ประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2563
เมื่อเวลา 17. 50 น. วันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2563 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ห้องประชุม อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิชัยพัฒนา นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ โอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานเข็มที่ระลึกของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้แทนเยาวชนโรงเรียนกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ชนะการประกวดโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีพุทธศักราช 2561 เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานโล่รางวัลชนะเลิศ จากนั้น ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2563 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2562
เมื่อวันที่ 3 มกราคม พุทธศักราช 2562 เวลา 17.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2562 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ห้องประชุม อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิชัยพัฒนา มีนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ โอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานเข็มที่ระลึกของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้แทนเยาวชนโรงเรียนเฉลิมรัชวิทยาคม อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ชนะการประกวดโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีพุทธศักราช 2560 เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานโล่รางวัลชนะเลิศ จากนั้น ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2562 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์
ผลการดำเนินงานนับตั้งแต่ก่อตั้งในปีพุทธศักราช 2555 จนถึงปีพุทธศักราช 2561 มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริและหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สามารถขยายผลสู่ 1,573 หมู่บ้าน และเครือข่ายเยาวชน 291 กลุ่ม เกิดพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ 19 แห่ง เกิดตัวอย่างการดำเนินงานเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ 935 ครัวเรือน พื้นที่ 3,467 ไร่ สามารถลดรายจ่ายครัวเรือนได้รวมกว่า 5.8 ล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้ครัวเรือนรวมกว่า 17.4 ล้านบาทต่อปี และขยายผลด้วยชุมชนเองอีก 694 ครัวเรือน เกิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เพิ่มขึ้น 3 แห่ง ได้แก่
• พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านหนองตาจอน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
• พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
• พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ
สำหรับผลงานเด่นของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปีพุทธศักราช 2561 ได้แก่ การสร้างต้นแบบพลิกฟื้นเขาหัวโล้น ขยายผลวนเกษตรยั่งยืน และการฟื้นฟูกว๊านพะเยา สู่ความมั่นคงน้ำ การสร้างต้นแบบพลิกฟื้นเขาหัวโล้น ขยายผลวนเกษตรยั่งยืน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2560 มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ดำเนินงานสร้างตัวอย่างการฟื้นเขาหัวโล้น พื้นที่บ้านดงผาปูน และบ้านนาบง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน สามารถพลิกฟื้นเขาหัวโล้นได้ 1,267 ไร่ และขยายผลโดยชุมชนเองได้ 6,483 ไร่ รวมเป็น 7,750 ไร่ เปลี่ยนการทำเกษตรจากทำไร่ข้าวโพด มาทำวนเกษตรในพื้นที่ตนเองถึงร้อยละ 90 ตัวอย่างเกษตรกร นายเพียร พิศจารย์ จากเดิมทำไร่ข้าวโพด 10 ไร่ ขาดทุนทุกปี เป็นหนี้เกือบ 7 แสนบาท ภายใน 2 ปี ที่เปลี่ยนมาทำวนเกษตร มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 60,000 บาท ลดรายจ่ายครัวเรือนได้เฉลี่ยปีละ 30,000 บาท ปัจจุบันหนี้สินเดิมหมดไป และมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น การฟื้นฟูกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ที่เดิมประสบปัญหาเสื่อมสภาพเนื่องจากการทับถมของตะกอนและวัชพืช ปัญหาคุณภาพน้ำ และการบุกรุกกว๊านพะเยา ในปีพุทธศักราช 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้รับโครงการพัฒนากว๊านพะเยา ในด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรแหล่งน้ำ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยให้มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน จัดทำแผนงานการจัดการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำกว๊านพะเยา
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2556 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรอบกว๊านพะเยาได้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาและบริหารจัดการกว๊านพะเยา หรือ ศพบก. เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนากว๊านพะเยา เพื่อดำเนินงานพัฒนาตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำ ลำน้ำสาขาจนถึงบริเวณกว๊านพะเยา ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ช่วงปีพุทธศักราช 2557 ถึง 2561 โดยเริ่มจาก 5 ตำบล ปัจจุบัน เกิดต้นแบบเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ กลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลบ้านตุ่น และสามารถขยายผลได้อีก 14 ตำบล รวมเป็น 19 ตำบล มีความมั่นคงน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ปัญหาวัชพืชลดลง คุณภาพน้ำดีขึ้น ปัจจุบันได้จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนากว๊านพะเยาต่อเนื่อง ปีพุทธศักราช 2562 ถึง 2566 ขยายผลในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้และอำเภอภูกามยาว เพื่อลดการใช้น้ำจากกว๊านพะเยาด้วย