พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านตะโล๊ะ จ.ยะลา

🔸วันนี้ 25 พฤษภาคม 2566 ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านตะโล๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา” โดยมีนายจรูญศักดิ์ หมาดเท่ง นายอำเภอรามัน พร้อมด้วยนางสาวเยาวภา อินชะนะ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก🔸

👉ชุมชนบ้านตะโล๊ะแห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นการพัฒนาชุมชนที่ใช้ความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ต่อมาเมื่อสภาเกษตรกรจังหวัดยะลาได้พากลุ่มเยาวชนบ้านตะโล๊ะที่ขาดโอกาสทางการศึกษามาร่วมเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่จัดโดยโรงเรียนพระดาบส และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ (สสน.) กลุ่มเยาวชนจึงได้รู้จักกับเครือข่ายลุ่มน้ำปัตตานี ที่กลายมาเป็นพี่เลี้ยง และเกิดการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้น มาพัฒนาลำห้วยหลัก 2 ลำห้วย คือ ลำห้วยดูซงปาโจ กับ ดูซงยาฆอ ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้ตลอดปี👈

◽️ปัจจุบัน กลุ่มเยาวชนได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาทรัพยากรน้ำ เกิดอาชีพให้เยาวชน ทั้ง ทำเกษตร และเพาะกล้าไม้ รวมทั้ง เกิดกลุ่มอาชีพแม่บ้านที่ดำเนินงานร่วมกับผู้นำศาสนา ขับเคลื่อนพัฒนาสังคมและศาสนา◽️

✨ความสำเร็จที่เห็นถึงความยั่งยืนของบ้านตะโล๊ะ คือ กลุ่มอาชีพ ที่เป็นอาชีพใหม่ และ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ได้แก่ กลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรแบบยั่งยืน ประกอบด้วย กลุ่มปลูกผักปลอดภัยบ้านตะโล๊ะ กลุ่มเลี้ยงปลาในสระพระราชทาน กลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรง และกองทุนกลุ่มสตรี ประกอบด้วย กองทุนขายอาหาร กองทุนเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ กองทุนน้ำดื่มสะอาด โดยรายได้ทั้งหมดจะนำมาพัฒนามัสยิด เป็นค่าอาหารกลางวันให้กับเด็กโรงเรียนสอนศาสนา และนำไปพัฒนาหมู่บ้าน ✨

ชุมชนบ้านตะโล๊ะ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 26 ให้ผู้ที่สนใจ สามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงานไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป