มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ SCG และ สสน.ฝ่าวิกฤติโควิด-19 แก้วิกฤติน้ำบริโภคพื้นที่ต้นน้ำยม
เมื่อวันที่ 10-14 มิถุนายน ที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ลงพื้นที่บ้านน้ำปุก ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา เพื่อติดตั้งระบบกรองน้ำดื่ม RO กำลังการผลิต 3,000 ลิตรต่อวัน เพื่อให้คนในชุมชนได้บริโภคน้ำดื่มที่มีคุณภาพสะอาดถูกหลักอนามัย
ในการติดตั้งระบบกรองน้ำดื่มครั้งนี้ สสน. ได้สนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศด้านน้ำ เพื่อให้ชุมชนมีระบบกรองน้ำที่มีคุณภาพ มีน้ำสะอาดบริโภคกว่า 150 ครัวเรือน สามารถลดรายจ่ายจากการซื้อน้ำบริโภคของชุมชนได้ถึง 4,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โดยเป้าหมายของโครงการในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงในด้านน้ำ 3 ด้าน นั่นคือ น้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเกษตร
ซึ่งที่ผ่านมา สสน. ได้เข้าไปสร้างความมั่นคงในด้านน้ำอุปโภคด้วยการสร้างถังสำรองน้ำในชุมชน เพื่อรองรับน้ำจากประปาภูเขาและมีแผนที่จะพัฒนาระบบเกษตรให้มั่นคงด้วยเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่
สำหรับการดำเนินการในครั้งนี้ ชุมชนได้ร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านน้ำบริโภค โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเหนือพื้นที่ต้นน้ำใน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านน้ำปุกและบ้านน้ำริน จำนวน 14 ฝาย
นอกจากนี้ ยังได้มีการเสริมองค์ความรู้ด้วยการสอนวิธีการบริหารจัดการน้ำให้กับผู้นำชุมชนและคนในพื้นที่ให้มีการบริหารจัดการให้เกิดความมั่นคงพร้อมกับสร้างกองทุนเพื่อไว้ใช้บริหารงานในด้านน้ำของชุมชนต่อไป
แคมเปญ “ชวนก๊วนมาแอ่วกว๊าน”
เมื่อวันที่ 14 พ.ย.63 ที่ผ่านมา เกิดกิจกรรม ที่มาจากการอยากพยาบาลพื้นที่ต้นน้ำของพะเยาของกลุ่มจิตอาสาทั่วประเทศ ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด หรือTCP, มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) หรือ สสน. และชุมชนบ้านตุ่น โดยมี อเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Brand Ambassador เป็นคนชวนในแคมเปญ “ชวนก๊วนมาแอ่วกว๊าน”
ซึ่งภายในงานมีการเสวนาเล็กที่น่าสนใจจากผู้ที่เข้าใจในเรื่องน้ำ
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์
“เราเห็นภาพการดูแลลุ่มน้ำ ซึ่งบริบทของน้ำอิงไหลจากกว๊านถึงแม่น้ำโขง ซึ่งมันคือการดูแลทั้งระบบ งานนี้เราได้ร่วมฟื้นน้ำตั้งแต่ต้นน้ำลงไปด้านล่าง เราต้องทำความเข้าใจกับกิจกรรมและความสำคัญในการมาช่วยพยาบาลต้นน้ำในครั้งนี้ เมื่อทำแล้วอย่าลืมนำไปขยายผลให้กับพื้นที่อื่น”
“ชุมชนที่บ้านตุ่น จ.พะเยา ใช้น้ำจากต้นน้ำ แล้วก็จ่ายไปสู่พื้นที่กลางน้ำ ดังนั้น การใช้น้ำจากกลางน้ำ จะสามารถใช้น้ำซ้ำได้จากต้นน้ำอีก กลับกันคนในเมืองตอนนี้ใช้น้ำแค่รอบเดียว ภาพใหญ่ของที่นี่ ใช้น้ำเกิน 3 ครั้ง คือ ต้นน้ำห้วยตุ่น (พื้นที่เกษตร, อุปโภค) ปล่อยลงกว๊านพะเยาผ่านไปยัง อ.ดอกคำใต้ อ.จุน แล้วไหลลงสู่ จ.เชียงรายและลงสู่แม่น้ำโขง มันเกิดการประหยัดน้ำได้มาก”
อเล็ก เรนเดล TCP Spirit Brand Ambassador
“บ้านเรามีน้ำที่สมบูรณ์ ดีมากกว่าต่างประเทศ แต่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจและช่วยพยาบาลต้นน้ำกันอย่างตั้งใจ พร้อมเปิดใจเรียนรู้ การช่วยกันใช้ ช่วยกันฟื้นฟู”
นายศตวรรต คำสุ ผู้ประสานงานชุมชนบ้านตุ่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน.
