พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านโนนแต้ ต.หนองขาม อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ
วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านโนนแต้ ตำบลหนองขาม อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ” โดยมี นายประทีป ศิลปะเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิพร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านโนนแต้ ตำบลหนองขาม อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดย มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้ามาถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำ ตาม “กรอบคิด” เรื่องการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า รู้จักตนเองและพัฒนาในสิ่งที่มีตามภูมิสังคม มองใหญ่ ทำเล็ก เกิดการเรียนรู้สู่การแก้ไขปัญหา ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงในวิถีพอเพียง และ “กรอบงาน” ที่เกิดจากการร่วมกันสำรวจและเก็บข้อมูล โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ควบคู่กับการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) และค่าระดับมาปรับใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างน้ำ แผนผังน้ำ ทิศทางน้ำ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำเข้ากับแก้มลิงอย่างเป็นระบบ บรรเทาความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ก่อให้เกิดความมั่นคงอาหาร มั่นคงน้ำ บนวิถีพอเพียง
นับได้ว่าชุมชนโนนแต้เป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 23 และเป็นต้นแบบให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป
ประชุมเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ ณ. จ.พะเยา
วันที่ 11 ก.ย.63 เครือข่ายต้นน้ำอิงตะวันออกในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ 11 ตำบล ได้ประชุม วางแผนและร่วมจัดทำข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนที่สั้นลง ก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้ง
โดยเจ้าหน้าที่ลุ่มน้ำอิง จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) ได้ให้องค์ความรู้ในเรื่องการจัดทำข้อมูล(แผนที่, ผังน้ำ,สมดุลน้ำ) ให้กับพื้นที่ อบต.บ้านปิน, บ้านถ้ำ, คือเวียงและหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เพื่อเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงแล้งและหลาก ก่อนหมดฤดูฝน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่ต้นน้ำอิงฝั่งตะวันออกของพะเยาที่ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำและฟื้นฟูโครงสร้างน้ำเดิมตั้งแต่ปี 60 จากโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกองทัพบก
โดยมูลนิธิอุกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้วางพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ เป็นพื้นที่เครือข่ายบริหารจัดการน้ำเนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและการใช้ต้นทุนน้ำในพื้นที่แทนการใช้น้ำจากกว๊านพะเยาเพียงแห่งเดียว ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินงานด้านพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วกว่า 8 ตำบล
และในระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน 63 จะเป็นการประชุมของพื้นที่จัดการน้ำที่เหลืออีก7 พื้นที่ของอำเภอดอกคำใต้ เพื่อวางแผนการจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งนอกจากจะเป็น การเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำในอนาคตแล้ว ยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคท้องถิ่นในพะเยาเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเองให้ยั่งยืนอีกด้วย
ชุมชนบุ่งคล้า
จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดความสำเร็จผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน จ.พิษณุโลก
เมื่อวันที่ 16-18 ตุลาคมที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดความสำเร็จผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ณ ห้องประชุมกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก ซึ่งมีชุมชนพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ 20 ชุมชน พร้อมผู้แทนเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำปราจีน และ ลุ่มน้ำปัตตานี รวมทั้งหมด 100 คน
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของชุมชนแต่ละแห่งที่ได้รับเลือกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ รวมถึงเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ไปศึกษาดูงาน ณ ศุูนย์การเรียนรู้โครงการเดินตามรอยเท้าพ่อ (เกษตรอินทรีย์) กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก เพื่อนำแนวคิดและแนวทางในการดำเนินงานไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองต่อไป
จัดการน้ำชุมชน บ้านหัวเห่วพัฒนาพ้นวิกฤตเขื่อนปากมูล
อดีต ก่อนสร้างฝาย
ภายหลัง ก่อนสร้างฝาย
ชุมชนบ้านหัวเห่วพัฒนา อำเภอโขงเจียม จังหวัด อุบลราชธานี เป็นชุมชนที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่เหนือ เขื่อนปากมูล ไม่สามารถใช้น้ำจากเขื่อนปากมูล จึงประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมหลากมานานกว่า 20 ปี ชาวบ้านทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก แต่ขาดน้ำ จึงต้องไปทำงานรับจ้าง เดิมได้แก้ไขด้วยวิธีประท้วง รอคอยความช่วยเหลือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 – 2560 ชุมชนได้ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบัน สารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร โดยมีชุมชน บ้านผาชัน อำเภอโพธิ์ไทร เป็นพี่เลี้ยง ทำการสำรวจ และสรุปแผนพัฒนาแหล่งน้ำลำห้วยเขียง
ซึ่งเป็นลำห้วย สายหลัก เริ่มสร้างฝายกักเก็บน้ำ และเชื่อมต่อกับ ระบบประปา เพียง 1 ปีที่ดำเนินงานด้วยตนเอง ทำให้ชุมชนเริ่มมีน้ำต้นทุนและมีน้ำสำรองในลำห้วยเขียง นำมาเป็นน้ำต้นทุนเสริมในระบบประปา วัดหัวเห่ว ลดการใช้น้ำบาดาล มีผู้รับประโยชน์ จำนวน 27 ครัวเรือน 108 คน และมีแผนพัฒนาลำห้วยเขียง ต่อเนื่อง 3 ปี
ชุมชนสำรวจ วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ และสร้างฝายกักเก็บน้ำ