ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี  

22/04/2022

เดิมพื้นที่เป็นสนามกอล์ฟร้าง จัดสรรที่ดินผ่านสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้กับเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน ด้วยสภาพพื้นที่ค่อนข้างลาดเอียง และเป็นดินลูกรัง ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ เกษตรกรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาโดยตลอด

ในปี 2556 ได้เริ่มดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เริ่มพัฒนาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ในปีนี้มูลนิธิฯ เสริมระบบกระจายน้ำผ่านท่อ ไปยังหอถังสูง 7.5 เมตร มีความจุ 12,000 ลิตร ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับอุปโภค และทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

ปัจจุบัน ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เกษตรกรมีการรวมกลุ่มสร้างโรงเรือนและห้องเย็น เก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร บรรจุภัณฑ์ส่งจำหน่ายให้ ร้านโกลเด้น เพลสอย่างต่อเนื่อง

ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ชุมชนต้นแบบการจัดการน้ำ

17/02/2022

ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เป็นอีกหนึ่งชุมชนต้นแบบที่สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่จนเกิดความสำเร็จ

มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ลงพื้นที่ชุมชนเกษตรกรเพชรน้ำหนึ่ง

13/02/2022

“เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2565”

11/02/2022

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2565” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมสรุปแนวทาง “โครงสร้างพื้นฐานสังคม และเศรษฐกิจใหม่บนหลักของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่” พร้อมเยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อถ่ายทอดความสำเร็จ จากการมีส่วนร่วมของชุมชน และการสนับสนุนจาก ภาคเอกชน ท้องถิ่น รวมทั้งภาครัฐ จนเกิดระบบการทำงานร่วมกันในการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยใช้ กรอบคิด กรอบงาน และหลักการทรงงาน เป็นเครื่องมือเพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชน ผลจากการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันบริหารอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดตัวอย่างความสำเร็จ และสามารถขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนอื่นได้ 1,816 หมู่บ้าน โดยชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เป็นหนึ่งในชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และภาครัฐ จากเดิมเป็นพื้นที่สนามกอล์ฟร้าง เนื้อที่ประมาณ 3,565 ไร่ ได้รับการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรทั้งหมด 1,889 ราย และนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้มีหนี้สิน และไร้ที่ดินทำกินในพื้นที่เพชรน้ำหนึ่ง จำนวน 238 ครัวเรือน ด้วยสภาพพื้นที่ค่อนข้างลาดเอียง และเป็นดินลูกรัง ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ เกษตรกรจึงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และประสบปัญหาหนี้สิ้นมาโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2557 ชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน ทำให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างบริหารจัดการน้ำ ระบบกระจายน้ำ และอาคารบรรจุเพื่อเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน โดยมีภาคเอกชนเป็นพี่เลี้ยงบริหารจัดการการผลิตอย่างเป็นระบบ สามารถพัฒนาผลผลิตและบรรจุภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม จนเป็นที่ยอมรับปัจจุบันจำหน่ายในร้านค้ามูลนิธิชัยพัฒนา 1 สาขา และร้านโกลเด้นเพลส 15 สาขา ทำให้สมาชิกมีรายได้มั่นคงต่อเนื่อง ลดภาระหนี้สิน ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเอง เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้

งาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2565” จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสรุปแนวทางการทำงานและการพัฒนาร่วมกันระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ในการขยายผลสำเร็จการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริต่อไป

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วันนี้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เอกชน และ ชุมชน ได้ร่วมกันดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดความสำเร็จแล้ว เราจะทำงานแบบ 3 ประสาน ระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อขยายความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปได้อย่างคล่องตัว สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เกิดระบบการทำงานร่วมกัน ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกัน “เทิด ด้วย ทำ” คือทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สานต่อพระราชปณิธานที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ให้สัมฤทธิผลตามพระราชประสงค์ จึงเป็นการเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างแท้จริง

ไว้อาลัยผู้แทนชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง

23/09/2019

ขอร่วมไว้อาลัยให้แก่ นายสพรรณ์ นาคสิงห์ ประธานเครือข่ายจัดการน้ำชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง จ.เพชรบุรี ผู้นำเครือข่ายเกษตรกรยากไร้ 238 ราย ผู้พลิกฟื้นที่ดินสนามกอล์ฟร้างที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลจนมีน้ำสำรอง ทำเกษตรได้ตลอดปี สร้างกลุ่ม สร้างอาชีพ แบ่งปันผลผลิต และรายได้
ทำให้สมาชิกทั้ง 238 ราย หลุดพ้นจากภาวะหนี้สิน

ด้วยความมุ่งมั่น และสำนึกต่อแผ่นดิน นายสพรรณ์ได้สร้างกลุ่มเกษตรกรปลูกผักกางมุ้ง จนทำให้ผลผลิตของชุมชนเพชรน้ำหนึ่งติดตลาด เป็นที่ยอมรับทั้งในกลุ่มราชการ และเอกชน … ก่อนเสียชีวิต นายสพรรณ์ ได้นำชุมชนเพชรน้ำหนึ่งพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรร่วมกับเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจในจังหวัดเพชรบุรีอย่างต่อเนื่อง จนมีผลผลิตของชุมชน วางจำหน่ายในร้านโกลเด้น เพลซ (Golden Place)
ถึง19 รายการ ได้แก่ ผักชี คะน้าฮ่องกง มะเขือเทศสวิทเชอรี่ มะเขือเทศสีดา เครื่องต้มยำ มะเขือเปาะ ผักชีล้อม แตงกวาเล็ก ตะไคร้ ผักบุ้งจีน ชะอม พริกขี้หนู ผักกูด มะเขือกรอบ มะเขือกรอบ มะเขือพวง มะละกอดิบดำเนิน มะละกอฮอร์แลนด์ ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง … แม้คุณสพรรณ์จะจากไป แต่ผักยังอยู่ ผลงานของชุมชนเพชรน้ำหนึ่งยังอยู่เป็นต้นแบบให้เครือข่ายชุมชนและเยาวชนตลอดไป…

“พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหลายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา”
(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส: กฤษณาสอนน้องคำฉันท์)

ขอดวงวิญญาณของนายสพรรณ์จงสู่สุคติ .