ประชุมสามัญประจำปี 2565

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2565 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2565 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ห้องประชุม สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา อาคารโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ โอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานเข็มที่ระลึกของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จากนั้น ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2565 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทอดพระเนตรวีดิทัศน์และทรงฟังการบรรยายผลสรุปการดำเนินงานของมูลนิธิด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถขยายผลได้ 1,816 หมู่บ้าน เครือข่ายเยาวชน 364 กลุ่ม เกิดตัวอย่างเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ 1,471 ครัวเรือน มีการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในพื้นที่ป่า 1,360,000 ไร่ เพิ่มผลผลิตในฤดูแล้งคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3,800 ล้านบาท ช่วยรัฐประหยัดเงินค่าชดเชยกว่า 7,500 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินงานในปี 2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ร่วมกับชุมชนสร้างตัวอย่างเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน พัฒนาพื้นที่การเกษตร เพิ่มปริมาณน้ำสำรองของประเทศ และร่วมกับภาคเอกชนแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ฝนตกเหนือเขื่อนน้อยลง รวมถึงการเกิดพายุส่งผลให้เกิดน้ำหลากฉับพลัน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เครือข่ายการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เพราะมีการปรับใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสาร ทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย รวมทั้งขยายผลสู่เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อติดตาม เตรียมการและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ทั้งภาวะปกติและภาวะวิกฤตร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ปัจจุบันมีเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 19 ชุมชน ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งทุกพื้นที่มีความพร้อมบริหารจัดการภัยพิบัติ เฝ้าระวัง ป้องกัน และฟื้นฟู โดยประสานการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน

ผลการดำเนินงาน 9 ปีที่ผ่านมา เกิดระบบขยายผลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ – ภาคเอกชน – ท้องถิ่น – ท้องที่ – สถาบันการศึกษา – เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชน ปัจจุบัน ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 21 แห่ง ภาคเอกชน 11 แห่ง สถาบันการศึกษา 10 แห่ง หน่วยงานท้องถิ่น 425 แห่ง เพื่อร่วมกันทำงานขยายผลตัวอย่างความสำเร็จ ให้เกิดความมั่นคงด้านทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และพลังงาน สู่ความยั่งยืนตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร