พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
29/08/2019
วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562 ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยมี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายประวีณ จุลภักดี ประธานมูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดย มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำ โดยน้อมนำหลักการทรงงาน ควบคู่กับวิถีการใช้ชีวิตของชุมชน เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในการหาทางออกของปัญหาน้ำในพื้นที่ โดยมีสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาถ่ายทอดเพื่อให้บริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเรียนรู้จากการทำงาน การสำรวจพื้นที่ควบคู่กับการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) ในการบริหารจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอและกักเก็บน้ำ จัดทำผังน้ำ สำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำ ค่าระดับความสูงต่ำของพื้นที่และทิศทางน้ำ ยังร่วมกันบริหารจัดการป่าและน้ำ เกิดเป็นเครือข่ายเตือนภัยพิบัติจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ รวม 653 ตารางกิโลเมตร มีเครือข่ายวิทยุภาคประชาชน 25 สถานีแม่ข่าย ลูกข่าย 300 เครื่อง และเป็นเครือข่ายชุมชนเตือนภัยพิบัติ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้สูงอายุ เพื่อสืบสานการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ส่งผลให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้จากพื้นที่จริง และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยแบ่งจุดศึกษาดูงานสำคัญในพื้นที่ออกเป็น 4 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 จากผืนป่า…สู่ “หยดน้ำ” ได้ดื่มกิน ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ตามแนวพระราชดำริ สร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่กว่า 700 ฝาย ครอบคลุมเส้นทางน้ำใน 27 ลำห้วยสาขา ใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นหลักในการสร้างฝาย ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าและเป็นแหล่งน้ำของสัตว์นานาชนิดในบริเวณนั้น เกิดความมั่นคงน้ำ 10 ชุมชน 3 ตำบล 2 อำเภอ ลดค่าใช้จ่ายการซื้อน้ำจากภายนอก 3.66 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันเครือข่ายฯ นำน้ำจากต้นน้ำและคลองยันมาผ่านระบบกรองน้ำเพื่อบริโภค 4 ชุมชน จำหน่ายให้ชุมชน 5 บาท ต่อ 18 ลิตร มีคณะกรรมการระบบน้ำดื่มชุมชนดูแลและบริหารจัดการรายได้ นำไปเป็นกองทุนดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า บำรุงรักษาระบบกรองน้ำดื่ม และมีเงินเข้ากองทุนสำรองร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ
จุดที่ 2 เขตอภัยทาน สร้างด้วยมือ ดูแลด้วยใจ เครือข่ายฯ ร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า รวมทั้งฟื้นฟูคลองยันที่เป็นสายน้ำหลัก แก้ปัญหาตลิ่งพังด้วยการปลูกพืชท้องถิ่นยึดตลิ่ง เช่น ต้นไคร้น้ำ ต้นมะเดื่อ เป็นต้น กำหนดเขตอภัยทาน หรือ วังปลา ระยะทาง 300 เมตร เกิดการอนุรักษ์สัตว์น้ำ และสร้างความเข้าใจให้ชุมชนใช้เครื่องมือจับปลาที่ถูกวิธีและจับปลาแต่พอกินในครอบครัว ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ยังทำให้ปริมาณพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นกว่า 60 ชนิด
จุดที่ 3 เครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัยพิบัติ สู่การป้องกันและพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2551 พื้นที่ลุ่มน้ำคลองยัน เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ เกิดความเสียหายตลอดลุ่มน้ำ เครือข่ายจึงได้ตระหนักถึงความรุนแรงและพัฒนาเครือข่ายภายใต้ชื่อ “กลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำคลองยัน” มีภารกิจดำเนินงานส่งเสริมกองทุนสวัสดิการแกนนำและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปฏิบัติงานต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองยัน ครอบคลุมอำเภอวิภาวดีและอำเภอคีรีรัฐนิคม 4 ตำบล 46 หมู่บ้าน ผลจากการแจ้งเตือนภัยภายในเครือข่ายชุมชน ทำให้ลดความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินของทุกครัวเรือนตลอดสายน้ำคลองยัน และเมื่อเกิดภัย ทางเครือข่ายมีกองทุนข้าวสาร ทำให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองก่อนที่จะมีหน่วยงานภาครัฐเข้าช่วยเหลือ 1 สัปดาห์
จุดที่ 4 เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ “สวนพ่อเฒ่า เก้าเรือนยอด” ชุมชนปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จากการทำสวนยางเป็น “ป่ายาง” จากการทำสวนปาล์มน้ำมันเป็น “ป่าปาล์ม” ทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ปลูกผักและพืชเศรษฐกิจ โดยทำในรูปแบบของชุมชนในสมัยก่อน ทำสวนปลูกพืชผสมผสานหลากหลายชนิด มีไม้ยืนต้นทั่วทั้งแปลง (สวนสมรม) แบ่งเป็น 9 เรือนยอด จึงเรียกกันว่า “สวนพ่อเฒ่า เก้าเรือนยอด” ปัจจุบันเครือข่ายชุมชน 4 ตำบล 2 อำเภอ ทำเกษตรรูปแบบนี้รวม 6,599 ครัวเรือน ช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากเดิม 30,000 บาทเป็น 75,000 บาทต่อปี และลดรายจ่าย 36,500 บาทต่อปี โดยช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน รวม 240 ล้านบาทต่อปี ใน 4 ตำบล 2 อำเภอ เพิ่มรายได้ในครัวเรือน รวม 55.6 ล้านบาทต่อปี ใน 4 ตำบล 2 อำเภอ
สำหรับ “เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน” นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ “พลิกวิกฤตภัยพิบัติสู่การพัฒนาที่มั่นคง” ให้ชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ จากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 21 และเป็นต้นแบบโครงการ “เทิด ด้วย ทำ” ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป