ประกาศผลรอบตัดสิน พี่นำน้องรักษ์น้ำฯ

ผ่านมาแล้วกับโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน รอบตัดสิน ขอแสดงความยินดีกับกลุ่มที่ได้รับรางวัลทั้ง 7 กลุ่มด้วยนะคะ โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายแกนนำเยาวชนเพาะพันธุ์กล้าไม้ตำบลขุนควร จ.พะเยา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม จ.ลำปาง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนคีรีราษฎร์พัฒนา จ.นครศรีธรรมราช และชุมชนลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ และรางวัลชมเชย ได้แก่ กลุ่มพี่นำน้องรักษ์น้ำ ม.นอร์ท-เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ กลุ่มเรารักษ์เมืองน้ำดำ โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ และกลุ่มเยาวชนชุมชนปะทิว รักษ์น้ำ รักษ์ป่า จ.ชุมพร

สำรวจ JWC รอบตัดสิน ร.ร.เสริมงามวิทยาคม จ.ลำปาง

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการ “แก้ปัญหาภัยแล้งลุ่มน้ำแม่ต๋ำ อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง” โดยกลุ่มเยาวชนละอ่อนลุ่มน้ำแม่ต๋ำ โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน

กลุ่มเยาวชนละอ่อนลุ่มน้ำแม่ต๋ำ เริ่มดำเนินโครงการหลังจากพื้นที่ป่าต้นน้ำมีความแห้งแล้งและเสื่อมโทรม ทำให้ชุมชนใกล้เคียงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และเกิดปัญหาภัยแล้งกระจายทั่วอำเภอเสริมงาม ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้กลุ่มฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาข้างต้น จึงนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โดยการสร้างฝายชะลอน้ำตามลำห้วยหลัก เพื่อชะลอการไหลและลดความรุนแรงของกระแสน้ำ ลดการพังทลายของดินและดักจับตะกอน และเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดิน นอกจากนี้ได้มีการปลูกหญ้าแฝกบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและปรับหน้าดินที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพขึ้น

ดร. รอยบุญ รัศมีเทศ ชมนิทรรศการ

การดำเนินโครงการ “แก้ปัญหาภัยแล้งลุ่มน้ำแม่ต๋ำ อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และได้ขยายเครือข่ายการทำงานไปยัง โรงเรียนอนุบาลเสริมงาม โรงเรียนชุมชนบ้านมั่ว และโรงเรียนบ้านทุ่งต๋ำ สร้างจิตสำนึกและรู้ถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมกับสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อมกัน

คณะกรรมการฯ เยี่ยมชมนิทรรศการ
สำรวจ JWC รอบตัดสิน ร.ร กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์

👉👉เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการ “ฝายสร้างป่า ป่าสร้างคน ชุมนุมมั่งคั่ง ป่ายังยืน” โดยกลุ่มเรารักษ์เมืองน้ำดำ โรงเรียนกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปีที่ 9 : สู่ความยั่งยืน👈👈

🔶🔸กลุ่มเรารักษ์เมืองน้ำดำ เริ่มดำเนินโครงการจากที่ได้เล็งเห็นถึงความเสื่อมโทรมของป่า ป่าถูกบุกรุก ความรุนแรงของการเกิดไฟป่า รวมถึงคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบป่าเข้าไปหาประโยชน์จากป่า โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ส่งผลให้ทรัพยากรในป่าลดน้อยลงและบางชนิดก็สูญพันธุ์ ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้กลุ่มฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาข้างต้น จึงนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า นอกจากนี้ ได้พัฒนาพื้นที่ต้นแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนและเยาวชนรอบป่าอีกด้วย🔸🔶

✨การดำเนินโครงการ “ฝายสร้างป่า ป่าสร้างคน ชุมชนมั่งคั่ง ป่ายังยืน” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ชุมชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างจิตสำนึกและรู้ถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมกับสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อมกัน✨🤝

เริ่มค่ายตัดสิน JWC ปี 62

เริ่มแล้ว!!! ค่ายตัดสิน โครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี พ.ศ. 2562 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2563 ณ เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี โดยในวันนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มาบรรยายเรื่อง “เยาวชน เทิด ด้วย ทำ กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” นับเป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชนได้รับในวันนี้

