สำรวจ JWC รอบตัดสิน ม.นอร์ท-เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการ “นวัตกรรมจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชน” โดยกลุ่มพี่นำน้องรักษ์น้ำ ม.นอร์ท-เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน

กลุ่มพี่นำน้องรักษ์น้ำ ม.นอร์ท-เชียงใหม่ เข้าไปพัฒนาชุมชนบ้านป่าตึงงามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและแผนที่มาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ได้มีการใช้หลักเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 และ ขั้นที่ 2 ซึ่งจะเน้นให้ชุมชนพึ่งพาตนเองจนเกิดการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และสร้างรายได้ให้กับชุมชน

การดำเนินโครงการ “นวัตกรรมจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชน” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน และได้สร้างเครือข่ายในการดำเนินงานระหว่าง เครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำงานในทุกกระบวนการ จนทำให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ สามารถพึ่งพาตนเองได้และเกิดความเข้มแข็งภายในชุมชนอีกด้วย

เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป

ระบบจัดการป่าต้นน้ำ เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านเมืองกลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านเมืองกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่”  โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายศรันยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พลโทผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข กรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนคณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ผู้แทนจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมงานครั้งนี้ด้วย

ชุมชนบ้านเมืองกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ได้รับความสำเร็จจนสามารถพึ่งพาตนเองได้จากการนำ “กรอบคิด” เรื่องการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า มาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาด้านบริหารจัดการน้ำของบรรพบุรุษที่สืบทอดมายาวนานกว่า 300 ปี เกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับการพัฒนาคน และ “กรอบงาน”  จนเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากร โดยมีการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและแหล่งกักเก็บสำรองน้ำ ดูแลรักษาและบริหารจัดการน้ำให้เหมาะกับภูมิสังคม ตลอดจนนำพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบเหมืองฝาย แต ต๊าง ท่อน้ำลอดน้ำล้น บริหารจัดการและกระจายน้ำตามความลาดชันของพื้นที่เกษตรจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ โดยมีกฎ กติกา การใช้น้ำ จนเกิดความมั่นคงน้ำ สามารถจัดสรรน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 3,800 ไร่ 578 ครัวเรือน 1,950 คน มีการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ส่งผลให้มีผลผลิตที่หลากหลาย ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน

สำหรับชุมชนแห่งนี้ นับเป็นชุมชนตัวอย่างความสำเร็จจากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 22 และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางในการทำงานไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองต่อไป