มูลนิธิฯ จัดค่ายพี่นำน้องรักษ์น้ำฯ ปี 67 ครั้งที่ 1
วันที่ 7-10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดค่ายเยาวชนโครงการเครือข่ายพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567 ครั้งที่ 1 ณ ค่ายบุรฉัตร ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 204 คน
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ และพัฒนากลุ่มเยาวชนให้สามารถประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริสู่การดูแลรักษาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมฐานการเรียนรู้ การทำฝายเพื่อสร้างความยั่งยืน, การทำแผนที่+ผังน้ำ เบื้องต้น, การจัดการคุณภาพน้ำ และการใช้แอปพลิเคชัน Thai Water และการเรียนรู้ผ่านพื้นที่ต้นแบบความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนบ้านหนองตาจอน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เยาวชนจะได้นำองค์ความรู้ที่ได้กลับไปประยุกต์ใช้และต่อยอดกับโครงการของตนเองต่อไป
ร.ร. มัธยมสุวิทย์ร่วมจัดกิจกรรม “นวัตกรรมรักษ์โลก” ภายใต้นิทรรศการ “คนดี รักษ์โลก”
วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2567) คณะอนุกรรมการด้านคุณธรรมและจริยธรรม และคณะทำงานคนดี รักษ์โลก ในคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา จัดงาน “คนดี รักษ์โลก” ณ ห้องประชุม B1-1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา
ในการนี้ โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการต่อยอดโครงการผ่านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไขมันเป็น เทียนไข น้ำยาล้างจาน และสบู่จากไขมัน และตักตบชวาที่นำมาแปรรูปเป็นถ่านอัดก้อน เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นผลจากการดำเนินงานด้านการบำบัดน้ำเสียภายในโรงเรียน และชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน ชุมชนหันมามีส่วนร่วมต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนต่อไป
รับสมัครโครงการเครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567
เปิดรับสมัครกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมโครงการเครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 รายละเอียดเพิ่มเติมนั้น สามารถแสกน QR Code พร้อมดาวน์โหลดเอกสารได้เลยค่ะ
**คุณสมบัติข้อ 4 หมายถึง รายชื่อเยาวชนที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2566 นะคะ
มาร่วมกันรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รวมพลัง และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันค่ะ
สามารถดาวน์โหลดเอกสารรายละเอียดโครงการ คลิกเลย
เยาวชน ร.ร.ขุนควรวิทยาคม ร่วมบรรยายการฟื้นป่าต้นน้ำ
วันที่ 26 ธันวาคม 2566 เวลา 21.40 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติผ่านแอปพลิเคชัน Thaiwater รวมถึงการดำเนินงานโครงการพัฒนากว๊านพะเยาด้านการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีตัวอย่างของศูนย์บริหารจัดการน้ำองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรือ โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรืออธิบายเรื่องการใช้ข้อมูลและสารสนเทศในการบริหารจัดการภาวะน้ำแล้งและน้ำหลากภาคเกษตรในตำบล รวมถึงได้รับฟังการบรรยายการฟื้นฟูป่าต้นน้ำจากกลุ่มเยาวชนตำบลขุนควร โรงเรียนขุนควรวิทยาคม อ.ปง จ.พะเยา ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ร้อยเอก ธรรมนัส ได้ให้โอวาทกับกลุ่มเยาวชนว่า กลุ่มเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญและถือเป็นความโชคดีของอำเภอปงและจังหวัดพะเยาที่ได้สืบสานแนวปณิธานการทำงานเรื่องน้ำตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และให้ทำต่อไปอย่างเข้มแข็งและขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ทุกคนที่ทำงานด้านทรัพยากร
มูลนิธิฯ จัดค่ายพี่นำน้องฯ ปี 66
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานโครงการเครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2566 ระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2566 ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร โดยมีกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมจำนวน 18 แห่ง ประกอบด้วย กลุ่มเยาวชนภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเยาวชนที่เป็น Champ of the Champ จำนวน 4 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ 8 แห่ง ต่อยอดการบริหารจัดการน้ำทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 1 แห่ง การบำบัดและรักษาคุณภาพน้ำ 7 แห่ง และการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพดิน 2 แห่ง
ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 กลุ่มเยาวชนได้ศึกษาดูงานที่กลุ่มเยาวชนได้ศึกษาดูงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และนิทรรศการพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ช่วงเช้ากลุ่มเยาวชนได้ศึกษาดูงานที่โรงเรียน ราชประชานุเคราะห์ 47 เพื่อเรียนรู้เรื่องการบำบัดน้ำภายในโรงเรียน ช่วงบ่ายศึกษาดูงานที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เพื่อเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ และการบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาบรรยายหัวข้อ “เยาวชนเทิด ด้วย ทำ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” กลุ่มเยาวชนได้นำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการในแต่ละแห่ง และได้เข้ารับเกียรติบัตรจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
มูลนิธิฯ จัดค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำฯ ปี 66
ผ่านไปแล้วกับกิจกรรมค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2566 ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2566
โดยในวันแรก (11 มิถุนายน 2566) นั้น กลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับฟังการบรรยายพิเศษ “เยาวชน เทิด ด้วย ทำ กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากนั้น เครือข่ายเยาวชนได้ศึกษาดูงานการบริหารจัดการน้ำและกองทุน ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และการสูบน้ำและกระจายน้ำด้วยระบบโซลาเซลล์แบบลอยน้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน และการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่และการใช้น้ำซ้ำ
วันที่ 2 (12 มิถุนายน 2566) เครือข่ายเยาวชนได้ศึกษาดูงานฐานหญ้าแฝก ฐานแปลงปุ๋ยหมัก ฐานงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ฐานประมง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้นำเสนอโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เครือข่ายเยาวชนจากที่อื่นๆ
วันที่ 3 (13 มิถุนายน 2566) เครือข่ายเยาวชนได้เรียนรู้การทำแผนที่ผังน้ำเบื้องต้น เรียนรู้การทำฝาย การใช้แอปพลิเคชัน Thai Water เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์ฝน ฟ้า อากาศ
…. นับได้ว่าเครือข่ายเยาวชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตต่อไป …..
แล้วพบกันใหม่ในเดือนตุลาคมค่ะ
ประกาศผลรอบตัดสิน พี่นำน้องรักษ์น้ำฯ
ผ่านมาแล้วกับโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน รอบตัดสิน ขอแสดงความยินดีกับกลุ่มที่ได้รับรางวัลทั้ง 7 กลุ่มด้วยนะคะ โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายแกนนำเยาวชนเพาะพันธุ์กล้าไม้ตำบลขุนควร จ.พะเยา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม จ.ลำปาง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนคีรีราษฎร์พัฒนา จ.นครศรีธรรมราช และชุมชนลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ และรางวัลชมเชย ได้แก่ กลุ่มพี่นำน้องรักษ์น้ำ ม.นอร์ท-เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ กลุ่มเรารักษ์เมืองน้ำดำ โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ และกลุ่มเยาวชนชุมชนปะทิว รักษ์น้ำ รักษ์ป่า จ.ชุมพร
สำรวจ JWC รอบตัดสิน ร.ร.คีรีราษฎร์พัฒนา จ.นครศรีธรรมราช
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการ “รักษ์ป่าต้นน้ำปากพนังอย่างยั่งยืน” ที่ดำเนินงานโดยโรงเรียนคีรีราษฎร์พัฒนา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน
โรงเรียนคีรีราษฎร์พัฒนาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบเชิงเขาป่าต้นน้ำปากพนัง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ในพื้นที่เขตป่าเขาหลวงอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง จังหวัดนครศรีธรรมราช ป่าต้นน้ำปากพนังเป็นแหล่งต้นน้ำคลองขุนพัง ซึ่งเป็นสายน้ำสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต ในอดีตนั้นพื้นที่ป่าต้นน้ำปากพนังดังกล่าวเป็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยหลายสายที่ไหลลงสู่คลองขุนพัง แต่ในปัจจุบันป่าดังกล่าวถูกทำลาย ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ฝนไม่ตกตามฤดูกาลและเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้น้ำในลำธารลดน้อยลง หรือบางแห่งเกิดการขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่งผลผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่
การดำเนินโครงการ “รักษ์ป่าต้นน้ำปากพนังอย่างยั่งยืน” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน และได้สร้างเครือข่ายในการดำเนินงานระหว่าง เครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยสร้างความตระหนักให้นักเรียนและชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่สืบต่อไป
สำรวจ JWC รอบตัดสิน ม.นอร์ท-เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการ “นวัตกรรมจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชน” โดยกลุ่มพี่นำน้องรักษ์น้ำ ม.นอร์ท-เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน
กลุ่มพี่นำน้องรักษ์น้ำ ม.นอร์ท-เชียงใหม่ เข้าไปพัฒนาชุมชนบ้านป่าตึงงามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและแผนที่มาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ได้มีการใช้หลักเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 และ ขั้นที่ 2 ซึ่งจะเน้นให้ชุมชนพึ่งพาตนเองจนเกิดการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และสร้างรายได้ให้กับชุมชน
การดำเนินโครงการ “นวัตกรรมจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชน” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน และได้สร้างเครือข่ายในการดำเนินงานระหว่าง เครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำงานในทุกกระบวนการ จนทำให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ สามารถพึ่งพาตนเองได้และเกิดความเข้มแข็งภายในชุมชนอีกด้วย
สำรวจ JWC รอบตัดสิน กลุ่มเครือข่ายแกนนำเยาวชนเพาะพันธุ์กล้าไม้ตำบลขุนควร จ.พะเยา
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการ “เยาวชนฟื้นฟูร่องห้วยด้วยกล้วยป่า ตามแนวพระราชดำริ ปี 9” โดยกลุ่มเครือข่ายแกนนำเยาวชนเพาะพันธุ์กล้าไม้ตำบลขุนควร จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน
กลุ่มเครือข่ายแกนนำเยาวชนเพาะพันธุ์กล้าไม้ตำบลขุนควร เริ่มดำเนินโครงการจากการสานต่อจากปราชญ์ชาวบ้านที่ได้ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเมื่อปี 2554 เป็นต้นมา จากการที่ในอดีตพื้นที่แห่งนี้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และป่าเสื่อมโทรมจากการถูกบุกรุก จึงนำพันธุ์ไม้พื้นบ้านอย่างกล้วยป่ามาปลูก เพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ต้นนำในพื้นที่ ปัจจุบันหลังจากมีการฟื้นฟูป่าด้วยกล้วยป่าแล้ว ทำให้พื้นที่ป่าลดการเกิดไฟป่า ป่าไม้กลับอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการปลูกกล้วยอีกด้วย
การดำเนินโครงการ “เยาวชนฟื้นฟูร่องห้วยด้วยกล้วยป่า ตามแนวพระราชดำริ ปี 9” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มเยาวชนแกนนำในชุมชน ซึ่งมีรุ่นพี่โครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำฯ ในรุ่นที่ 1 ให้คำแนะนำและคำปรึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึกและรู้ถึงประโยชน์ของการฟื้นฟูร่องห้วยด้วยกล้วยป่า พร้อมกับสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อมกัน..