” ที่นี่เราทำนาเพียงรอบเดียว ช่วงฤดูแล้ง ลดการใช้น้ำด้วยการจักรสานไม้ไผ่ ที่ชุมชนมีต้นทุนอยู่แล้ว. ซึ่งเราก็ได้ประหยัดน้ำในพื้นที่ในฤดูแล้ง อดีตเราอาจจะเจอกับสภาวะน้ำแล้งแต่เราก็ร่วมกันกับกลุ่มเยาวชนและผู้นำในพื้นที่เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้น ด้วยฝาย สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่กักเก็บในอ่างห้วยตุ่นและแก้มลิงต่างๆและบริหารจัดการให้ผ่านพ้นภัยแล้งไปได้”
สำหรับกิจกรรมของกลุ่มจิตอาสาพยาบาลลุ่มน้ำในครั้งนี้ได้มีการช่วยกันรอบลำเหมืองที่ส่งน้ำไปยังพื้นที่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ, การซ่อมแซมฟื้นฟูทาสีถังสำรองน้ำในชุมชนเพื่อนำน้ำที่เหลือใช้ไม่ใช้ในการอุปโภค, การปลูกแฝกตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยยึดหน้าดินชะลอตะกอนในสระน้ำแก้มลิง รวมถึงการเดินสำรวจเส้นทางป่าต้นน้ำเพื่อเรียนรู้และเข้าใจในระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำ
ชุมชนบ้านน้ำริน จ.พะเยา
ชุมชนบ้านน้ำริน ต.ขุนควร อ.ปง จ.พะเยา เดิมใช้น้ำบาดาลในการอุปโภค บริโภค แต่เมื่อมีการใช้สารเคมีจากการเกษตร มีความกังวลในเรื่องความสะอาดของน้ำ จึงหันมาฟื้นฟูน้ำเพื่อการอุปโภคที่สะอาด เพื่อความปลอดถัยของประชาชนในพื้นที่และเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้อีกด้วย
ประชุมเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ ณ. จ.พะเยา
วันที่ 11 ก.ย.63 เครือข่ายต้นน้ำอิงตะวันออกในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ 11 ตำบล ได้ประชุม วางแผนและร่วมจัดทำข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนที่สั้นลง ก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้ง
โดยเจ้าหน้าที่ลุ่มน้ำอิง จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) ได้ให้องค์ความรู้ในเรื่องการจัดทำข้อมูล(แผนที่, ผังน้ำ,สมดุลน้ำ) ให้กับพื้นที่ อบต.บ้านปิน, บ้านถ้ำ, คือเวียงและหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เพื่อเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงแล้งและหลาก ก่อนหมดฤดูฝน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่ต้นน้ำอิงฝั่งตะวันออกของพะเยาที่ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำและฟื้นฟูโครงสร้างน้ำเดิมตั้งแต่ปี 60 จากโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกองทัพบก
โดยมูลนิธิอุกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้วางพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ เป็นพื้นที่เครือข่ายบริหารจัดการน้ำเนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและการใช้ต้นทุนน้ำในพื้นที่แทนการใช้น้ำจากกว๊านพะเยาเพียงแห่งเดียว ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินงานด้านพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วกว่า 8 ตำบล
และในระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน 63 จะเป็นการประชุมของพื้นที่จัดการน้ำที่เหลืออีก7 พื้นที่ของอำเภอดอกคำใต้ เพื่อวางแผนการจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งนอกจากจะเป็น การเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำในอนาคตแล้ว ยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคท้องถิ่นในพะเยาเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเองให้ยั่งยืนอีกด้วย