สำรวจ JWC รอบตัดสิน กลุ่ม “จิตอาสา ตั้งตามพ่อ” จ.เชียงราย

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการทำตามพ่อ พี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ โดยกลุ่มจิตอาสา ตั้งตามพ่อ บ.ห้วยพลู ต.ดอยฮาง อ.เมืองฯ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2562

กลุ่มจิตอาสา ตั้งตามพ่อ เริ่มดำเนินโครงการจากการที่เยาวชนได้ไปช่วยพ่อทำงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในพื้นที่ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของคนไทยมาเป็นแนวทางปฏิบัติ กลุ่มเยาวชนเรียนรู้ว่า เมื่อมีน้ำเพิ่มขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ของป่าจะกลับมา เยาวชนจิตอาสา ตั้งตามพ่อ จึงได้เชิญชวนเยาวชนจิตอาสารวมถึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อให้มีน้ำใช้ในพื้นที่การเกษตรและความชุ่มชื้นเป็นแนวกันไฟป่า ทั้งยังเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมได้เป็นอย่างดี

การดำเนินโครงการทำตามพ่อ พี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มเยาวชนจิตอาสา ชุมชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างจิตสำนึกและรู้ถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมกับสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อมกัน

สำรวจ JWC รอบตัดสิน ร.ร.เมืองกระบี่ จ.กระบี่

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนปากแม่น้ำกระบี่ โดยนักเรียนโรงเรียนเมืองกระบี่ ต.กระบี่ใหญ่ อ.เมืองฯ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2562

นักเรียนโรงเรียนเมืองกระบี่ ได้ดำเนินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ กิจกรรมพี่สอนน้องรักษ์คลองกระบี่ใหญ่ ปี 2557 จากนั้นได้สานต่อจนเกิดเป็นโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนปากแม่น้ำกระบี่ ด้วยการปลูกป่าชายเลน รวมถึงทำแปลงฟื้นฟูป่าชายเลนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้เชิงระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตและการเจริญเติบโตของต้นไม้ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนคู่เมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าชายเลนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ผลที่ได้จากการดำเนินงานคือป่าชายเลนถูกบุกรุกน้อยลงและระบบนิเวศดีขึ้น

การดำเนินโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนปากแม่น้ำกระบี่ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานระหว่างนักเรียน ร่วมกับชุมชนคู่เมือง และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในอาชีพต่อไป

สำรวจ JWC รอบตัดสิน บ้านผึ้งร้อยรัง จ.บุรีรัมย์

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการร้อยรักษ์ รักษ์แหล่งน้ำ เพื่อสร้างแหล่งอาหารผึ้งป่า บ้านผึ้งร้อยรัง โดยนักเรียนและเยาวชนบ้านผึ้งร้อยรัง ชุมชนบ้านสายตรีพัมนา 3 หมุ่ 10 อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2562

ต้นทองอุไร

นักเรียน เยาวชนบ้านผึ้งร้อยรัง และชุมชนสืบทอดการตีผึ้งแบบอนุรักษ์ และร่วมกันสร้างแหล่งอาหารผึ้งป่า โดยการปลูกต้นไม้ที่มีดอกไม้ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อสร้างแหล่งอาหารให้ผึ้ง สร้างแนวกันไฟป่าเพื่อลดควันจากไฟป่าที่จะรบกวนผึ้ง ทำโซนนิ่ง เพื่อรักษาระบบนิเวศและให้ผึ้งคงอยู่กับชุมชนตลอดไป

การดำเนินโครงการร้อยรักษ์ รักษ์แหล่งน้ำ เพื่อสร้างแหล่งอาหารผึ้งป่า บ้านผึ้งร้อยรัง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานของนักเรียนและเยาวชนบ้านผึ้งร้อยรัง รวมถึงชุมชมและหน่วยงานในพื้นที่ คอยให้การสนับสนุน ส่งเสริม ติดตามการปฏิบัติงานร่วมกับนักเรียนและเยาวชน โดยเน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และร่วมกันสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป

สำรวจ JWC รอบตัดสิน ร.ร. ทุ่งกว๋าววิทยาคม จ.ลำปาง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการทุ่งกว๋าวร่วมใจ จัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ร่วมกันพัฒนาชุมชน โดยนักเรียนโรงเรียนทุ่งกว๋าววิทยาคม อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2562

นักเรียนโรงเรียนทุ่งกว๋าววิทยาคม อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ดำเนินโครงการทุ่งกว๋าวร่วมใจ จัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นและดักตะกอน เพื่อชะลอการไหลของน้ำในห้วยป้าวและห้วยสอด ซึ่งเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำในลำห้วยจะมีตะกอน ลำน้ำเปลี่ยนสีเป็นสีแดงขุ่น น้ำไม่สะอาด แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน น้ำจะไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมีความเดือดร้อน

การดำเนินโครงการทุ่งกว๋าวร่วมใจ จัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ร่วมกันพัฒนาชุมชน เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานของนักเรียนโรงเรียนทุ่งกว๋าววิทยาคมที่มีคณะครู รวมถึงชุมชมและหน่วยงานในพื้นที่ คอยให้การสนับสนุน ส่งเสริม ติดตามการปฏิบัติงานร่วมกับนักเรียน โดยเน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และร่วมกันสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป

สำรวจ JWC รอบตัดสิน ม.สยาม กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการรักษ์น้ำลำประโดง คลองบางจาก มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2562

กลุ่มชุมชนคลองบางจาก มหาวิทยาลัยสยาม ดำเนินโครงการรักษ์น้ำลำประโดง คลองบางจาก โดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ฟื้นฟูและบำบัดน้ำในพื้นที่ลำประโดง 3 ลำประโดง รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายและพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจในชุมชนคลองบางจาก และพื้นที่ชุมชนศรีประดู่ ชุมชนหลังมหาวิทยาลัยสยาม โดยได้แนวคิดมาจากสภาพน้ำในคลองช่วงต้นสะอาด แต่เมื่อผ่านเขตบางแคเป็นต้นไปสภาพน้ำในลำคลองกลับเริ่มเน่าเสีย ส่งผลให้สิ่งที่ตามมา คือ เชื้อโรค ขยะในน้ำที่ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน น้ำท่วมขัง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก

การดำเนินงานปรับปรุงคุณภาพน้ำภายพื้นที่ลำประโดง 3 ลำประโดง ของกลุ่มชุมชนคลองบางจาก มหาวิทยาลัยสยาม ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานร่วมกันของเยาวชน โดยมีคณาจารย์ นักศึกษาจิตอาสา อาสาสมัครชุมชน และหน่วยงานภายนอกให้การสนับสนุน ซึ่งการดำเนินงานโครงการรักษ์น้ำลำประโดง คลองบางจาก ถือเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนในพื้นที่จริงของคณะพยาบาลที่ให้นักศึกษาได้นำความรู้มาประยุกต์ในพื้นที่ได้อีกด้วย

สำรวจ JWC รอบตัดสิน ร.ร.อยุธยาวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สำรวจโครงการถังดักไขมันเตือนให้ตักรักษ์น้ำ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ปี 2562

โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ดำเนินโครงการถังดักไขมันเตือนให้ตักรักษ์น้ำ โดยนักเรียนในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและบำบัดน้ำในโรงเรียน รวมถึงเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแนวพระราชดำริในการแก้ไขและบรรเทาน้ำเสียภายในโรงเรียนผ่านกิจกรรมวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์ เสียงตามสาย รายการวิทยุและแฟนเพจเฟสบุ๊ครักษ์สิ่งแวดล้อม โดยได้แนวคิดมาจากปัญหาขยะมูลฝอยในแหล่งน้ำภายในโรงเรียนและการกำจัดไขมันจากการล้างภาชนะของศูนย์อาหาร ส่งผลทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพราะพันธุ์เชื้อโรคและสภาพแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงเสื่อมโทรม

การดำเนินงานปรับปรุงคุณภาพภายในโรงเรียนของกลุ่มเยาวชนโครงการถังดักไขมันเตือนให้ตักรักษ์น้ำ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานร่วมกันของเยาวชน โดยมีคณะครู โรงเรียน และหน่วยงานภายนอกให้การสนับสนุน ซึ่งการดำเนินงานโครงการถังดักไขมันเตือนให้ตักรักษ์น้ำ ถือเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่ให้นักเรียนได้นำความรู้มาประยุกต์ในพื้นที่จริงได้อีกด้วย