บทบาทและหน้าที่

พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล นำคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554
ณ ห้องประชุมสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

การดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้น้อมนำพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ความว่า “การจัดการน้ำชุมชนนั้น เห็นความสำเร็จในบางชุมชนแล้ว ให้ชุมชนชาวบ้าน ที่มีความรู้ ประสบความสำเร็จ มีประสบการณ์จัดการและพัฒนาน้ำในพื้นที่ มาช่วยขยายผลไปยังชุมชนอื่น” รวมทั้งน้อมนำหลักการทรงงาน และแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางดำเนินงาน ประกอบกับในข้อบังคับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ หมวดที่ 1 ข้อ 2 ความหมายโดยรวมของเครื่องหมายของมูลนิธิฯ ระบุว่า “น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต” จำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันในการบริหารและพัฒนา ซึ่งหากจะทำได้ก็ต้องมีข้อมูล ความรู้ และความเข้าใจเรื่องน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ ทั้งความสำเร็จ ความรู้ เทคนิค ที่ได้ทรงศึกษา ค้นคว้า พัฒนา และทดลอง เรื่องน้ำมาโดยตลอดนับตั้งแต่ทรงครองสิริราชสมบัติ และทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จำเป็นต้องนำมาบันทึก รวบรวม และเผยแพร่ให้ประชาชนใช้เป็นหลักในการแก้ไข พัฒนา บริหารน้ำของท้องถิ่นและของประเทศต่อไป

มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ดำเนินงานบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และประชาชน โดยมีแผนดำเนินงาน 3 ด้าน ดังนี้

พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล
  • 1.บริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง
    เพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเอง เรียนรู้และสามารถบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ได้ด้วยตนเอง
  • 2.บริหารทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และเศรษฐกิจชุมชน
    เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และดำเนินงานตามแนวทฤษฎีใหม่ มีปฏิทินการเพาะปลูกสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ร่วมคิด ร่วมผลิต ร่วมขาย มีรายได้และผลผลิตต่อเนื่องตลอดปี
  • 3.เครือข่ายขยายผลสู่ความยั่งยืน
    ชุมชนเป็นต้นแบบขยายผลตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เกิดการขยายผลต่อเนื่อง มีศักยภาพสู่ความยั่งยืน