โครงการ “ร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยแล้ง” จ.แพร่

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา นางรอยบุญ รัศมีเทศ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปภัมถ์ คุณอาสา สารสิน ประธานมูลนิธิบัวหลวง คุณวีนัส อัศวสิทธิถาวร เลขานุการคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน SCG และคณะจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เยี่ยมชุมชนบ้านปากห้วยอ้อย ที่รอดจากภัยแล้งจังหวัดแพร่

พื้นที่ต้นแบบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการ “ร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยแล้ง” ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิบัวหลวง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ SCG โดยมีมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน เพื่อให้ชุมชนสามารถลุกขึ้นแก้ปัญหาภัยแล้งได้ด้วยตนเอง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำของชุมชน จนสามารถรอดพ้นภัยแล้งในปี 2563

กิจกรรมฟื้นฟูลำห้วยแม่ปุ๊ และปรับปรุงระบบน้ำดื่มสะอาด ณ โรงเรียนบ้านป่าเลา ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมฟื้นฟูลำห้วยแม่ปุ๊ และปรับปรุงระบบน้ำดื่มสะอาด ณ โรงเรียนบ้านป่าเลา ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงความร่วมมืองานพัฒนาและขยายผลเครือข่ายการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ อย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน พร้อมด้วย นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการ “กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) นายอนุศิษฏ์ ไทยรวีวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายสมมิตร เสาวะระ ประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าเลา มีอาสาสมัครจากกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ผู้แทนส่วนราชการจังหวัดแพร่ อาสาสมัครจากชุมชนป่าเลาและพื้นที่ใกล้เคียง เยาวชนในชุมชนเครือข่ายฯ และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ สื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนกว่า 300 คน

กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ได้สมทบทุนจากการจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ ในปี 2555 เพื่อใช้เป็นกองทุนฉุกเฉินสำหรับดำเนินกิจกรรมให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวไทยที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในด้านต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและยาว เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว ภัยหนาวและภัยแล้ง นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงาน เพื่อป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้เป็นระบบและพร้อมที่จะพัฒนาแหล่งน้ำให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

สำหรับกิจกรรมในวันที่ 28 กันยายน 2562 ประกอบด้วย
1. “ปรับปรุงลำเหมืองส่งน้ำบริเวณหน้าโรงเรียน” โดยก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อยกระดับน้ำบริเวณลำเหมืองหน้าโรงเรียน ปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่งลำเหมือง
2. “ซ่อมแซมฝสยชะลอและกักเก็บน้ำในลำห้วยแม่ปุ๊” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บสำรองน้ำใช้ในฤดูแล้ง ลดความรุนแรงในฤดูน้ำหลาก
3. “ปรับปรุงโรงน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียนบ้านป่าเลา” โดยการเทพื้นคอนกรีต เปลี่ยนชุดอุปกรณ์และสารกรองน้ำ ทาสีรอบอาคารน้ำดื่ม

การทำกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของชุมชนบ้านป่าเลาหมู่ 3 และป่าเลาเหนือ หมู่ 10 มีผู้ได้รับประโยชน์ 410 ครัวเรือน 1,015 คน พื้นที่การเกษตร 200 ไร่ ยังช่วยลดการซื้อน้ำบรรจุขวดจากชุมชนภายนอกเฉลี่ย 720,000 บาทต่อปี และยังช่วยลดค่าอาหารกลางวันเด็กเฉลี่ย 16,800 บาทต่อปี