โครงการ “เทิด ด้วย ทำ” ภาคใต้ 2562
เมื่อวันจันทร์ ที่ 5 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดงาน “เทิด ด้วย ทำ” ภาคใต้ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายประวีณ จุลภักดี ประทานมูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, ผู้แทนสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพรและตรัง, ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลา, ชุมชนทุ่งสง, คณะครู อาจารย์, เยาวชนจากโรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม จังหวัดพัทลุง, โรงเรียนคีรีราษฎร์พัฒนา, โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองทุ่งสง (วัดท่าแพ), โรงเรียนสิชลประชาสรรค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
“เทิด ด้วย ทำ”
ภาคใต้ ถือเป็นโครงการต้นแบบ จัดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ รวมถึงแนวทางในการทำงานเพื่อไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองแล้วขยายผลให้กับชุมชนใกล้เคียงต่อไป
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมื่อ วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ทั้งยังร่วมกันบริหารจัดการป่า เกิดเป็นเครือข่ายเตือนภัยพิบัติจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ รวม 653 ตารางกิโลเมตร มีเครือข่ายวิทยุภาคประชาชน 25 สถานีแม่ข่าย ลูกข่าย 300 เครื่อง และเป็นเครือข่ายชุมชนเตือนภัยพิบัติ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้สูงอายุ เพื่อสืบสานการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ส่งผลให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้จากพื้นที่จริง และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยแบ่งจุดศึกษาดูงานสำคัญในพื้นที่ออกเป็น 4 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 จากผืนป่า…สู่ “หยดน้ำ” ได้ดื่มกิน ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ตามแนวพระราชดำริ สร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่กว่า 700 ฝาย ครอบคลุมเส้นทางน้ำใน 27 ลำห้วยสาขา สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าและเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า เกิดความมั่นคงน้ำ 10 ชุมชน 3 ตำบล 2 อำเภอ ลดค่าใช้จ่ายการซื้อน้ำจากภายนอก 3.66 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันเครือข่ายฯ นำน้ำจากต้นน้ำและคลองยันมาผ่านระบบกรองน้ำเพื่อบริโภค 4 ชุมชน จำหน่ายให้ชุมชน 5 บาท ต่อ 18 ลิตร มีคณะกรรมการระบบน้ำดื่มชุมชนดูแลและบริหารจัดการรายได้ นำไปเป็นกองทุนดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า บำรุงรักษาระบบกรองน้ำดื่ม และมีเงินเข้ากองทุนสำรองร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ
จุดที่ 2 เขตอภัยทาน สร้างด้วยมือ ดูแลด้วยใจ เครือข่ายฯ ร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า รวมทั้งฟื้นฟูคลองยันที่เป็นสายน้ำหลัก แก้ปัญหาตลิ่งพังด้วยการปลูกพืชท้องถิ่นยึดตลิ่ง เช่น ต้นไคร้น้ำ ต้นมะเดื่อ เป็นต้น กำหนดเขตอภัยทาน หรือ วังปลา ระยะทาง 300 เมตร เกิดการอนุรักษ์สัตว์น้ำ และสร้างความเข้าใจให้ชุมชนใช้เครื่องมือจับปลาที่ถูกวิธีและจับปลาแต่พอกินในครอบครัว ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ยังทำให้ปริมาณพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นกว่า 60 ชนิด
จุดที่ 3 เครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัยพิบัติ สู่การป้องกันและพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2551 พื้นที่ลุ่มน้ำคลองยัน เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ เกิดความเสียหายตลอดลุ่มน้ำ เครือข่ายจึงได้ตระหนักถึงความรุนแรงและพัฒนาเครือข่ายภายใต้ชื่อ “กลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำคลองยัน” มีภารกิจดำเนินงานส่งเสริมกองทุนสวัสดิการแกนนำและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปฏิบัติงานต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองยัน ครอบคลุมอำเภอวิภาวดีและอำเภอคีรีรัฐนิคม 4 ตำบล 46 หมู่บ้าน ผลจากการแจ้งเตือนภัยภายในเครือข่ายชุมชน ทำให้ลดความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินของทุกครัวเรือนตลอดสายน้ำคลองยัน และเมื่อเกิดภัย ทางเครือข่ายมีกองทุนข้าวสาร ทำให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองก่อนที่จะมีหน่วยงานภาครัฐเข้าช่วยเหลือ 1 สัปดาห์
จุดที่ 4 เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ “สวนพ่อเฒ่า เก้าเรือนยอด” ชุมชนปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จากการทำสวนยางเป็น “ป่ายาง” จากการทำสวนปาล์มน้ำมันเป็น “ป่าปาล์ม” ทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ปลูกผักและพืชเศรษฐกิจ โดยทำในรูปแบบของชุมชนในสมัยก่อน ทำสวนปลูกพืชผสมผสานหลากหลายชนิด มีไม้ยืนต้นทั่วทั้งแปลง (สวนสมรม) แบ่งเป็น 9 เรือนยอด จึงเรียกกันว่า “สวนพ่อเฒ่า เก้าเรือนยอด” ปัจจุบันเครือข่ายชุมชน 4 ตำบล 2 อำเภอ ทำเกษตรรูปแบบนี้รวม 6,599 ครัวเรือน ช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากเดิม 30,000 บาทเป็น 75,000 บาทต่อปี และลดรายจ่าย 36,500 บาทต่อปี โดยช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน รวม 240 ล้านบาทต่อปี ใน 4 ตำบล 2 อำเภอ เพิ่มรายได้ในครัวเรือน รวม 55.6 ล้านบาทต่อปี ใน 4 ตำบล 2 อำเภอ
สำหรับ “เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน” นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่พลิกวิกฤตภัยพิบัติสู่การพัฒนาที่มั่นคงให้ชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ จากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 21 และเป็นต้นแบบโครงการ “เทิด ด้วย ทำ” ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป