พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านโนนแต้ ต.หนองขาม อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านโนนแต้ ตำบลหนองขาม อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ” โดยมี นายประทีป ศิลปะเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิพร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านโนนแต้ ตำบลหนองขาม อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดย มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้ามาถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำ ตาม “กรอบคิด” เรื่องการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า รู้จักตนเองและพัฒนาในสิ่งที่มีตามภูมิสังคม มองใหญ่ ทำเล็ก เกิดการเรียนรู้สู่การแก้ไขปัญหา ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงในวิถีพอเพียง และ “กรอบงาน” ที่เกิดจากการร่วมกันสำรวจและเก็บข้อมูล โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ควบคู่กับการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) และค่าระดับมาปรับใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างน้ำ แผนผังน้ำ ทิศทางน้ำ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำเข้ากับแก้มลิงอย่างเป็นระบบ บรรเทาความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ก่อให้เกิดความมั่นคงอาหาร มั่นคงน้ำ บนวิถีพอเพียง

นับได้ว่าชุมชนโนนแต้เป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 23 และเป็นต้นแบบให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป

ชุมชนบุ่งคล้า
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านเมืองกลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านเมืองกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่”  โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายศรันยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พลโทผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข กรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนคณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ผู้แทนจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมงานครั้งนี้ด้วย

ชุมชนบ้านเมืองกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ได้รับความสำเร็จจนสามารถพึ่งพาตนเองได้จากการนำ “กรอบคิด” เรื่องการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า มาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาด้านบริหารจัดการน้ำของบรรพบุรุษที่สืบทอดมายาวนานกว่า 300 ปี เกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับการพัฒนาคน และ “กรอบงาน”  จนเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากร โดยมีการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและแหล่งกักเก็บสำรองน้ำ ดูแลรักษาและบริหารจัดการน้ำให้เหมาะกับภูมิสังคม ตลอดจนนำพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบเหมืองฝาย แต ต๊าง ท่อน้ำลอดน้ำล้น บริหารจัดการและกระจายน้ำตามความลาดชันของพื้นที่เกษตรจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ โดยมีกฎ กติกา การใช้น้ำ จนเกิดความมั่นคงน้ำ สามารถจัดสรรน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 3,800 ไร่ 578 ครัวเรือน 1,950 คน มีการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ส่งผลให้มีผลผลิตที่หลากหลาย ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน

สำหรับชุมชนแห่งนี้ นับเป็นชุมชนตัวอย่างความสำเร็จจากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 22 และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางในการทำงานไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองต่อไป

จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดความสำเร็จผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน จ.พิษณุโลก

เมื่อวันที่ 16-18 ตุลาคมที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดความสำเร็จผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ณ ห้องประชุมกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก ซึ่งมีชุมชนพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ 20 ชุมชน พร้อมผู้แทนเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำปราจีน และ ลุ่มน้ำปัตตานี รวมทั้งหมด 100 คน

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของชุมชนแต่ละแห่งที่ได้รับเลือกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ รวมถึงเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ไปศึกษาดูงาน ณ ศุูนย์การเรียนรู้โครงการเดินตามรอยเท้าพ่อ (เกษตรอินทรีย์) กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก เพื่อนำแนวคิดและแนวทางในการดำเนินงานไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองต่อไป

ชุมชนลุ่มน้ำคลองยัน
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมื่อ วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ทั้งยังร่วมกันบริหารจัดการป่า เกิดเป็นเครือข่ายเตือนภัยพิบัติจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ รวม 653 ตารางกิโลเมตร มีเครือข่ายวิทยุภาคประชาชน 25 สถานีแม่ข่าย ลูกข่าย 300 เครื่อง และเป็นเครือข่ายชุมชนเตือนภัยพิบัติ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้สูงอายุ เพื่อสืบสานการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ส่งผลให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้จากพื้นที่จริง และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยแบ่งจุดศึกษาดูงานสำคัญในพื้นที่ออกเป็น 4 จุด ได้แก่

