ประชุมเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ ณ. จ.พะเยา

วันที่ 11 ก.ย.63 เครือข่ายต้นน้ำอิงตะวันออกในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ 11 ตำบล ได้ประชุม วางแผนและร่วมจัดทำข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนที่สั้นลง ก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้ง

โดยเจ้าหน้าที่ลุ่มน้ำอิง จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) ได้ให้องค์ความรู้ในเรื่องการจัดทำข้อมูล(แผนที่, ผังน้ำ,สมดุลน้ำ) ให้กับพื้นที่ อบต.บ้านปิน, บ้านถ้ำ, คือเวียงและหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เพื่อเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงแล้งและหลาก ก่อนหมดฤดูฝน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่ต้นน้ำอิงฝั่งตะวันออกของพะเยาที่ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำและฟื้นฟูโครงสร้างน้ำเดิมตั้งแต่ปี 60 จากโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกองทัพบก

โดยมูลนิธิอุกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้วางพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ เป็นพื้นที่เครือข่ายบริหารจัดการน้ำเนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและการใช้ต้นทุนน้ำในพื้นที่แทนการใช้น้ำจากกว๊านพะเยาเพียงแห่งเดียว ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินงานด้านพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วกว่า 8 ตำบล

และในระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน 63 จะเป็นการประชุมของพื้นที่จัดการน้ำที่เหลืออีก7 พื้นที่ของอำเภอดอกคำใต้ เพื่อวางแผนการจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งนอกจากจะเป็น การเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำในอนาคตแล้ว ยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคท้องถิ่นในพะเยาเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเองให้ยั่งยืนอีกด้วย

นวัตกรรมระบบบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง ตัวอย่าง ถนนน้ำเดิน

นวัตกรรมระบบบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง: ถนนน้ำเดิน

วิธีการ

  • ปรับระดับถนนและเพิ่มทางน้ำ 2 ข้างทาง เพื่อใช้ถนนเป็นทางระบายน้ำ นำน้ำหลากและน้ำฝน กักเก็บเข้าสู่สระน้ำแก้มลิงที่ปลายทาง

 

อดีต: น้ำหลากท่วมชุมชน ทำให้ถนนในเขตชุมชนชำรุด

ปัจจุบัน: น้ำหลากจากถนนน้ำเดิน ไปสู่สระแก้มลิง บ้านเรือน ถนน และพื้นที่เกษตร ไม่ได้รับความเสียหาย

นวัตกรรมระบบบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง ตัวอย่างคลองดักน้ำหลาก

นวัตกรรมระบบบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง: คลองดักน้ำหลาก

ใช้ ว และ ท สำรวจพื้นที่ ระดับความลาดชัน  กำหนดเส้นทางน้ำ จัดทำข้อมูลแหล่งน้ำ แผนที่น้ำ

วิธีการ

  1. สำรวจพื้นที่ระดับลาดชัน และเส้นทางน้ำหลาก
  2. ขุดคลองดักน้ำหลาก กักเก็บน้ำหลากและน้ำฝน เป็นน้ำต้นทุน
  3. เชื่อมโยงแหล่งน้ำ นำน้ำเก็บสำรองไว้ในสระน้ำแก้มลิงและสระน้ำประจำไร่นา
กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและระบบกระจายน้ำ

          นายสงกรานต์  ใหม่คำ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ทางชุมชนพยายามจัดการน้ำ โดยร่วมแรงร่วมใจกัน วางระบบท่อส่งน้ำชลประทานด้วยท่อส่งน้ำของชุมชน เพื่อแก้ปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร แต่ก็แก้ปัญหาได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะคิดเพียงแค่การนำน้ำมาใช้เท่านั้น


          แต่เมื่อได้ร่วมงานกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้หูตาของคนในชุมชนเปิดกว้างมากขึ้น ได้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบริหารจัดการน้ำ เกิดความเข้าใจว่า การบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน ต้องจัดการน้ำทั้งระบบตามแนวพระราชดำริ  โดยเริ่มจากตัวเราเองก่อนแล้วขยายผลออกไปยังสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้ยั่งยืนทุกจุดของเส้นทางน้ำ ตั้งแต่น้ำฝนที่ตกในพื้นที่ น้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยทราย น้ำที่ได้รับจัดสรรมาเก็บในแปลง ต้องดูว่าพืชที่มีอยู่ต้องใช้น้ำอย่างไรจึงเกิดประสิทธิภาพสูงสุด พัฒนาการปลูกพืชที่หลากหลาย เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยทางด้านอาหาร รวมถึงการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ส่งผลให้เกิดความมั่นใจในแผนการพัฒนาที่วางไว้ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในอนาคตที่ดีขึ้น เกิดการจัดสรรน้ำจากเดิมที่รองรับพื้นที่ได้ 400 ไร่ เพิ่มเป็น 2,145 ไร่ กำหนดเขตป่าอนุรักษ์ต้นน้ำของชุมชน พื้นที่ 4,500 ไร่ และมีแนวทางที่พัฒนาต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

สภาพปัญหา

          กลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ประกอบด้วย ประชากร 2,104 คน จาก 4 หมู่บ้านในตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และอยู่ในลุ่มน้ำปิง พื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง และเป็นเนินสูงต่ำลูกระนาด มีลำห้วยทรายเป็นลำห้วยเล็กๆ เป็นแหล่งน้ำหลักของชุมชน แต่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ทำเกษตรจนเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้น


          ต่อมาชุมชนได้ร่วมกันทูลเกล้าถวายฎีกาขอสร้างอ่างเก็บน้ำ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2534 มีความจุ 225,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถจัดสรรน้ำให้พื้นที่เกษตรได้ 400 ไร่ และได้รวมกลุ่มจัดตั้ง “กลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยทราย” ขึ้น แต่เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยทรายฯ มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย ขณะที่พื้นที่ต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเป็น 7,927 ไร่ ซึ่งพื้นที่ 2,145 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตร ประกอบด้วย สวนผลไม้ ร้อยละ 76.7 นาข้าว ร้อยละ 1.4 และพื้นที่สวนอื่นๆ ร้อยละ 21.9 ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมทั้งพื้นที่ป่าต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยทรายฯ ขาดการดูแลรักษา

แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา

          ในปี พ.ศ. 2552 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้ถ่ายทอดการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ชุมชนสามารถคำนวณสมดุลน้ำ เพื่อเข้าใจพื้นที่ของตนเอง จัดทำแผนที่และวางท่อส่งน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำ จัดตั้งกฎกติกาการใช้น้ำ การเก็บค่าน้ำ ปรับปรุงท่อส่งน้ำที่ชำรุด และต่อมามูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ถ่ายทอดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ สู่กลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยทราย เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำของชุมชน
          ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ชุมชนได้ร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เริ่มจากสำรวจและจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดขอบเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าใช้สอย กำหนดกฎ กติกา การดูแลและบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ร่วมกัน


          ชุมชนปรับเปลี่ยนวิถีเกษตร จากปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นแบบผสมผสาน เริ่มจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มข้าวอินทรีย์ กลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ด และผักปลอดสารพิษ มาร่วมกันทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ระหว่างกัน เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ ทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยทรายเป็นสังคมที่พึ่งพาและเป็นหนึ่งเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลง

          กลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยทราย มีระบบกระจายน้ำด้วยท่อ จากอ่างเก็บน้ำห้วยทรายฯ ไปสู่พื้นที่เกษตรและครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2541 เริ่มต้นจากการทดลองวางท่อ 1 สาย ส่งให้พื้นที่เกษตร 155 ไร่ เมื่อเห็นว่าได้ผลดี ชุมชนได้ขยายแนวท่อส่งน้ำเป็น 20 สาย สำหรับพื้นที่เกษตร 2,145 ไร่ สมาชิก 224 ราย ปัจจุบันได้ขยายเพิ่มอีก 2 สาย เพื่อส่งให้อีกหมู่บ้านใช้อุปโภคด้วยระบบประปาหมู่บ้าน สำหรับ 336 ครัวเรือน


          ชุมชนได้เรียนรู้การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ เครื่องจับพิกัดจุด (GPS) จัดทำแผนที่แนวท่อส่งน้ำ ทำให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ กำหนดกฎ กติกาการจัดสรรน้ำให้เพียงพอและทั่วถึง รวมทั้ง ระบบการดูแลรักษา ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ และทำให้มีน้ำพอเพียงสำหรับทำเกษตรได้ตลอดปี แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,400 ไร่ ชุมชนร่วมกันดูแลและรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4,500 ไร่ ร่วมกันทั้ง 5 หมู่บ้าน
          การปรับเปลี่ยนวิถีเกษตร เป็นเกษตรแบบผสมผสานตามแนว “ทฤษฎีใหม่” ช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ชาวนามีรายได้เฉลี่ยต่อปี ประมาณ 40,000 ถึง 50,000 บาท ต่อครัวเรือน เป็นผลให้รายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น ปีละ 20,000 บาท และลดรายจ่ายครัวเรือนลงได้ ปีละ 9,600 บาท
          ปี พ.ศ. 2512 สหกรณ์นิคมพร้าว ได้จัดสรรพื้นที่ สำหรับชาวบ้านที่อพยพโยกย้ายมาจากต่างถิ่น เพื่อจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทรายทอง บ้านขวัญประชา บ้านไชยมงคล และบ้านสหกรณ์แปลง2 ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย โดยแบ่งสิทธิพื้นที่ทำกินให้ครอบครัวละ 20 ไร่
          ปี พ.ศ. 2530 ชุมชนร่วมกันถวายฎีกา ขอพระราชทานสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทราย
          ปี พ.ศ. 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริ ให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ความจุอ่างเก็บน้ำ 225,000 ลูกบาศก์เมตร
          ปี พ.ศ. 2536 – 2540 อ่างเก็บน้ำห้วยทรายสร้างเสร็จ แต่ยังขาดการจัดการและระบบกระจาย ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างเหมืองดาดคอนกรีตระยะทาง 7,200 เมตร ครอบคลุมพื้นที่เกษตร 400 ไร่
          ปี พ.ศ. 2544 – 2547 เริ่มทดลองกระจายน้ำผ่านท่อส่งน้ำ สายที่ 1 เนื่องจากพื้นที่สูงต่ำ เป็นดินทราย ทำให้น้ำในลำเหมืองระเหยเร็ว และกระจายน้ำได้ไม่ทั่วถึง จึงขยายระบบกระจายน้ำผ่านท่อส่งน้ำ รวม 22 สาย ครอบคลุมพื้นที่เกษตร 2,145 ไร่ (20 สาย เพื่อทำเกษตร และ 2 สาย เพื่ออุปโภคในหมู่บ้าน)
          ปี พ.ศ. 2550 – 2552 จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการน้ำ 20 สาย เริ่มดำเนินงานจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำรวจและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
          ปี พ.ศ. 2554 – 2556 ปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยว มาทำเกษตรผสมผสานดำเนินงานทฤษฎีใหม่ และขยายแนวคิดการจัดการน้ำชุมชนและการพัฒนาอาชีพสู่ชุมชนข้างเคียง
          ปี พ.ศ. 2557 ได้รับเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ แห่งที่ 7 ของประเทศ เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและระบบกระจายน้ำ


          ปี พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน ดำเนินงานจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลตัวอย่างความสำเร็จการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและระบบกระจายน้ำ การดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มอาชีพ

ปัจจัยความสำเร็จ

พัฒนาศักยภาพชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง
          เมื่ออ่างเก็บน้ำห้วยทรายฯ สามารถกระจายน้ำสู่พื้นที่เกษตรผ่านท่อส่งน้ำอย่างทั่วถึง เกิดกลุ่มที่มาทำหน้าที่บริหารจัดการในชุมชน ได้แก่ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชน กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า และกลุ่มเกษตรต่างๆ ทำให้ชุมชนแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ทำงานอย่างมีส่วนร่วมและเป็นธรรม รวมทั้งคนในชุมชนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้ลองผิดลองถูก และใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาและปรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำ จนเกิดแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม มั่นใจในการบริหารจัดการภายในชุมชน คิดค้นแนวทางใหม่ในการเพิ่มผลผลิตและขายผลิตทางการเกษตร

ส่งเสริมการเรียนรู้และคิดค้นนวัตกรรม
          กลุ่มเยาวชนมีศักยภาพในการเรียนรู้ ได้เข้าร่วมเรียนรู้การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจัดเก็บข้อมูลและออกแบบระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ชุมชนจึงได้เรียนรู้ทั้งเทคโนโลยีใหม่ การวางแผนการเพาะปลูกที่เหมาะสม และการจัดทำบัญชีครัวเรือน กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย มุ่งมั่นในการเรียนรู้แนวทางใหม่โดยเฉพาะ เกษตรปลอดสารพิษ และแนวทางการตลาดเพื่อขายผลผลิต

ความสำเร็จ

พัฒนาศักยภาพชุมชนในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
          กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการสำรวจและแก้ไขปัญหาของชุมชน

ระบบกระจายน้ำ


          ชุมชนได้เรียนรู้วิธีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้แก่ ภาพถ่ายจากดาวเทียม โปรแกรมแผนที่ และเครื่องจับพิกัดจุด เพื่อนำมาจัดทำแผนที่น้ำของชุมชน รู้ระดับสูงต่ำของพื้นที่ แสดงเส้นทางท่อส่งน้ำตั้งแต่จุดตั้งต้นจนถึงพื้นที่เกษตรของสมาชิกผู้ใช้น้ำ รวมทั้ง วิเคราะห์สมดุลน้ำหาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำฝน น้ำที่เก็บในอ่าง และความต้องการน้ำของพืชที่ปลูก เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ครบวงจรในแต่ละปี และพัฒนาบัญชีสมาชิกผู้ใช้น้ำที่แสดงผลว่า มีปริมาณน้ำต้นทุน 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่มีน้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำ ซึ่งมีระยะเวลาขาดแคลนน้ำ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคม


          ชุมชนได้เรียนรู้วิธีสำรวจพื้นที่ เพื่อวางท่อส่งน้ำอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำฯ ได้ร่วมกันวางท่อ ส่งน้ำทั้ง 20 สาย เพื่อกระจายน้ำสู่พื้นที่เกษตร 2,145 ไร่

การจัดการป่าต้นน้ำ


          ชุมชนได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อสำรวจและจัดทำแผนที่ป่า ที่แสดงขอบเขตป่าที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่ามาทำเกษตร รวมทั้งร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เกิดเป็นคณะทำงานอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเครือข่ายลำห้วยทราย จากตัวแทนพื้นที่เครือข่ายป่าต้นน้ำ 7 ชุมชน โดยมี ข้อตกลง กฎกติกา และระเบียบในการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำร่วมกัน

เกษตรผสมผสาน เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี


          สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สนับสนุนให้กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีใหม่ และ เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทำให้เกิดการรวมกลุ่มทำเกษตร ช่วยเหลือ และเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ระหว่างกัน เช่น กลุ่มเห็ด และ กลุ่มพืชปลอดสารพิษ


          นอกจากนี้ ชุมชนได้เรียนรู้เทคนิคในการพัฒนาปฏิทินการเพาะปลูก และบันทึกบัญชีครัวเรือน รวมทั้งกลุ่มทำเกษตรได้พัฒนาระบบบัญชี เพื่อติดตามผลประกอบการของชุมชน ซึ่งปฎิทินการเพาะปลูกและระบบบัญชีนี้ ได้ช่วยให้กลุ่มได้ติดตาม พัฒนา และปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้เหมาะสมและเกิดรายได้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง

พัฒนาเครือข่ายชุมชน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างเป็นธรรม เกิดการมีส่วนร่วมและพัฒนาที่ยั่งยืน
          ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ในด้านการดำเนินงานแบบพึ่งตนเอง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. และ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้สนับสนุนให้ชุมชนทำงานอย่างมีส่วนร่วม นำไปสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของในชุมชนของตน โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เช่น สมาชิกผู้ใช้น้ำผ่านท่อส่งน้ำต้องจ่ายค่าน้ำ และเรียนรู้เรื่องการเก็บสำรองน้ำไว้ในพื้นที่เกษตร ของตนเอง การดูแลรักษาท่อส่งน้ำ ซึ่งกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยทราย รวมทั้งหัวหน้าคณะกรรมการท่อส่งน้ำแต่ละสาย ได้รับคัดเลือกจาก สมาชิกผู้ใช้น้ำ ทำหน้าที่จัดสรรน้ำให้เท่าเทียม


          การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน และการทำงานอย่างมีส่วนร่วมนี้ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของ การบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยทรายฯ ซึ่งหน้าที่รับผิดชอบยังครอบคลุมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและสมาชิกผู้ใช้น้ำ รวมทั้งชุมชนและเยาวชนได้ร่วมดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน
          นอกจากนี้ ชุมชนได้คัดเลือกผู้แทนจากแต่ละหมู่บ้าน รวมกลุ่มเป็นคณะทำงานอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เครือข่ายลำห้วยทราย ร่วมกันกำหนดข้อตกลง กฎกติกา และระเบียบในการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำ
          กลุ่มทำการเกษตร ได้แนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกร เรียนรู้วิธีการและแนวทางการลงทุน ด้วยการปลูกพืชที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มรายได้ของตนเอง นำไปสู่การเพิ่มเศรษฐกิจของชุมชน

เครือข่ายความสำเร็จ
          ตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายฯ ได้ขยายไปสู่ อ่างเก็บน้ำห้วยลึก ซึ่งเป็นเครือข่ายใหม่ทำให้สามารถกระจายน้ำสู่ 220 ครัวเรือน และพื้นที่เกษตร 1,300 ไร่ ครอบคลุม 2 หมู่บ้าน เกิดกลุ่มเยาวชน “เยาวชนรักดี” ดำเนินงานร่วมกับชุมชน มีสมาชิก 25 คน ร่วมกันเก็บข้อมูลพื้นที่ จัดทำแผนที่ และพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