เทิด ด้วย ทำ เพื่อก้าวสู่ปีที่ 12

วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2567) ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้ร่วมงานเทิด ด้วย ทำ เพื่อก้าวสู่ปีที่ 12 ของการดำเนินงานมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผํู้ร่วมงานได้ ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้ง ร่วมถวายสังฆทานและถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์

จากนั้นประธานกรรมการมูลนิธิฯ ได้ให้โอวาทในการทำงานตามหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” แก่คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกคน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานต่อไป




หนังสือเทิด ด้วย ทำ
มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ลงพื้นที่ชุมชนเกษตรกรเพชรน้ำหนึ่ง
“เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2565”

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2565” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมสรุปแนวทาง “โครงสร้างพื้นฐานสังคม และเศรษฐกิจใหม่บนหลักของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่” พร้อมเยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อถ่ายทอดความสำเร็จ จากการมีส่วนร่วมของชุมชน และการสนับสนุนจาก ภาคเอกชน ท้องถิ่น รวมทั้งภาครัฐ จนเกิดระบบการทำงานร่วมกันในการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยใช้ กรอบคิด กรอบงาน และหลักการทรงงาน เป็นเครื่องมือเพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชน ผลจากการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันบริหารอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดตัวอย่างความสำเร็จ และสามารถขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนอื่นได้ 1,816 หมู่บ้าน โดยชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เป็นหนึ่งในชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และภาครัฐ จากเดิมเป็นพื้นที่สนามกอล์ฟร้าง เนื้อที่ประมาณ 3,565 ไร่ ได้รับการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรทั้งหมด 1,889 ราย และนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้มีหนี้สิน และไร้ที่ดินทำกินในพื้นที่เพชรน้ำหนึ่ง จำนวน 238 ครัวเรือน ด้วยสภาพพื้นที่ค่อนข้างลาดเอียง และเป็นดินลูกรัง ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ เกษตรกรจึงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และประสบปัญหาหนี้สิ้นมาโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2557 ชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน ทำให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างบริหารจัดการน้ำ ระบบกระจายน้ำ และอาคารบรรจุเพื่อเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน โดยมีภาคเอกชนเป็นพี่เลี้ยงบริหารจัดการการผลิตอย่างเป็นระบบ สามารถพัฒนาผลผลิตและบรรจุภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม จนเป็นที่ยอมรับปัจจุบันจำหน่ายในร้านค้ามูลนิธิชัยพัฒนา 1 สาขา และร้านโกลเด้นเพลส 15 สาขา ทำให้สมาชิกมีรายได้มั่นคงต่อเนื่อง ลดภาระหนี้สิน ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเอง เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้

งาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2565” จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสรุปแนวทางการทำงานและการพัฒนาร่วมกันระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ในการขยายผลสำเร็จการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริต่อไป

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วันนี้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เอกชน และ ชุมชน ได้ร่วมกันดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดความสำเร็จแล้ว เราจะทำงานแบบ 3 ประสาน ระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อขยายความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปได้อย่างคล่องตัว สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เกิดระบบการทำงานร่วมกัน ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกัน “เทิด ด้วย ทำ” คือทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สานต่อพระราชปณิธานที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ให้สัมฤทธิผลตามพระราชประสงค์ จึงเป็นการเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างแท้จริง
โครงการ “เทิด ด้วย ทำ” ภาคใต้ 2562
เมื่อวันจันทร์ ที่ 5 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดงาน “เทิด ด้วย ทำ” ภาคใต้ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายประวีณ จุลภักดี ประทานมูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, ผู้แทนสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพรและตรัง, ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลา, ชุมชนทุ่งสง, คณะครู อาจารย์, เยาวชนจากโรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม จังหวัดพัทลุง, โรงเรียนคีรีราษฎร์พัฒนา, โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองทุ่งสง (วัดท่าแพ), โรงเรียนสิชลประชาสรรค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
“เทิด ด้วย ทำ”
ภาคใต้ ถือเป็นโครงการต้นแบบ จัดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ รวมถึงแนวทางในการทำงานเพื่อไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองแล้วขยายผลให้กับชุมชนใกล้เคียงต่อไป