จุดที่ 1 จากผืนป่า…สู่ “หยดน้ำ” ได้ดื่มกิน ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ตามแนวพระราชดำริ สร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่กว่า 700 ฝาย ครอบคลุมเส้นทางน้ำใน 27 ลำห้วยสาขา สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าและเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า เกิดความมั่นคงน้ำ 10 ชุมชน 3 ตำบล 2 อำเภอ ลดค่าใช้จ่ายการซื้อน้ำจากภายนอก 3.66 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันเครือข่ายฯ นำน้ำจากต้นน้ำและคลองยันมาผ่านระบบกรองน้ำเพื่อบริโภค 4 ชุมชน จำหน่ายให้ชุมชน 5 บาท ต่อ 18 ลิตร มีคณะกรรมการระบบน้ำดื่มชุมชนดูแลและบริหารจัดการรายได้ นำไปเป็นกองทุนดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า บำรุงรักษาระบบกรองน้ำดื่ม และมีเงินเข้ากองทุนสำรองร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ

จุดที่ 2 เขตอภัยทาน สร้างด้วยมือ ดูแลด้วยใจ เครือข่ายฯ ร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า รวมทั้งฟื้นฟูคลองยันที่เป็นสายน้ำหลัก แก้ปัญหาตลิ่งพังด้วยการปลูกพืชท้องถิ่นยึดตลิ่ง เช่น ต้นไคร้น้ำ ต้นมะเดื่อ เป็นต้น กำหนดเขตอภัยทาน หรือ วังปลา ระยะทาง 300 เมตร เกิดการอนุรักษ์สัตว์น้ำ และสร้างความเข้าใจให้ชุมชนใช้เครื่องมือจับปลาที่ถูกวิธีและจับปลาแต่พอกินในครอบครัว ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ยังทำให้ปริมาณพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นกว่า 60 ชนิด


จุดที่ 3 เครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัยพิบัติ สู่การป้องกันและพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2551 พื้นที่ลุ่มน้ำคลองยัน เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ เกิดความเสียหายตลอดลุ่มน้ำ เครือข่ายจึงได้ตระหนักถึงความรุนแรงและพัฒนาเครือข่ายภายใต้ชื่อ “กลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำคลองยัน” มีภารกิจดำเนินงานส่งเสริมกองทุนสวัสดิการแกนนำและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปฏิบัติงานต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองยัน ครอบคลุมอำเภอวิภาวดีและอำเภอคีรีรัฐนิคม 4 ตำบล 46 หมู่บ้าน ผลจากการแจ้งเตือนภัยภายในเครือข่ายชุมชน ทำให้ลดความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินของทุกครัวเรือนตลอดสายน้ำคลองยัน และเมื่อเกิดภัย ทางเครือข่ายมีกองทุนข้าวสาร ทำให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองก่อนที่จะมีหน่วยงานภาครัฐเข้าช่วยเหลือ 1 สัปดาห์


จุดที่ 4 เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ “สวนพ่อเฒ่า เก้าเรือนยอด” ชุมชนปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จากการทำสวนยางเป็น “ป่ายาง” จากการทำสวนปาล์มน้ำมันเป็น “ป่าปาล์ม” ทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ปลูกผักและพืชเศรษฐกิจ โดยทำในรูปแบบของชุมชนในสมัยก่อน ทำสวนปลูกพืชผสมผสานหลากหลายชนิด มีไม้ยืนต้นทั่วทั้งแปลง (สวนสมรม) แบ่งเป็น 9 เรือนยอด จึงเรียกกันว่า “สวนพ่อเฒ่า เก้าเรือนยอด” ปัจจุบันเครือข่ายชุมชน 4 ตำบล 2 อำเภอ ทำเกษตรรูปแบบนี้รวม 6,599 ครัวเรือน ช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากเดิม 30,000 บาทเป็น 75,000 บาทต่อปี และลดรายจ่าย 36,500 บาทต่อปี โดยช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน รวม 240 ล้านบาทต่อปี ใน 4 ตำบล 2 อำเภอ เพิ่มรายได้ในครัวเรือน รวม 55.6 ล้านบาทต่อปี ใน 4 ตำบล 2 อำเภอ

สำหรับ “เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน” นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่พลิกวิกฤตภัยพิบัติสู่การพัฒนาที่มั่นคงให้ชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ จากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 21 และเป็นต้นแบบโครงการ “เทิด ด้วย ทำ” ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป