกจากนี้ ชุมชนจัดทำพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำ เพื่อเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาในลำห้วย (พื้นที่เครือข่าย ระยะทาง 4 กม.) รวมทั้งพัฒนาภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอ เกี่ยวกับป่าสะดือ ที่นำรกเด็กมาผูกต้นไม้ เพื่อแสดงว่าเด็กเจ้าของรก เป็นเจ้าของต้นไม้ต้นนั้น เปลี่ยนมาใช้เสื้อ “ต้นไม้สายใยชีวิต” ให้คนที่ซื้อเสื้อของชุมชนได้เป็นเจ้าของต้นไม้ 1 ต้น
          ชุมชน ได้ร่วมกันจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อให้เยาวชน และชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้การฟื้นฟูป่า ฝายปกา เกอะ ญอ ป่าสมุนไพร ฯลฯ

ผลสำเร็จ

หาน้ำได้
          หลังจากที่ชุมชนได้ฟื้นฟูป่าได้สำเร็จ น้ำในลำธารได้กลับคืน ชุมชนจึงแบ่ง
ลำห้วยสายต่างๆ ตามประโยชน์การใช้งาน เช่น

  • ห้วยแม่ละอุป ใช้ทำนา
  • ห้วยหล่าขลื่อโล๊ะ เป็นน้ำดื่ม
  • ห้วยทอกลอโกล๊ะ เป็นแหล่งเรียนรู้ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ใช้น้ำเป็น
          ชุมชนใช้ภูมิปัญญาชาวเขาจากคนรุ่นเก่า ผันน้ำจากลำห้วยมาที่ลำเหมืองเดิม เข้าสู่พื้นที่ทำนา ทำให้มีน้ำสำหรับทำนา
          นอกจากนี้ ชุมชนได้นำพลังน้ำ ก่อเกิดเป็นโรงสีข้าวพลังน้ำ ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และนำรายได้ที่เกิดจากการสีข้าว เป็นกองทุนเครือข่าย

มีน้ำสำรอง
          ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดปี ซึ่งเกิดจากชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำชุ่มชื้น และการฟื้นฟูป่าบริเวณต้นน้ำลำธาร

ระบบนิเวศ
          ชุมชนมีความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์ป่าต่างๆ ที่กลับคืนมา และเป็นตัวชี้วัดของความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและป่า ได้แก่

  • ชะนี 10 ฝูง เพราะ ชะนี 1 ฝูงจะครอบครองพื้นที่ป่าสมบูรณ์ 70 – 200 ไร่
  • ปลาก้าง กบจุก ปูก้ามเหลือง ซึ่งชุมชนนับถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่จับกิน และเป็นสัตว์ที่อาศัยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำเท่านั้น

ขยายผลสู่ความยั่งยืน

ศักยภาพสู่ความยั่งยืน
          นับแต่ปี พ.ศ. 2546 เครือข่ายมีคณะกรรมการดูแลรักษาน้ำแต่ละหย่อมบ้าน มีกฏ กติกา เพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการแบ่งใช้พื้นที่อย่างชัดเจน และได้จัดตั้ง “กองทุนเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป” เป็นกองทุนในการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติของเครือข่ายลุ่มน้ำ
          นอกจากนี้ ชุมชนได้ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาปกา เกอะ ญอ  เพื่อการฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำในพื้นที่เครือข่าย อาทิ เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่รวบรวมความรู้ของ ฝายปกา เกอะ ญอ ป่าสะดือ (ต้นไม้สายใยชีวิต) เป็นต้น

การขยายเครือข่าย

ภายในชุมชน

          ประกอบด้วยคณะกรรมการเครือข่าย จาก 2 หมู่บ้าน (5 หย่อมบ้าน)

ภายนอกชุมชน ได้แก่

  • ชุมชน ปกา เกอะ ญอ และ ชุมชนอื่นๆ
  • อบต.
  • ลุ่มน้ำแม่แจ่ม
  • ลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน

เยาวชน เครือข่ายลุมน้ำแม่ละอุป ได้ร่วมมือกับโรงเรียนภายในชุมชน นำการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอน ขยายเป็นเครือข่ายเยาวชน

คะแนนเต็ม 5 / 5. จำนวนผู้โหวต : 1

ยังไม่มีคะแนนโหวต! เป็นคนแรกที่ให้คะแนนโพสต์นี้