พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 นายรอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ” โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ร่วมให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงานจำนวนมาก

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วยการพัฒนาโครงข่ายแก้มลิง บริหารจัดการน้ำเกิน จัดเก็บน้ำหลาก เชื่อมโยงแหล่งน้ำ บริหารฝายกักเก็บน้ำ และประตูน้ำอย่างเป็นระบบ พร้อมกับการพัฒนาคนในชุมชนและชุมชนเครือข่ายให้สามารถดำเนินงานบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้จากพื้นที่จริงของชุมชน และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยแบ่งจุดศึกษาดูงานสำคัญในพื้นที่ ออกเป็น 4 จุด ได้แก่


จุดที่ 1 เชื่อมแหล่งน้ำ “ห้วย หนอง คลอง บุ่ง” อ่างเก็บน้ำห้วยสหาย และหนองบึงใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชน ในอดีต อ่างเก็บน้ำห้วยสหายขาดระบบการกระจายน้ำ ไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ในพื้นที่เกษตรได้ ส่วนหนองบึงใหญ่มีสภาพตื้นเขินและระดับคันดินต่ำ ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากหนองบึงใหญ่จะไหลล้นข้ามคันดินมาท่วมพื้นที่การเกษตรด้านล่าง ปัจจุบัน ชุมชนได้ช่วยกันเชื่อมอ่างเก็บน้ำห้วยสหาย และหนองบึงใหญ่ ผ่านลำห้วยสาขา และเสริมโครงสร้างน้ำ สามารถบริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงทั้งระบบ


จุดที่ 2 กักเก็บน้ำหลาก จากภูวัว จรดริมโขง ชุมชนได้ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำหนองแวง ห้วยหนองแวง จนถึงห้วยกะต๋อย ห้วยปุ่ง เชื่อมห้วยขามเปี้ย และเสริมโครงสร้างน้ำ สามารถบริหารจัดการน้ำ รวม 11.98 ล้าน ลบ.ม. ลดปัญหาน้ำท่วม และนำน้ำไปเสริมระบบน้ำประปาและทำการเกษตร ให้กับ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลบุ่งคล้า และตำบลโคกกว้าง พื้นที่ 7,456 ไร่


จุดที่ 3 เกษตรริมโขง เกษตรแบบไร้สารเคมี อบต.บุ่งคล้า ได้จัดสรรพื้นที่ริมโขงให้กับเกษตรกร โดยแบ่งครัวเรือนละ 2 งาน รวม 150 ครัวเรือน บนพื้นที่ 75 ไร่ เน้นการปลูกพืชระยะสั้นที่ ได้แก่ ถั่วลิสง มันเทศ ถั่วฝักยาว ฟักทอง ข้าวโพด มันแกว หัวหอม กระเทียม ผักกาด ผักสลัด เป็นต้น เพิ่มรายได้เสริมจากเกษตรริมโขงในฤดูแล้ง


จุดที่ 4 ทฤษฎีใหม่ อยู่เย็นเป็นสุข ชุมชนได้เปลี่ยนวิถีจากการทำการเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ รวม 180 ครัวเรือน มีผลผลิตตลอดทั้งปี


ชุมชนตำบลบุ่งคล้า นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ จึงจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 19 ให้ชุมชนอื่นๆ และผู้ที่สนใจได้มาเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป