โครงการ คนอยู่กับป่า ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสันติ ป่าหวาย รองปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดงาน “คนอยู่กับป่า ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และคณะผู้บริหาร ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ร่วมเป็นเกียรติในงานฯ ณ บริเวณอ่องแล่ง บ้านห้วยปลาหลด ตำบลด่านแม่ละเมาอำเภอแม่สอด จังหวัดตากการจัดงานในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีการจัดงานเทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2561 ที่ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ในวันนั้น ผู้เข้าร่วมงานต่างเห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆที่ช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่การทำกติกาการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดทำแผนที่เพื่อกำหนดขอบเขตของการใช้ที่ดินอย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่นพื้นฐานข้อมูลเดียวกัน แล้วนำไปสู่การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ และเกิดเป็นความมั่นคงของทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในที่สุด จนเกิดเป็นหลักการคนอยู่กับป่าตามแนวพระราชดำริที่ได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (หรือ คทช.) เห็นชอบพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ในพื้นที่เป้าหมายกลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งที่ประชุม คทช. ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบ และได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบในหลักการตามมติ คทช. ซึ่งร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ  และร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. บ้านห้วยปลาหลดซึ่งเป็นหนึ่งในต้นแบบของคนอยู่กับป่าตามแนวพระราชดำริจึงมีส่วนให้เกิดการแก้ไขแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ในพื้นที่เป้าหมายกลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ 


มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ดำเนินการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริร่วมกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น ท้องที่ และชุมชน กว่า 3.10 ล้านไร่ รวม 1,573 หมู่บ้าน และในจำนวนนี้ มีเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ 23 ชุมชน ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ดูแลพื้นที่ป่าภายในชุมชนกว่า 730,000 ไร่ ในวันนี้ ชุมชนบ้านห้วยปลาหลดพัฒนาต่อยอดการเป็นต้นแบบของคนอยู่กับป่าไปอีกขั้น ด้วยการขยายผลสู่ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง มีการรวบรวมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ชุมชนมาจำหน่ายในตลาดที่มีอัตลักษณ์ของคนอยู่กับป่า เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ชุมชนมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง และเติบโตอย่างต่อเนื่อง