สำรวจ JWC รอบตัดสิน ร.ร.คีรีราษฎร์พัฒนา จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการ “รักษ์ป่าต้นน้ำปากพนังอย่างยั่งยืน” ที่ดำเนินงานโดยโรงเรียนคีรีราษฎร์พัฒนา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน

โรงเรียนคีรีราษฎร์พัฒนาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบเชิงเขาป่าต้นน้ำปากพนัง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ในพื้นที่เขตป่าเขาหลวงอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง จังหวัดนครศรีธรรมราช ป่าต้นน้ำปากพนังเป็นแหล่งต้นน้ำคลองขุนพัง ซึ่งเป็นสายน้ำสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต ในอดีตนั้นพื้นที่ป่าต้นน้ำปากพนังดังกล่าวเป็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยหลายสายที่ไหลลงสู่คลองขุนพัง แต่ในปัจจุบันป่าดังกล่าวถูกทำลาย ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ฝนไม่ตกตามฤดูกาลและเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้น้ำในลำธารลดน้อยลง หรือบางแห่งเกิดการขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่งผลผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

การดำเนินโครงการ “รักษ์ป่าต้นน้ำปากพนังอย่างยั่งยืน” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน และได้สร้างเครือข่ายในการดำเนินงานระหว่าง เครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยสร้างความตระหนักให้นักเรียนและชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่สืบต่อไป

ภูมิปัญญาฝาย ชุมชนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

✨ชุมชนทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ🌿🌳 โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ฝายดักตะกอน เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนด้วยการทำฝายกักเก็บน้ำกึ่งถาวร สำรองน้ำด้วยสระแก้มลิง จนทำให้มีน้ำอุปโภค บริโภค ที่เพียงพอครอบคลุมพื้นที่ 11 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล 1 อำเภอ✨💧💦

🔸🔸นอกจากนี้ ชุมชนทุ่งสงถือเป็นชุมชนตัวอย่างที่ผลิตวีดิทัศน์ด้วยโทรศัพท์มือถือ 📱 หลังจากที่ได้มีการอบรมพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา–🔸🔸

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชมทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยมี นายปรีชา ชนะกิจกำจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนด้วยฝายกักเก็บน้ำ สำรองน้ำด้วยสระแก้มลิง ปรับรูปที่ดินมาทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เกิดเครือข่ายบริหารจัดการน้ำครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตาม “กรอบคิด” เรื่องการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า รู้จักตนเอง ปรับตัวตามการเปลี่ยนให้เหมาะสมกับภูมิสังคมในวิถีพอเพียง และ “กรอบงาน” ที่เกิดจากการร่วมกันสำรวจและเก็บข้อมูล โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ควบคู่กับการเรียนรู้ใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) และค่าระดับมาปรับใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างน้ำ แผนผังน้ำ ทิศทางน้ำ เพื่อเชื่อมโยงระบบกักเก็บน้ำเข้ากับสระแก้มลิง สระประจำไร่นา และถังสำรองน้ำอย่างเป็นระบบ บรรเทาความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ก่อให้เกิดความมั่นคงอาหาร มั่นคงน้ำ บนวิถีพอเพียง

นับได้ว่าชุมชนทุ่งสงเป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการเรียนรู้ สู่การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 24 และเป็นต้นแบบให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป

ชุมชนทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ชุมชนทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยชุมชนตำบลถ้ำใหญ่ 10 หมู่บ้านและตำบลนาหลวงเสน 9 หมู่บ้าน รวมเป็น 19 หมู่บ้าน ต้องประสบปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง และดินโคลนถล่มเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมีการลักลอบตัดไม้บนพื้นที่ป่าต้นน้ำ  ชุมชนมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,900 มิลลิเมตรต่อปี แต่ขาดการบริหารจัดการและสำรองน้ำ

ในปี 2559 ชุมชนตำบลถ้ำใหญ่เริ่มหาทางแก้ไขปัญหา โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนด้วยฝากกักเก็บน้ำ สำรองน้ำด้วยสระแก้มลิง ต่อมา ปี 2560 เกิดทั้งอุทกภัย น้ำหลากและน้ำแล้งในปีเดียวกัน

ในปี 2561 เยาวชนในชุมชนจึงรวมกลุ่มกันร่วมแก้ปัญหาน้ำ คลอมคลุมพื้นที่ทั้ง 2 ตำบลจนสำเร็จ ได้รับรางวัลชนะเลิศพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีพุทธศักราช 2562

ปัจจุบัน ชุมชนทุ่งสงมีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์  สามารถให้น้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภคได้มากกว่า 1,700 ครัวเรือน ใน 2 ตำบล มีสระน้ำเพื่อชีวิต อุทิศถวายพ่อของแผ่นดิน เป็นแก้มลิงเพื่อสำรองน้ำ  รวมทั้งมีสระประจำไร่นา และถังสำรองน้ำในแปลง มีน้ำสำรองมากกว่า 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับทำการเกษตร 3,890 ไร่ และทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่แปลงรวม 26 ครัวเรือน ใช้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ปีละกว่า 1 แสนบาท และในช่วงฤดูแล้งปี 2562 น้ำจากตำบลถ้ำใหญ่ สามารถส่งไปช่วยให้พื้นที่ใกล้เคียง 11 หมู่บ้านใน 3 ตำบลรอดพ้นภัยแล้ง มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพออีกด้วย

สำรวจ JWC รอบตัดสิน กลุ่มเยาวชนพนาดร/กลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการจากภูผาสู่มหานที พี่นำน้องรักษาป่าต้นน้ำ โดยกลุ่มเยาวชนพนาดร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2562

กลุ่มเยาวชนพนาดร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ดำเนินโครงการจากภูผาสู่มหานที พี่นำน้องรักษาป่าต้นน้ำ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนในเรื่องระบบนิเวศป่าต้นน้ำรวมถึงการทำฝายชะลอน้ำแบบผสมผสาน โดยใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่เป็นหลัก อีกทั้งเพิ่มพันธุ์กล้าไม้ท้องถิ่น โดยมีแนวคิดที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการชะล้างและหน้าดินพังทลาย ส่งผลให้ในช่วงฤดูแล้งน้ำในลำห้วยเหือดแห้ง และในช่วงฤดูฝน มีปริมาณน้ำมากจนก่อให้เกิดปัญหาน้ำหลาก

การดำเนินโครงการจากภูผาสู่มหานที พี่นำน้องรักษาป่าต้นน้ำ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานของกลุ่มเยาวชนที่มีชุมชนเป็นพี่เลี้ยงและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ ที่ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน สร้างความรู้สึกรักและหวงแหนป่าไม้และระบบนิเวศของบ้านเกิด รวมถึงเป็นการเพิ่มปริมาณของต้นไม้ในป่าต้นน้ำอีกด้วย