มูลนิธิฯ ร่วมกับ สสน. และ TCP ร่วมกันลงนาม MOU “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ระยะที่ 2

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และกลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ระยะที่ 2 ณ พื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปะยาง ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่

โดยการลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนและเครือข่ายชุมชนในการติดตามสถานการณ์น้ำ เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น เพื่อให้มีข้อมูล เทคโนโลยี อุปกรณ์ที่เหมาะสมและจำเป็นในการติดตามสถานการณ์น้ำ และสื่อสารช่วยเหลือในกรณีเกิดภัยและบรรเทาภัยพิบัติ รวมทั้ง สามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤต



มูลนิธิฯ ร่วมกับ ทบ. สสน. และเครือข่ายภาคประชาชน ประชุมสรุปแผนงานการพัฒนาแหล่งน้ำ ปี67

วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กองทัพบก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำโขงเหนือลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำปัตตานี ประชุมสรุปแผนงานการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยใช้งบกลาง ประจำปี 2567

ซึ่งในการดำเนินงานในครั้งนี้ มีพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมกับกองทัพบกที่ได้ลงสำรวจร่วมกันไว้แล้วจำนวน 60 โครงการเร่งด่วน ทั่วทุกภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือรูปแบบการสร้างกติการ่วมกันระหว่างชุมชนและผู้ปฏิบัติงานของกองทัพบก เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์กับพื้นที่อย่างแท้จริงพร้อมกับการสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ด้วยการใช้น้ำนำเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างความมั่นคงของคนในพื้นที่ ด้านน้ำอุปโภค บริโภค และเกษตรของทุกภูมิภาค




“เทิด ด้วย ทำ” 9 ปี มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จับมือ 9 หน่วยงาน ร่วมบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า สืบสานแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น. มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมจัดพิธี “ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า สืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” เนื่องในโอกาสครบรอบ 9 ปี การก่อตั้งมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธี ได้มอบแนวทางจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จำนวน 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมป่าไม้, กรมทรัพยากรธรณี, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นอกจากนี้ ยังได้มีการเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้แก่ เยี่ยมชมระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงสำหรับประมวลผลข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำและสภาพภูมิกาศ นิทรรศการ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” และระบบโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศและระดับน้ำอัตโนมัติ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธาณและพระราชดำริ และให้ทุกหน่วยงานได้สำนึกพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมถวายกตัญญุตาลัยที่ดีที่สุดแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงเกิดการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ บริหารทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมงานวิจัยด้านสารสนเทศทรัพยากรน้ำและวิทยาการข้อมูลน้ำ สู่การพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพื่อสร้างตัวอย่างความสำเร็จ พัฒนาเครือข่ายดิน น้ำ ป่า พัฒนาต่อยอดงานด้าน ดิน น้ำ ป่า ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสืบสานแนวพระราชดำริ เรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน และเป็นการ “เทิด ด้วย ทำ” ซึ่งจะร่วมมือกันดำเนินการร่วมกัน 3 ด้าน คือ 1) ด้านฟื้นฟูและอนุรักษ์ โดยร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และขยายผลการฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2) ด้านพัฒนาคน โดยร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาคนและชุมชน เพื่อขยายผลการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า สืบสานแนวพระราชดำริ ฯ อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบพึ่งตนเองให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจชุมชน 3) วิจัยและพัฒนา โดยร่วมกันศึกษา วิจัย และแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป