มูลนิธิฯ จัดค่ายพี่นำน้องรักษ์น้ำฯ ปี 67 ครั้งที่ 1
วันที่ 7-10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดค่ายเยาวชนโครงการเครือข่ายพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567 ครั้งที่ 1 ณ ค่ายบุรฉัตร ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 204 คน
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ และพัฒนากลุ่มเยาวชนให้สามารถประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริสู่การดูแลรักษาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมฐานการเรียนรู้ การทำฝายเพื่อสร้างความยั่งยืน, การทำแผนที่+ผังน้ำ เบื้องต้น, การจัดการคุณภาพน้ำ และการใช้แอปพลิเคชัน Thai Water และการเรียนรู้ผ่านพื้นที่ต้นแบบความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนบ้านหนองตาจอน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เยาวชนจะได้นำองค์ความรู้ที่ได้กลับไปประยุกต์ใช้และต่อยอดกับโครงการของตนเองต่อไป
ประกาศผลพี่นำน้องรักษ์น้ำฯ ปี67
และแล้วสิ่งที่ทุกคนรอคอย มาถึงแล้วน๊าาาา
ผลการคัดเลือกกลุ่มที่ผ่านเข้าค่ายรอบแรก ในโครงการเครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567
ทางมูลนิธิฯ ขอแสดงความยินดีกับกลุ่มที่ผ่านทั้ง 23 โครงการด้วยนะคะ
แล้วเจอกันวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2567 นะคะ
หนังสือพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ปี 2564-2565
รับสมัครโครงการเครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567
เปิดรับสมัครกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมโครงการเครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 รายละเอียดเพิ่มเติมนั้น สามารถแสกน QR Code พร้อมดาวน์โหลดเอกสารได้เลยค่ะ
**คุณสมบัติข้อ 4 หมายถึง รายชื่อเยาวชนที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2566 นะคะ
มาร่วมกันรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รวมพลัง และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันค่ะ
สามารถดาวน์โหลดเอกสารรายละเอียดโครงการ คลิกเลย
เยาวชน ร.ร.ขุนควรวิทยาคม ร่วมบรรยายการฟื้นป่าต้นน้ำ
วันที่ 26 ธันวาคม 2566 เวลา 21.40 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติผ่านแอปพลิเคชัน Thaiwater รวมถึงการดำเนินงานโครงการพัฒนากว๊านพะเยาด้านการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีตัวอย่างของศูนย์บริหารจัดการน้ำองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรือ โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรืออธิบายเรื่องการใช้ข้อมูลและสารสนเทศในการบริหารจัดการภาวะน้ำแล้งและน้ำหลากภาคเกษตรในตำบล รวมถึงได้รับฟังการบรรยายการฟื้นฟูป่าต้นน้ำจากกลุ่มเยาวชนตำบลขุนควร โรงเรียนขุนควรวิทยาคม อ.ปง จ.พะเยา ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ร้อยเอก ธรรมนัส ได้ให้โอวาทกับกลุ่มเยาวชนว่า กลุ่มเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญและถือเป็นความโชคดีของอำเภอปงและจังหวัดพะเยาที่ได้สืบสานแนวปณิธานการทำงานเรื่องน้ำตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และให้ทำต่อไปอย่างเข้มแข็งและขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ทุกคนที่ทำงานด้านทรัพยากร
มูลนิธิฯ จัดค่ายพี่นำน้องฯ ปี 66
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานโครงการเครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2566 ระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2566 ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร โดยมีกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมจำนวน 18 แห่ง ประกอบด้วย กลุ่มเยาวชนภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเยาวชนที่เป็น Champ of the Champ จำนวน 4 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ 8 แห่ง ต่อยอดการบริหารจัดการน้ำทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 1 แห่ง การบำบัดและรักษาคุณภาพน้ำ 7 แห่ง และการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพดิน 2 แห่ง
ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 กลุ่มเยาวชนได้ศึกษาดูงานที่กลุ่มเยาวชนได้ศึกษาดูงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และนิทรรศการพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ช่วงเช้ากลุ่มเยาวชนได้ศึกษาดูงานที่โรงเรียน ราชประชานุเคราะห์ 47 เพื่อเรียนรู้เรื่องการบำบัดน้ำภายในโรงเรียน ช่วงบ่ายศึกษาดูงานที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เพื่อเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ และการบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาบรรยายหัวข้อ “เยาวชนเทิด ด้วย ทำ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” กลุ่มเยาวชนได้นำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการในแต่ละแห่ง และได้เข้ารับเกียรติบัตรจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
หนังสือพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ฉบับการ์ตูน ปี 2565
มูลนิธิฯ จัดค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำฯ ปี 66
ผ่านไปแล้วกับกิจกรรมค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2566 ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2566
โดยในวันแรก (11 มิถุนายน 2566) นั้น กลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับฟังการบรรยายพิเศษ “เยาวชน เทิด ด้วย ทำ กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากนั้น เครือข่ายเยาวชนได้ศึกษาดูงานการบริหารจัดการน้ำและกองทุน ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และการสูบน้ำและกระจายน้ำด้วยระบบโซลาเซลล์แบบลอยน้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน และการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่และการใช้น้ำซ้ำ
วันที่ 2 (12 มิถุนายน 2566) เครือข่ายเยาวชนได้ศึกษาดูงานฐานหญ้าแฝก ฐานแปลงปุ๋ยหมัก ฐานงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ฐานประมง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้นำเสนอโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เครือข่ายเยาวชนจากที่อื่นๆ
วันที่ 3 (13 มิถุนายน 2566) เครือข่ายเยาวชนได้เรียนรู้การทำแผนที่ผังน้ำเบื้องต้น เรียนรู้การทำฝาย การใช้แอปพลิเคชัน Thai Water เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์ฝน ฟ้า อากาศ
…. นับได้ว่าเครือข่ายเยาวชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตต่อไป …..
แล้วพบกันใหม่ในเดือนตุลาคมค่ะ
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านตะโล๊ะ จ.ยะลา
วันนี้ 25 พฤษภาคม 2566 ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านตะโล๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา” โดยมีนายจรูญศักดิ์ หมาดเท่ง นายอำเภอรามัน พร้อมด้วยนางสาวเยาวภา อินชะนะ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก
ชุมชนบ้านตะโล๊ะแห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นการพัฒนาชุมชนที่ใช้ความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ต่อมาเมื่อสภาเกษตรกรจังหวัดยะลาได้พากลุ่มเยาวชนบ้านตะโล๊ะที่ขาดโอกาสทางการศึกษามาร่วมเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่จัดโดยโรงเรียนพระดาบส และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ (สสน.) กลุ่มเยาวชนจึงได้รู้จักกับเครือข่ายลุ่มน้ำปัตตานี ที่กลายมาเป็นพี่เลี้ยง และเกิดการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้น มาพัฒนาลำห้วยหลัก 2 ลำห้วย คือ ลำห้วยดูซงปาโจ กับ ดูซงยาฆอ ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้ตลอดปี
ปัจจุบัน กลุ่มเยาวชนได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาทรัพยากรน้ำ เกิดอาชีพให้เยาวชน ทั้ง ทำเกษตร และเพาะกล้าไม้ รวมทั้ง เกิดกลุ่มอาชีพแม่บ้านที่ดำเนินงานร่วมกับผู้นำศาสนา ขับเคลื่อนพัฒนาสังคมและศาสนา
ความสำเร็จที่เห็นถึงความยั่งยืนของบ้านตะโล๊ะ คือ กลุ่มอาชีพ ที่เป็นอาชีพใหม่ และ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ได้แก่ กลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรแบบยั่งยืน ประกอบด้วย กลุ่มปลูกผักปลอดภัยบ้านตะโล๊ะ กลุ่มเลี้ยงปลาในสระพระราชทาน กลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรง และกองทุนกลุ่มสตรี ประกอบด้วย กองทุนขายอาหาร กองทุนเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ กองทุนน้ำดื่มสะอาด โดยรายได้ทั้งหมดจะนำมาพัฒนามัสยิด เป็นค่าอาหารกลางวันให้กับเด็กโรงเรียนสอนศาสนา และนำไปพัฒนาหมู่บ้าน
ชุมชนบ้านตะโล๊ะ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 26 ให้ผู้ที่สนใจ สามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงานไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป
ประกาศผลรอบตัดสิน พี่นำน้องรักษ์น้ำฯ
ผ่านมาแล้วกับโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน รอบตัดสิน ขอแสดงความยินดีกับกลุ่มที่ได้รับรางวัลทั้ง 7 กลุ่มด้วยนะคะ โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายแกนนำเยาวชนเพาะพันธุ์กล้าไม้ตำบลขุนควร จ.พะเยา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม จ.ลำปาง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนคีรีราษฎร์พัฒนา จ.นครศรีธรรมราช และชุมชนลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ และรางวัลชมเชย ได้แก่ กลุ่มพี่นำน้องรักษ์น้ำ ม.นอร์ท-เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ กลุ่มเรารักษ์เมืองน้ำดำ โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ และกลุ่มเยาวชนชุมชนปะทิว รักษ์น้ำ รักษ์ป่า จ.ชุมพร